เป็นคนทำงาน 'ประชาสังคม' แต่ก็เปราะบางทางสุขภาพได้เช่นกัน

เป็นคนทำงาน 'ประชาสังคม' แต่ก็เปราะบางทางสุขภาพได้เช่นกัน

"ประชาสังคม" ทำงานเพื่อส่วนรวมทุ่มเททั้งกายใจ แต่กลับละเลยสุขภาพตนเอง เพื่อสร้างการเรียนรู้ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ จึงมีการจัดอบรม Happy Workplace ผ่านแนวคิด "ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม" ช่วยด้านสุขภาพให้กับคนทำงานให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีขึ้น

กลุ่มคนภาคประชาสังคม ถือเป็นอีกกลุ่มคนทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความทุ่มเททั้งกายใจ แต่คนที่มีบทบาทลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมกลับกำลังเผชิญความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยไม่รู้ตัว

เรื่องท้าทายของประชาสังคม

บ่อยครั้งที่หากเอ่ยถึง "ภาคประชาสังคม" มุมมองของคนส่วนใหญ่มักมีภาพจำว่าคนภาคประชาสังคมหมายถึงกลุ่มคนที่ทำงานด้าน "เอ็นจีโอ" (NGO) เท่านั้น คำตอบนี้ถูกเพียงส่วนเดียว แต่หากจะให้คำจำกัดความของ "ภาคประชาสังคม" หรือ Civil Society Organization (CSO) มีนิยามที่กว้างไกลกว่านั้น เพราะยังหมายรวมถึง บุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่มีบทบาท รวมถึงมีภารกิจในการ "พัฒนา"  หรือ "ผลักดัน" ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

การทำงานของคนประชาสังคม ไม่เพียงต้องเผชิญกับสถานการณ์และปัญหาที่ซับซ้อนในประเด็นการทำงานที่หลากหลาย ทั้งอุปสรรค เงื่อนไข ข้อจำกัดด้านต่างๆ ที่ต้องฟันฝ่า ส่วนมืออีกข้างหนึ่งอาจยังต้องแบกรับภาระในการหาแหล่งทุน หรืองบประมาณต่างๆ เพื่อมาดำเนินการเพื่อความอยู่รอดขององค์กร และเพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุสู่เป้าหมายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคม แต่หากถามว่าความสุขคนทำงานคืออะไร เชื่อว่าคนทำงานภาคประชาสังคมเองก็คงมีความปรารถนาไม่ต่างกับคนทำงานกลุ่มอื่นๆ 

เป็นคนทำงาน \'ประชาสังคม\' แต่ก็เปราะบางทางสุขภาพได้เช่นกัน

เพราะระหว่างที่ขับเคลื่อนผลักดันงานส่วนรวมออกไปอย่างเต็มกำลังสูบ หวังร่วมแก้ไขปัญหาในสังคมนั้น บางครั้ง คนภาคประชาสังคม เองกลับละเลยที่จะหันกลับมามองสำรวจสุขภาพกายและใจตัวเอง หรือการลองถามกับตัวเองดูว่า "วันนี้ฉันยังมีสุขภาวะดีอยู่หรือเปล่า?"

หนี้ - NCDs - ความเครียด - ติดเหล้า รุมเร้าคนทำงานสังคม

ข้อมูลจากการสำรวจคนประชาสังคม พบว่า กำลังเผชิญความท้าทายเรื่องสุขภาวะ โดยยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ใส่ใจสุขภาพตนเองนัก ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม การดูแลสุขภาพ ความเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้คนทำงานในกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs

ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนงานสุขภาวะองค์กรกลุ่มภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท) หรือ TEI  จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กรกลุ่มภาคประชาสังคม พร้อมประกาศเจตนารมณ์ สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีเพื่อคนทำงานภาคประชาสังคม

ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ประชาสังคมเป็นพลังพลเมืองที่มีคุณค่า ทั้งมีส่วนร่วมและบทบาทการเป็นหุ้นส่วนในการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนสังคม สร้างความเป็นธรรม และการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

เป็นคนทำงาน \'ประชาสังคม\' แต่ก็เปราะบางทางสุขภาพได้เช่นกัน

จตุพร โรจนพานิช รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า องค์กรภาคประชาสังคมถือเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีบทบาทเป็นพระเอกสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานด้านพัฒนาสังคม เพราะ พม. ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง หากต้องพึ่งพิงเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วนเป็นพลังสำคัญ

ดังนั้น ในการหนุนเสริมศักยภาพ ภาคประชาสังคม พม. จึงได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 มีเป้าหมายสำคัญ คือการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขภาวะของประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคม

สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการร่วมกันสร้างกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะ กลุ่มภาคประชาสังคม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานให้มีสุขภาวะตามแนวคิด Happy 8 และ Happy Workplace ของ สสส. รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง เกิดกลไกการขับเคลื่อนงานองค์กรสุขภาวะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เป็นคนทำงาน \'ประชาสังคม\' แต่ก็เปราะบางทางสุขภาพได้เช่นกัน

เดินหน้าสร้างสุขลดความเหลื่อมล้ำ

อีกหนึ่งภาคีที่ร่วมขบวนในการยกระดับสุขภาวะให้กับพี่น้องคนทำงานภาคประชาสังคม นั่นคือ สสส. โดย ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ด้วยความที่ภาคประชาสังคมเป็นเพื่อนที่ร่วมขับเคลื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่มาโดยตลอด ในบทบาทภาคีของสสส. ทำให้สสส. เห็นประเด็นปัญหาสุขภาวะในกลุ่มคนประชาสังคม

"ภาคประชาสังคมคือ กลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็นหุ้นส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพัฒนาสังคม คือกลุ่ม Active Citizen มีความสนใจหลากหลาย ซึ่งเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อสถานการณ์รอบด้าน ซึ่งถ้าเขาแข็งแรงพอ เราหมายถึงทั้งมิติโครงสร้าง และชีวิตส่วนตัวเขา นั่นคือการมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจ ก็จะสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ในทิศทางที่ดีขึ้นได้" ภรณี กล่าว

สสส. เชื่อว่า ถ้าภาคการเมือง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งสามฝ่ายต่างแข็งแรง และจับมือกันได้ก็คิดว่าจะพาประเทศไปสู่จุดที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมีพลัง แต่ที่ผ่านมานั้นกับพบว่าสถานการณ์สุขภาพคนกลุ่มนี้พีคกว่าคนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่อง NCDs และเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมองว่าเขาอาจลืมตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง ซึ่งอย่างน้อยโครงการนี้ก็เป็นการกระตุกเตือนกัน

สำหรับการขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กร "กลุ่มภาคประชาสังคม" สสส. ได้ร่วมกับพส. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของคนทำงานในภาคประชาสังคม การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพ เชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กร ปั้นให้เกิดนักสร้างสุของค์กรผู้นำสุขภาพ 250 คน มุ่งเป้านำร่องในองค์กรภาคประชาสังคม 50 แห่งทั่วประเทศ พร้อมขยายผลให้เกิดเป็นโมเดลต้นแบบองค์กรสุขภาวะภาคประชาสังคมนำร่อง 5 แห่ง ภายในปี 2569 เป็นโมเดลองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะที่พัฒนาให้คนวัยทำงานมีคุณภาพชีวิตที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทาง กลุ่มภาคประชาสังคม จะร่วมเรียนรู้ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาวะองค์กร ผ่านแนวคิด "ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม" ด้านสุขภาพให้กับคนทำงานให้เกิดผลลัพธ์ทางสุขภาวะที่ดีขึ้น

สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากทำประโยชน์เพื่อสาธารณะแล้ว กลุ่มภาคประชาสังคมเองก็ต้องหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ซึ่งสสส. ได้มีเครื่องมือ และวิธีการดูแลที่จะเข้าไปดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้ในมิติต่างๆ เพื่อลดการเจ็บป่วยเรื้อรังต่างๆ เช่น NCDs ภาวะเครียด การนั่งเฉยมีภาวะเนือยนิ่งเนื่องจากนั่งทำงานเป็นเวลานาน สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาวะ เช่นการเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวัน การดูแลอาหารโภชนาการ และกิจกรรมระหว่างวัน

ภรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มภาคประชาสังคมเป็นอีกกลุ่มที่มีความน่าสนใจ และมีความสำคัญพอที่จะออกแบบเครื่องมือเจาะจงสำหรับคนกลุ่มนี้ ความจริงสสส. ทำกับทุกกลุ่ม แต่ตนมองว่าการออกแบบเครื่องมือที่เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่มอย่างไร ซึ่งในภาคประชาสังคมตนคาดว่าอาจต้องมีอีกรูปแบบหนึ่งเฉพาะ เนื่องจากคนภาคประชาสังคมมีความน่าเป็นห่วงกว่าคนทำงานโดยทั่วไปในบางประเด็น ซึ่งตนต้องวิเคราะห์ว่าเครื่องมือแบบไหนถึงจะเหมาะสม เช่น เขาอาจมีความเครียด มีความกดดัน ที่มาจากภาวะที่ต้องรับปัญหาจากโครงสร้างสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง อาจทำให้เขาต้องแบกรับส่วนนี้อาจจำเป็นต้องมีเครื่องมือต้องฟื้นฟูจากข้างใน

เป็นคนทำงาน \'ประชาสังคม\' แต่ก็เปราะบางทางสุขภาพได้เช่นกัน

ส่งต่อแนวคิดสร้างสุขเริ่มที่ตัวเอง

เสียงสะท้อนของตัวแทนภาคประชาสังคม ดร. วิรัตน์ ฉัตรวิโรจน์ นายกสมาคมโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเพชรบูรณ์ ยอมรับว่า แม้จะเป็นคนทำงานขับเคลื่อนเพื่อสังคม แต่ก็ละเลยไม่ได้สนใจเรื่องการดูแลสุขภาพมากนัก เมื่อก่อนตนทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ได้มองเรื่องสุขภาพสำคัญอะไรมากมาย แต่พอมาทำเรื่องโรงเรียนผู้สูงอายุ สิ่งแรกที่มองเห็นว่าน่าจะทำคือสุขภาพคนทำงานต้องมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นวิทยากร ครูอาจารย์ หรือนักเรียน แล้วค่อยขยายไปข้างนอก

แนวคิดดังกล่าว นำมาสู่โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม ดร. วิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้มีโอกาสคลุกคลีทำกิจกรรมต่างๆ กับโรงเรียนผู้สูงอายุ เครือข่ายมากมาย ทั้งในอำเภอหล่มสัก 20 กว่าแห่ง และในระดับจังหวัดเพชรบูรณ์ 80 กว่าแห่ง สิ่งที่พบคือการพัฒนาเรื่องใดก็ตามควรต้องเริ่มจากการพัฒนาคนก่อน นำมาสู่หลักคิดต.ก.อ. นั่นคือการเริ่มต้นที่ตัวเอง ส่งต่อไปให้คนใกล้ชิด และขยายไปสู่คนอื่นในลำดับต่อมา

"โจทย์คือ ทำอย่างไรที่ตัวครูบาอาจารย์ บุคลากร จะมีความสุข เพราะพอมีความสุขแล้วเราจะยื่นความสุขให้กับคนอื่นได้ ถ้าเราเองไม่สุขไม่แข็งแรงก็ไปบอกให้คนอื่นแข็งแรงไม่ได้ ต้องเริ่มต้นจากตัวเรา หลังจากไปอบรม Happy Workplace ที่ขอนแก่น ตนพยายามนำสิ่งที่ได้อบรมมาส่งต่อแนวความคิดให้กับครูบาอาจารย์ ซึ่งมีหลายคนสนใจ แต่สิ่งที่พยายามบอกเขาคืออย่าให้เป็นวิชาการมากเกินไป การนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบท" ดร. วิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

เป็นคนทำงาน \'ประชาสังคม\' แต่ก็เปราะบางทางสุขภาพได้เช่นกัน

เป็นคนทำงาน \'ประชาสังคม\' แต่ก็เปราะบางทางสุขภาพได้เช่นกัน