"ESG" หัวใจแก้ปัญหาโลกร้อน เศรษฐกิจโต ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

"ESG" หัวใจแก้ปัญหาโลกร้อน เศรษฐกิจโต ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

ปัญหา "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ส่งผลให้ทั่วโลกหันมาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยได้ตั้งเป้า "Net zero" ในปี 2065 การร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการลงทุนที่เน้น ESG จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน

เมื่อเร็วๆนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ : ESG : Powering the Climate Resilient Economy and Path to Net Zeroในงาน ESG Declaration ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จัดโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่ารัฐบาล ได้ไปทำข้อตกลงในที่ประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศที่จะให้ไทยมี ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

 

การที่ไทยตั้งเป้าคาร์บอนเป็นกลาง และ Net Zero ของก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้สั้นลงนั้น จะทำให้อุณหภูมิของโลก ไม่สูงขึ้นถึง 1.5-1.6 องศาเซลเซียล ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ซึ่งในการปรับปรุงแผนระยะยาว จะมีการปรับเป้าหมายการจะก้าวสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางใน ปี 2030 และก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2035 ก็ตั้งเป้าที่ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 % จากเดิมที่มีเป้าหมายลด 30% ซึ่งการลดอีก 10 % ที่เป็นการลดเพิ่มนี้ต้องมาจากการช่วยเหลือนานาประเทศ ทั้งเงิน เทคโนโลยีและความรู้

 

ในปี 2025 คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ เกือบ 370 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต้องลดลงมาให้เหลือ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2037 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย จะเริ่มในด้านพลังงานและขนส่ง ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด รองลงมาการจัดการของเสีย และภาคการเกษตร ซึ่งการทำนาปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก๊าซมีเทนมหาศาล

นายวราวุธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ อย่างในไทย ช่วงเช้าที่ผ่านมาหลายคนจะเห็นฟ้ามืดมากและฝนตกลงมา ขณะที่ฝนตกถล่มหนักน้ำท่วมกรุงโซลรุนแรงในรอบหลายสิบปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก หรือ ปล่อยออกมา 0.8 % แต่ประเทศไทยกลับเป็นประเทศอันดับที่ 9 ที่จะได้รับผลกระทบมากสุด

 

รมว.ทส. กล่าวต่อว่า ข้อมูลจาก World Economic Forum Global Risks Perception Survey2021-2022 ระบุว่า ความล้มเหลวในการจัดการแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นความเสี่ยงอันดับ 1 และความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี เป็นความเสี่ยงอันดับ 2 ซึ่งในทุกปีจะมีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่มาตรการทางภาษี (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAM ครอบคลุมสินค้าอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้า อลูมิเนียม ปุ๋ย พลังงาน และซีเมนต์ ซึ่ง CBAM จะเริ่มทดลองใช้ในปี 2566 และจะบังคับใช้ในปี 2567

 

นอกจากนั้น ถ้าหากในอนาคต กลุ่มประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา หรือ แคนาดา มีการทดลองใช้อยู่ และกำลังพิจารณาซึ่งมีแนวโน้มจะขยายไปที่ตัวที่ 6 คือสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์ หรือ ขยายอียูอาจขยายกลุ่มสินค้าไปมากกว่านี้ ไปถึงพวกกลุ่มเครื่องดื่มหรือสินค้าเกษตร แล้วภาคเกษตรของไทยจะปรับตัวอย่างไร มาตรการภาษีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

ESG เศรษฐกิจโตไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

 

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่าการที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกๆ กลุ่มต้องเข้ามาร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้รัฐบาลประกาศ BCG Model ประกอบด้วย Bioeconomy Circular Economy และ Green Economy ซึ่งจะมีเรื่องทรัพยากร ความยั่งยืน ที่จะสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนการเน้นในเรื่อง ESG (สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) รวมถึง Responsible Investment เป็นหัวใจสำคัญในการหมุนไปข้างหน้า ทำให้เกิดความยั่งยืน

 

“การลงทุนต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบ การจัดการด้านสังคม และการจัดการด้านธรรมาภิบาล ที่ไม่ใช่เพียงกำไรอย่างเดียว ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตขึ้นโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ESG จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้” นายวราวุธ กล่าว

 

แนวทาง 6 ด้าน ลดก๊าซเรือนกระจก

 

สำหรับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญนั้น ในส่วนของภาคพลังงานและขนส่ง จะต้องมีการเพิ่มใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่การใช้ปูน ต้องมีมาตรการทดแทนปูนเม็ด การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น Carbon Capture, Utilization, and Storage (CCUS) ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ 

 

ส่วนภาคการจัดการของเสีย ต้องมีการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน รวมถึงน้ำเสียในอุดตสาหกรรม Waste to Energy ภาคเกษตร ต้องปรับปรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยมีเทน และผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ และป่าไม้ ต้องมีการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท การป้องกันการบุกรุกและการทำราย ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดลงเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 มีมูลค่าคาร์บอนประมาณ 325,450 ล้านบาท

 

การดำเนินการ 6 ด้านของไทย ได้แก่

1.ด้านนโยบาย โดยทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องมีแผน มียุทธศาสตร์และบูรณาการทำงานเข้าด้วยกัน

2.ด้านเทคโนโลยี มีแนวคิด ATR เทคโนโลยีเพื่อเกษตรกรไทย และ Thai Rice NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) ทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและการดักจับ Carbon Capture and Storage Technology เป็นต้น

3. ด้านการเงินและการลงทุน โดยนักลงทุน 80 % ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยึดหลัก ESG มากขึ้น

4.ด้านกลไกลตลาดคาร์บอนเครดิต

5.ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและ 6.ด้านกฎหมาย

 

“ยืนยันว่าไทยไม่ได้ดีแต่พูด ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการดำเนินการขับเคลื่อนในหลายๆ เรื่อง เช่น ได้ไปข้อตกลงในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต กับสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นคู่แรกของโลก รวมถึงในส่วนของภาคเอกชน และสมาคมธนาคารไทย เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันธุรกิจ และประชาชนให้ก้าวสู่สถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนและปรับตัวได้ ซึ่งผมเชื่อว่าเราทำได้ การที่คนไทยมาทำงานด้วยกัน ทำให้เชื่อมั่นศักยภาพของคนไทย และเมื่อรวมตัวทุกอย่างสามารถทำให้เป็นจริงได้ เพราะไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ และการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้เป็นทางเลือกแต่เป็นทางรอด” รมว.ทส. กล่าว