ทำไม “ไทย” จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบ "Climate Change" อันดับ 9 ของโลก

ทำไม “ไทย” จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบ "Climate Change" อันดับ 9 ของโลก

ข้อมูลเมื่อปี 2020 พบว่า ทั่วโลกมีปริมาณการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ราว 33,805.10 ล้านตัน โดยประเทศไทยติดอันดับ 24 ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 258 ล้านตัน หรือ 0.76% แม้ไทยจะสร้างผลกระทบไม่ถึง 1% แต่กลับเป็นประเทศที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก

วานนี้ (23 ก.ย. 65) ดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวในงานสัมมนา Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน” เกี่ยวกับ ผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจาก ก๊าซเรือนกระจก มีคุณสมบัติในการดูดคลื่นความร้อน ห่อหุ้มชั้นบรรยากาศ ทำให้รู้สึกว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ทำไมอุณหภูมิของ โลกร้อน ขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ว่า หากไม่ทำอะไรตอนนี้ โลกจะประสบกับภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นเกิน 2 องศา โลกทั้งโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ

 

ทั่วโลกปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" 33,805.10 ล้านตัน

 

จากข้อมูลของ Global carbon atlas (2020) พบว่า ปริมาณการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ของทั้งโลกราว 33,805.10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดย 5 ประเทศที่ปล่อยมากที่สุด ได้แก่

  • จีน 10,668 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • สหรัฐอเมริกา 4,713 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • อินเดีย 2,442 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • รัสเซีย 1,577 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • ญี่ปุ่น 1,031 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ไทย อยู่ที่ 24 ของโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 258 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 0.76% 

 

สัญญาณเตือน ปัญหาโลกร้อน

 

ทั้งนี้ ทั่วโลกมีสัญญาณเตือนว่ามีปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

 

ปี 2531 มีการก่อตั้ง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แก่รัฐบาลทุกระดับเพื่อพัฒนานโยบายสภาพภูมิอากาศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดว่าโลกเริ่มให้ความสำคัญ

 

ปี 2540 มีการประชุม COP3 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการยกย่างพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ชวนประชาคมโลก เพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม มีการพูดถึงก๊าซเรือนกระจก 7 ชนิดที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศของโลก

 

ปี 2558 ในการประชุม COP21 เกิดข้อตกลงด้านสภาพอากาศของกรุงปารีสในปี 2015 ในข้อตกลงดังกล่าว 197 ประเทศ รวมถึงไทย ได้ให้คำมั่นที่จะกำหนดเป้าหมายสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง แต่ยังไม่มีข้อตกลงชัดเจน

 

ปี 2564 การประชุม COP26 เกิดความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากประชาคมโลก มีการแบ่งปันเป้าหมายในประเทศตนเองมีการกำหนดระยะเวลา และปริมาณที่ตรวจวัดได้ จำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา โดยไทยตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065

 

ไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบ อันดับ 9 ของโลก 

 

จากการข้อมูลของ Germanwatch หน่วยงานที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ได้จัดทำแผนที่ความเสี่ยงของทุกประเทศในโลกขึ้น ว่าหากเกิดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น แต่ละประเทศในโลกจะได้รับความเสี่ยงอย่างไรบ้าง

 

"แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ ที่ปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ไม่ถึง 1% ของโลก แต่ถูกจัดอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงสูงที่สุดของโลกเป็นอันดับที่ 9 โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 20 ปีของแต่ละประเทศ ความถี่ของการเกิดภัยพิบัติ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่เกิดภัยพิบัติ"

 

"ประเทศไทย มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจมาก และที่สำคัญยังไม่มีแผนและมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราจึงถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากเหตุการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

 

ประเทศไทย เสี่ยงอย่างไร

 

ดาวรุ่ง กล่าวต่อไปว่า จังหวัดชายฝั่งทะเล กรุงเทพมหานคร ที่ลุ่มภาคกลาง มีความเสี่ยงในการจมของแผ่นดิน การท่วมถึงของน้ำทะเล สำหรับภาคเหนือ อีสาน จะเกิดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ภัยพิบัติ ไฟป่า แผ่นดินถล่ม

 

"สุดท้าย ประเทศไทยเกือบทุกภูมิภาคจะได้รับผลกระทบ จนถึงผลผลิตทางการเกษตร ประมงชายฝั่ง เกิดการสูญเสียทั้งพืชและสัตว์ กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และฐานทรัพยากรต้นทุนที่เป็นต้นทุนการท่องเที่ยวของประเทศที่ขายความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติ"

 

หากวันนี้ไม่เริ่มต้นที่จะทำอย่างจริงจัง คิดว่าในอีกไม่เกิน 10 ปี ผลกระทบต่างๆ จะเกิดเป็นลูกโซ่ และสุดท้ายไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจ แต่ประชาชนทุกคนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้เช่นกัน

 

ผลกระทบทั่วโลก

 

ทั้งนี้ หากดูผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโกล จะพบว่า

  • สภาพอากาศรุนแรง เช่น ซูเปอร์ไต้ฝุ่นนันมาดอล ที่ถือเป็นหนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดพัดถล่มญี่ปุ่น
  • ฤดูผันแปร เช่น หิมะตกบนทะเลทรายซาฮารา ครั้งที่ 5 ภายในระยะเวลา 42 ปี
  • สารภูมิแพ้แพร่ระบาด เช่น ในสหรัฐ จะเกิดปรากฎการณ์ขึ้นทุกๆ ช่วงฤดูใบไม้ผลิ
  • คลื่นความร้อน ทำให้เกิดไฟป่ารุนแรง เช่น ออสเตรเลีย และหลายประเทศในยุโรป
  • เกิดการสูญพันธ์ุ ของพืชและสัตว์ ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นอีก 2 องศา เซลเซียส ก็จะทำให้พืชร้อยละ 25 ใน 80,000 ชนิด และสัตว์อีกหลากหลายสายพันธุ์เริ่มสูญพันธุ์

 

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างไร

 

การจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มได้จากการปรับพฤติกรรม การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการปลูกต้นไม้ ดังนี้ 

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ที่จะต้องคิดในเรื่องของการสร้างผลิตภัณฑ์ การใช้ประโยชน์ การนำกลับมาใช้ใหม่

  • ความง่ายของการรีไซเคิล
  • การประหยัดพลังงาน
  • การใช้พลังงานสะอาด
  • ลดใช้ถุงพลาสติกและขยะพลาสติก
  • ลดการทานอาหารจากต่างถิ่น
  • ลดการบริโภคเนื้อสัตว์

 

เทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา เช่น

  • เทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
  • ใช้เทคโนโลยีทางด้านการเกษตร เช่น การใช้เครื่องจักรปลูกข้าวอัตโนมัติ และ ประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมการให้น้ำการเพาะปลูก

 

ปลูกต้นไม้ เป็นสิ่งที่ทุกคนช่วยกัน สามารถช่วยกันได้คนละไม้คนละมือ

  • เนื่องจากต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในการเติบโต โดยกักเก็บคาร์บอนในรูปแบบมวลชีวภาพ ในส่วนของลำต้น กิ่ง ใบ และราก

 

ปลูกป่าชายเลน เพื่อคาร์บอนเครดิต

 

สำหรับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะที่ดูแลจัดการทรัพยากรทางทะเล  พบว่า ต้นไม้ป่าชายเลนมีการเติบโตสูง เมื่อเทียบกับป่าบก และสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 7 ตันต่อไร่ต่อปี

 

ที่ผ่านมา มีการจัดทำ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มีเป้าหมายในการดำเนินการใน 23 จังหวัด พื้นที่รวม 300,000 ไร่ เป้าหมาย 10 ปี เริ่มดำเนินการ 2565 โดยชักชวนภาคธุรกิจ องค์กรภายนอก ที่อยากจะมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยในปี 2565 มีพื้นที่ดำเนินการ 44,000 ไร่

 

นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงป่าชายเลนที่ชุมชนได้ร่วมดูแลมาก่อนหน้านี้ โดยเปิดอีกหนึ่งช่องทางให้ชุมชนมามีส่วนร่วมดูแลบำรุง ให้พื้นที่ที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ให้สมบูรณ์มากขึ้น เพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนได้มากขึ้น โดยเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับชุมชน 44,000 ไร่เช่นกัน

 

การแบ่งปัน คาร์บอนเครดิต กันในอัตราส่วนระหว่าง 90/10 โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้รับคาร์บอนเครดิต 10% และผู้พัฒนาโครงการได้รับคาร์บอนเครดิต 90% โดยพื้นที่ป่าชายเลนที่ได้รับการปลูกฟื้นฟูจากโครงการจะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

 

“ปัจจุบัน กรมฯ ได้ออกระเบียบ กฎหมาย การปลูกป่าชายเลนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ทั้งภาคชุมชนและเอกชน โดยมีการอนุมัติให้กับ 17 บริษัท และชุมชนอยู่ระหว่างการประกาศรับสมัคร รวมถึงมีการลงพื้นที่ และเชิญชวนผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เข้าร่วมโครงการ หากชุมชนมีความพร้อมดำเนินการ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมได้ที่กรมฯ และหากมีองค์กรธุรกิจ ต้องการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนก็สามรถทำได้เช่นกัน อีกทั้ง ชุมชนสามารถแจ้งความประสงค์ที่จะต้องการสนับสนุนจากเอกชนได้อีกด้วย” ดาวรุ่ง กล่าว