“มหาวิทยาลัยยั่งยืน” สู่สังคมที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ SDGs
เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (SUN Thailand) เป็นการรวมตัวกันของ 40 มหาวิทยาลัยในไทย เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทาง "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" แลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงาน ผลักดันคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญ เข้าใจและเดินหน้าพัฒนาประเทศ
คนรุ่นใหม่ นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัย ก็เป็นส่วนสำคัญ ในการเป็นแรงผลักดันปลูกฝังคนรุ่นใหม่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการศึกษา และวิจัย ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ ตอบโจทย์ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทั้ง 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเกิด เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University หรือ SUN Thailand) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2558 โดยมีมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จำนวน 16 แห่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง เพื่อเป็นเวทีสำคัญสำหรับการกำหนดแนวนโยบาย เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงาน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน
อันจะเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และการสร้างความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ ที่สอดคล้องเชื่อมโยงต่อบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ นำสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของภาคส่วนภายในสังคมของประเทศที่สามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลการดำเนินงานสู่ภาคส่วนอื่นได้ต่อไปในอนาคต และในปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกว่า 40 แห่ง
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 “ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.กิตติคุณ รุ่งเรือง” รองอธิการบดีฝ่ายองครักษ์และพัฒนากายภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ SUN Thailand กล่าวในงานเสวนา SDG 4 บทบาทของมหาวิทยาลัยกับความเท่าเทียมทางการศึกษา (university roles in education equality) และเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ภายในงาน มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน “SUSTAINABILITY EXPO 2022: GOOD BALANCE, BETTER WORLD” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเผยว่า เครือข่าย SUN Thailand ทำตามนโยบายที่ทางรัฐบาลได้ประกาศเจตนารมย์ไว้ คือ การเดินหน้าสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ในปี 2065 โดยตัวอย่างการดำเนินการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น
Green Transportation/ระบบขนส่งสาธารณะสีเขียว อาทิ โครงการรถจักรยานสาธารณะแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ระบบจักรยานใช้ร่วมกัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และ วัฒนธรรมสองล้อ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี
Waste Management/การจัดการขยะ อาทิ โครงการธนาคารขยะรีไซเคิลและการจัดการขยะ มหาวิทยาลัยมหิดล นครปฐม และ การจัดการของเสียจากอาหารเป็นก๊าซชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
Social Engagement / Outreach /พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม / การเข้าถึงชุมชน อาทิ พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม และ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ราชบุรี
Green Area / Campus Planning /พื้นที่สีเขียว / การวางผังมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยสีเขียวและสะอาด: การวางผังมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ระบบขนส่งในมหาวิทยาลัยใช้ระบบไฟฟ้า และ การวางผังมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุด มีการวางระบบเรื่องน้ำ ขยะ อนุรักษ์พลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมล้อม
Energy / Water Management / พลังงาน / การจัดการน้ำ อาทิ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นครนายก บริการวิชาการโดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ใช้พลังงานชีวมวล ช่วยชาวบ้านในการทำโรงเห็ด ลดต้นทุนการผลิต เข้าถึงชาวบ้านให้มีองค์ความรู้ในการสร้างเตาชีวมวล
การศึกษาจุดเริ่มต้น ต่อยอดสู่ SDGs
ประธานเครือข่าย SUN Thailand กล่าวต่อไปว่า การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้น ในการต่อยอด SDGs ข้ออื่นๆ ได้อีก การเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ในปี 2065 เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถทำได้ ในฐานะมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานอุดมศึกษา เป็นหน่วยงานใหญ่ในการผลิตบัณฑิตให้กำลังสำคัญแห่งชาติ ดังนั้น ทำอย่างไรให้นักศึกษาเข้าถึงองค์ความรู้ในเรื่อง SDGs และสามารถพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่ Net zero ได้
ในส่วนของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตัวอย่างเรื่องของ Sustainability ที่ผ่านมา อาทิ การก่อสร้าง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ 200 กว่าไร่ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดพลังงานไฟฟ้า และมีการสอนเด็กๆ ว่าหากไปทัศนศึกษาที่ไหนให้นำขยะกลับมาทิ้งที่บ้านหรือโรงเรียน เป็นกิจกรรมเล็กน้อยที่ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
เติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ขณะเดียวกัน โรงเรียนสาธิตชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า วิทยาลัยโพธิวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งโดย “สมเด็จย่า” เพื่อให้เด็กชายขอบเข้าถึงการศึกษาเหมือนกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็นโรงเรียนประจำ ไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น มีอาหารทุกมื้อ โดยใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาทต่อปี ในการดูแลเด็กๆ
“การศึกษาเราต้องไปด้วยกันไม่ปล่อยให้ใครอยู่ข้างหลัง แม้กระทั่งเด็กชายขอบ อีกทั้งมีการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจ สู่การสร้างนวัตกรรมกลับไปพัฒนาชุมชน
"ทั้งนี้ ได้ทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจไปช่วยเกษตรกร ผ่านการบริการวิชาการของ คณะนิเทศศาสตร์ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่งา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูเรื่องการศึกษาชายขอบ และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ดูเรื่องปากท้อง ให้ทุกคนกินดีอยู่ดี มหาวิทยาลัยไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องมีเครือข่าย ความร่วมมือ เพื่อช่วยกันให้ชุมชนได้ประโยชน์มากที่สุด” ประธานเครือข่าย SUN Thailand กล่าวทิ้งท้าย