'แซนด์บ็อกพลังงานทดแทน' แพลตฟอร์มเคลื่อนรับกติกาโลกใหม่
การประชุมประจำปี 2565 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในหัวข้อ “พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน” ร่วมขับเคลื่อนแผนฯ 13 สร้างอนาคตไทย สาระส่วนหนึ่งที่พูดถึงการร่วมกันแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในหัวข้อการประชุมด้วย
นที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกรรมการและเลขานุการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ความพยายามขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้น ถือสิ่งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากโดยเฉพาะการปรับตัวของภาคการผลิตในประเทศโดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)
ซึ่งในการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้มีความเข้มแข็ง และแข่งขันได้ซึ่งเรื่องนี้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในหมุดหมายที่ 7 ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้สิ่งที่เป็นความท้าทายของภาคการผลิต และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยคือข้อกำหนดในเรื่องของการใช้พลังงานสะอาด (Renewable Energy) 100 % หรือ “RE100” ในการผลิตสินค้า
ทั้งนี้ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศ ที่ต้องการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะนำเอาเงินลงทุนทางตรง (FDI) จำนวนมากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
พร้อมกับตั้งไลน์การผลิตที่มีการจ้างงานหลายหมื่นคน โดยเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่มีการสอบถามก็คือว่าประเทศไทยสามารถมี RE100 ให้ใช้ในการเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ เพราะเป็นนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องมีการผลิตสินค้าด้วยพลังงานสะอาด
“ธุรกิจเอสเอ็มอีถือว่าจะได้รับผลกระทบจากลูกค้าที่มีนโยบายให้ปรับเปลี่ยนการผลิตมาใช้พลังงานสะอาดแบบ 100% เพราะจะต้องปรับเปลี่ยนตามนโยบายของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นคู่ค้า และมีตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนที่บริษัทเดนโซ่บริษัทใหญ่ที่ผลิตอะไหล่รถยนต์ป้อนให้กับบริษัท โตโยต้า และโตโยต้าตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ปี 2050
หมายความว่าบริษัทที่อยู่ในซัพพลายเชนของโตโยต้าต้องตั้งเป้าการเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้เร็วกว่า เดนโซ่จึงตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2035 และตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100 % ในการผลิตสินค้าด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของโตโยต้า”
ทั้งนี้ ในเรื่องของการสนับสนุนให้มี RE100 สำหรับภาคการผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีการแก้ไขข้อกำหนดและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคเพราะหากกำหนดให้ซื้อไฟฟ้าจากกริดไฟฟ้าในประเทศไทย ยังมีเชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิลอยู่ 60 – 70% จึงต้องมีรูปแบบการผลิตไฟฟ้าแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อนักลงทุน
ส.อ.ท.จึงมองหารูปแบบใหม่ของการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายกันเองระหว่างภาคเอกชน ซึ่งเป็นพื้นที่ “แซนด์บ็อก” ในระยะที่ 2 (ERC sandbox2) โดย ส.อ.ท.ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และ สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ส่งเสริมให้มีการซื้อขายไฟฟ้าพลังหมุนเวียนระหว่างภาคธุรกิจและภาคธุรกิจผ่านระบบสัญญา สามารถซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่ง และเปิดการอนุญาตทดลอง กติการูปแบบใหม่ๆ
เพื่อทดลองแนวทางที่เหมาะสม ในรูปแบบเป็นการทดลองรูปแบบใหม่ ที่ต่างจากระบบเดิมที่เอกชนที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ต้องขายคืนระบบให้กับการไฟฟ้าฯ ที่มีความคล่องตัวมากขึ้นและตอบโจทย์เรื่องของการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตสินค้าของเอกชนด้วย
นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังมีการส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สอดรับกับนโยบายที่ต้องการเดินหน้าเป้าหมายด้านพลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นำไปสู่การเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงบริการด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนและกลุ่มอุตสาหกรรมได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นซึ่งในอนาคตหากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถที่จะทำได้ในประเทศไทยก็จะสามารถซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มที่มีการพัฒนาขึ้นได้เช่นกัน
“มีนักลงทุนที่เข้ามาแล้วมาคุยกับสภาอุตสาหกรรมว่า ถ้าเป็น FDI เข้ามาแล้วในอีก 1 – 2 ปีนี้ พนักงานประมาณ 1 – 2 หมื่นคน จะสามารถที่จะทำพลังงานทดแทน 100% ได้หรือไม่ เพราะนโยบายของบริษัทแม่เป็นแบบนั้น ถ้าไม่มี RE จะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น"