มูลนิธิใบไม้ปันสุข ปั้นเยาวชนคุณภาพ “ความยั่งยืน” บนรากฐาน “การศึกษา”
หนึ่งในกุญแจสำคัญ สู่ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" คือ การสร้างรากฐาน "การศึกษา" ให้กับเยาวชน เป็นที่มาของ มูลนิธิใบไม้ปันสุข ที่เดินหน้าด้านการศึกษา และสิ่งแวดล้อม ตลอด 5 ปี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน
“ความยั่งยืน” ที่เราได้ยินกันในทุกวันนี้ แม้จะมองว่าเป็นการสร้างอนาคตให้กับคนรุ่นหลัง เพื่อให้ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อม และสังคมที่ดี แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้แก่เยาวชน โดยเฉพาะ "การศึกษา" มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ดังนั้น จุดเริ่มต้นของความยั่งยืนคือ การพัฒนาความรู้ที่จะเป็นบันไดต่อยอดไปสู่การทำสิ่งดีต่อไป
“สิ่งแวดล้อมจะไม่ดี หากการศึกษาไม่แข็งแรง หากไม่แก้ไขเรื่องปัญหาการศึกษา เราจะไปไม่ถึงเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน” กลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานแถลงข่าว 5 ปี มูลนิธิใบไม้ปันสุข เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา
เป็นที่มาในการ ก่อตั้ง “มูลนิธิใบไม้ปันสุข” ในปี 2560 เพื่อพัฒนาการศึกษา สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตเยาวชนไทย ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN SDGs เป้าหมายที่ 4 Quality Education เป็นเป้าหมายหลัก และ เป้าหมายที่ 13 Climate action ปลูกจิตสำนึกและพฤติกรรมที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และนโยบายชาติ BCG โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินโครงการครอบคลุมเยาวชนกว่า 15,000 คน จากโรงเรียนเครือข่าย 200 โรงเรียน ใน 52 จังหวัด
ผลักดันคุณภาพชีวิตเยาวชนไทย โดยร่วมกับ ศูนย์การเรียนรู้ทุ่งสักอาศรม , เอสซีจี เคมิคอลส์ และ มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ส่งเสริมด้านการอ่านเขียน และสิ่งแวดล้อม ได้แก่
- “ด้านการอ่านเขียน” โครงการอ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว
- “ด้านสิ่งแวดล้อม” โครงการ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ และ โครงการโซลาร์ปันสุข
กลอยตา อธิบายต่อไปว่า การเลือกประเด็นอ่านออกเขียนได้ เพราะมองว่า การพัฒนาจะยั่งยืนไม่ได้ หากเยาวชนยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ “สิ่งแวดล้อมจะไม่ดี หากการศึกษาไม่แข็งแรง” ดังนั้น การศึกษาจึงสำคัญมาก
จากการศึกษาในพื้นที่เขตพระโขนง ยังพบวัยรุ่นอายุ 15-17 ปี อ่านไม่ได้ หากไม่แก้ไขปัญหาการศึกษา เราจะไปไม่ถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นที่มาของ โครงการอ่านเขียนเรียนสนุก ปั้นเด็กจิ๋ว เป็นเด็กแจ๋ว โดยทำงานร่วมกับ ทุ่งสักอาศรม สนับสนุนสื่อการสอนอบรมและติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้
อ่านออกเขียนได้ รากฐานสำคัญเด็กไทย
อาจารย์ในดวงตา ปทุมสูติ นักวิชาการจากศูนย์เรียนรู้ทุ่งสักอาศรม เผยว่า ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทั้งการศึกษาและสังคม จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาทั่วประเทศ พบว่า โรงเรียนล้วนมีทั้ง "เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้" และ "เด็กที่อ่านออก แต่เขียนไม่ได้"
สาเหตุสำคัญมาจากหลักสูตรที่ขาดความยืดหยุ่น และบริบทอันแตกต่าง ทุ่งสักอาศรม และ มูลนิธิใบไม้ปันสุข จึงได้ร่วมมือแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนในการอ่านออกเขียนได้ของเด็กๆ โดยเริ่มจากการตระหนักและความเข้าใจในวิถีการสอนภาษาไทยให้แก่ผู้บริหารและครู ตลอดจนลงลึกสู่กระบวนการสอนที่แม่น ตรง อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
"ในบริบทโรงเรียน การที่สอนให้เด็กที่อ่านไม่ออก ให้อ่านออก เหมือนการรบ ครูต้องต่อสู้กับสาเหตุว่าทำไมเด็กจึงอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรืออ่านได้แต่เขียนไม่ได้ ปัญหาเหมือนเส้นผมบังภูเขา ซึ่งครูบางทีมองไม่ออก ดังนั้น การที่เราเข้าไปติดอาวุธให้ครู พร้อมกับ นิเทศ ติดตาม จะสามารถแนะนำได้ เพราะปัจจัยของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน"
“การที่เด็กอ่านออกเขียนได้ เป็นการเปิดโลกให้มองเห็นได้กว้างขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต ค้นพบศักยภาพ ค้นพบตัวตน โดยมีการอ่านออกเขียนได้เป็นสะพาน กระบวนการทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ไม่ใช่แค่มอบสื่อ แต่ต้องอบรมให้ความรู้ ให้อาวุธครู และสอนการใช้อาวุธ จึงจะรบชนะ” อาจารย์ในดวงตา กล่าว
สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ในโรงเรียน
ขณะเดียวกัน ในด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิใบไม้ปันสุข ได้ร่วมกับ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และ กลุ่มบริษัทบางจาก จัดทำ โครงการ รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ ในการสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียง และ สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนจากสิ่งรอบตัว ด้วย 8 สถานีการเรียนรู้ ได้แก่ สถานีธนาคารขยะ สถานีกล่องนม-ถุงนมกู้โลก สถานีน้ำมันพืชใช้แล้ว สถานีใบไม้ปันสุข สถานีเรือนวัสดุ และหลัก 3R สถานีพอ พัก ผัก สถานีน้ำหมักชีวภาพ และสถานีถังหมักรักษ์โลก
“กฤษดา เรืองโชติวิทย์” ผู้อำนวยการสำนักงาน ESG บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า โครงการรักษ์ ปัน สุข จูเนียร์ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน เรารู้ว่าพลาสติกมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน ยืดหยุ่น และเป็นผลิตภัณฑ์ราคาถูกใช้ประโยชน์หลากหลาย ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถตอบโจทย์หลายเรื่อง หนึ่งในนั้น คือ ความยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โครงการฯ จึงมุ่งสื่อสารให้เด็กเข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เด็กมีความรู้เข้าใจวัสดุศาสตร์ ว่าวัสดุทุกอย่างมีค่าไม่ว่าจะพลาสติก กระดาษ หรือ แก้ว ทำให้เด็กรู้ว่าหากเริ่มต้นแยกวัสดุถูกต้อง จะสามารถสร้างคุณค่าได้
จากการสำรวจโรงเรียน พบว่า มีการดื่มนม และมีถุงนมพลาสติกจำนวนมาก โปรเจกต์แรกจึงให้เด็กๆ ใช้ไอเดีย เก็บถุงนมอย่างไรไม่ให้เน่า รวบรวมได้จำนวนมาก และส่งรีไซเคิล นำมาทำเก้าอี้ รวมถึง การนำเศษอาหาร มาทำปุ๋ย เกิดนวัตกรรมแปลกๆ มากมาย เด็กได้เรียนรู้ วัสดุศาสตร์ และขยายผลไปใช้กับที่บ้าน อีกทั้ง มีโครงการธนาคารขยะ สามารถนำวัสดุมาฝากกับโรงเรียน เก็บเป็นแต้ม เอาไปทำประโยชน์แลกสินค้าได้
โดยปัจจุบัน โครงการฯ สามารถขยายผลไปแล้วกว่า 18 จังหวัด มีผู้บริหารและนักเรียนเข้าร่วมกว่า 10,635 คน โดย 7 เดือนแรก หลังดำเนินการในโรงเรียน 35 แห่ง คัดแยกขยะรีไซเคิลกว่า 6,000 กิโลกรัม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 17,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
"สำหรับเป้าในอนาคต คือ การส่งเสริมให้โรงเรียน รวบรวมข้อมูล และเข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ขององค์การจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ซึ่งจะให้ความรู้เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่เยาวชนต่อไป" กฤษดา กล่าว
โซลาร์ปันสุข พลังงานทดแทนภาคเกษตร
อีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นในปี 2565 นี้ คือ โครงการโซลาร์ปันสุข ซึ่งมุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเยาวชน ผ่านการสร้างแหล่งเรียนรู้ พลังงานทดแทน ในภาคเกษตรกรรม ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ต่อยอดองค์ความรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชน โดยมูลนิธิใบไม้ปันสุข ร่วมกับ มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ในการเฟ้นหาโรงเรียนที่มีผลงานด้านการเกษตรและการพัฒนาชุมชนรอบข้าง สนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก พร้อมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร ตอบโจทย์ SDGs เป้าหมายที่ 13 Climate Action และ เป้าหมายที่ 7 Affordable and Clean Energy
มีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) และผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา ซึ่งจัดตั้งเพื่อช่วยสร้างโอกาสในด้านต่างๆ โดยเอาโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับคนในชุมชนรอบโรงเรียน โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนมากที่จำเป็นต้องดูแลหลาน เนื่องจากพ่อ แม่เด็ก ต้องอพยพไปหารายได้
ดังนั้น เด็กนักเรียนในโรงเรียนมีชัยพัฒนา ซึ่งมีโอกาสเรียนรู้การปลูกผัก และทำธุรกิจ ตั้งแต่ ม.1 - 6 ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างโอกาสให้แก่ผู้สูงอายุและลูกหลาน โดยจะเดินทางไปใน 16 หมู่บ้านรอบโรงเรียนที่อยู่ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ทุกสัปดาห์เพื่อรับใช้สังคม
โรงเรียนมีชัยพัฒนา ถือเป็นต้นแบบให้กับหลายโรงเรียน ถ่ายทอดความรู้ไปใช้และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง มีการอบรมผู้สูงอายุในการเพาะปลูกแบบทันสมัย จากที่ชุมชนปลูกข้าวได้ปีละ 5 บาท/ตารางเมตร/ปี หรือ 500 บาท/100 ตารางเมตรต่อปี มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นอ่อนทานตะวัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน 5,400 บาท/ตารางเมตร/ปี หรือ 540,000 บาท/100 ตารางเมตรต่อปี
ทั้งนี้ ปลายปี 2565 โรงเรียนมีชัยพัฒนา ร่วมกับ มูลนิธิใบไม้ปันสุข และพันธมิตร เริ่มอบรมให้กับนักเรียน ได้เรียนรู้ เข้าใจเรื่องโซลาร์เซลล์ขั้นพื้นฐาน และดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้าน และในการปลูกผักโดยคาดหวังว่านักเรียนจะเป็นผู้แนะนำเรื่องการใช้โซลาร์เซลล์ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนได้เป็นลำดับต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์