'กรมส่งเสริมการเกษตร' ยกโมเดล ตรวจก่อนตัด คัดก่อนส่งออก 'ทุเรียนใต้'
"กรมส่งเสริมการเกษตร" ยกโมเดล ตรวจก่อนตัด คัดก่อนส่งออก "ทุเรียนใต้" พร้อมแนะวิธีจัดการสวนไม้ผลหลังเก็บเกี่ยว
การจัดการผลไม้ภาคตะวันออกอย่างมืออาชีพ เป็นโมเดลสำคัญที่ "กรมส่งเสริมการเกษตร" พร้อมส่งต่อสู่เกษตรกรภาคใต้ที่มีผลผลิตทุเรียน มังคุด และเงาะ โดยเฉพาะ ทุเรียน ที่ต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานเพื่อสร้างมูลค่าและผลักดันการส่งออก
นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า กว่า 90% ของสวนผลไม้ตะวันออกจะได้รับการรับรองการทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) เพราะผลผลิตส่วนใหญ่เพื่อส่งออกทำให้เกษตรกรใส่ใจการจัดการสวน ทำให้ผลผลิตได้มาตรฐานและจำหน่ายราคาสูง ซึ่งปีนี้เฉลี่ยราคาส่งออกกิโลกรัมละ 150 บาท
สำหรับปัญหาชาวสวนปีนี้มีอุปสรรคคล้ายกันคือ ความร้อนที่ทำให้ผลไม้ทั่วประเทศติดดอกออกผลไม่ตรงฤดูกาล น้ำหนักต่อผลลดลง 50% ซึ่งการส่งออกทุเรียนตะวันออกปีนี้มีปริมาณลดลง และล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 4 แสนกว่าตัน จากผลผลิตรวม 6 แสนตัน น้อยกว่าปีแล้ว 14%
"ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน มีลมหนาวพัดมาช่วงปลายเดือน ธ.ค. 67 (วันที่ 22-24 ธ.ค.2566) ทำให้ผลผลิตออกล่าช้าประมาณ 1 เดือน จากที่ควรติดดอกตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 ประกอบกับอากาศร้อน แล้ง อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำไม่เพียงพอช่วง ม.ค.-เม.ย. 2567 มีฝนน้อยมาก ทำให้ปากใบทุเรียนปิด การสังเคราะห์แสงไม่ดี ส่งผลให้เนื้อทุเรียนมีสีเหลืองเหมือนจะแก่แต่เปอร์เซ็นต์แป้งยังไม่ผ่าน ซึ่งเกษตรกรอาจเข้าใจผิดตัดทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งตัวอย่างการนับวันดอกบานจนถึงวันเก็บเกี่ยวในทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ต้องสังเกตตั้งแต่วันดอกบานจนถึงวันตัดรวม 120 วัน จะเป็นระยะเหมาะสม"
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร สร้างกลไกการสนับสนุนมาตรการควบคุมและป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน โดยให้เกษตรกร ผู้รับจ้างตัดทุเรียนและล้ง ปรับพฤติกรรมการซื้อขายทุเรียนด้วยการตรวจเปอร์เซ็นต์ น้ำหนักแห้งในตัวอย่างทุเรียนที่เป็นตัวแทนแต่ละรุ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3 วัน พร้อมออกใบรับรองผลการตรวจ ขณะที่ผู้ประกอบการ (ล้ง) โรงรวบรวมและคัดบรรจุต้องขอดูเอกสารรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนทุกครั้ง เช่นเดียวกับแผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่งด้วย เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพที่มาตรวจแผงรับซื้อ
"การคุมเข้มมาตรการตรวจก่อนตัดทำให้ตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพลดลงจากเดิม 4% เหลือเพียง 2% ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะนำโมเดลการบริหารจัดการไม้ผลภาคตะวันออกส่งต่อภาคใต้ การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมเข้มการใช้มาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคต่อไป"
สำหรับทุเรียนภาคใต้ นอกจากจะได้รับผลกระทบจากความร้อนและแล้งแล้ว ลักษณะภูมิศาสตร์ที่มีฝนชื้นทำให้มีปัญหาการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรให้ชาวสวนเปิดไฟล่อแมลง เพื่อกำจัดตัวเต็มวัยของผีเสื้อหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และใช้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) และการเข้มงวดการตรวจก่อนตัดจะช่วยลดปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ภาคใต้ได้ ในขณะที่เกษตรกรต้องบริหารจัดการแปลงเพื่อให้ง่ายต่อการรับรอง GAP เพื่อผลักดันการส่งออก
นอกจากนี้ หลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องมีการฟื้นฟูต้น กระตุ้นราก กระชากใบ เตรียมความพร้อมเพื่อการผลิตปีต่อไป โดยควรแต่งกิ่ง แต่งพุ่ม ปรับขุดร่องระบายน้ำ ปรับความลาดชัน ไม่ปล่อยให้น้ำท่วมขังแปลง เพราะจะเป็นสาเหตุของโรคโคนเน่า ซึ่งชาวสวนต้องติดตามข่าวสาร การพยากรณ์อากาศเพื่อวางแผนการจัดการสวนตามความเหมาะสมของพื้นที่ต่อไป
สำหรับโรคที่ควรเฝ้าระวังในทุเรียนในช่วงฤดูฝนคือ โรครากเน่าโคนเน่า โดยถ้าเกษตรกร มีการระบายน้ำในสวนไม่ดีจะพบเชื้อราทำลายต้นทุเรียนได้ทางราก ลำต้นบริเวณคอดินอาจส่งผลให้ทุเรียนยืนต้นตายได้ ขณะที่โรคราใบติดทุเรียน ป้องกันได้โดยตัดแต่งทรงพุ่ม ให้โปร่งแสงแดดส่องถึงได้ เพราะโรคราสีชมพู พบมากในทุเรียนที่มีใบหนาแน่นทรงพุ่มทึบ ป้องกันได้โดยตัดแต่งกิ่งให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เป็นต้น
"การดูแลจัดการสวนของผลไม้ตะวันออกดีขึ้น เกษตรกรเปิดใจ ศึกษานวัตกรรม ลงทุนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เรียนรู้การจัดความชื้น ความเป็นกรดด่างของดิน รวมกลุ่มเพื่อผลปุ๋ยใช้เอง เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิต แต่ยังมีต้นทุนด้านแรงงาน น้ำ และปุ๋ยแพง" นางอุบล กล่าวทิ้งท้าย