COP27 เวทีชี้จุดยืนไทย ต่อศักยภาพการลดคาร์บอน
เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยและทั่วโลกได้แสดงความตระหนักปัญหาโลกร้อน ด้วยการประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นขั้นบันไดโดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเป็น 0 หรือ Net Zero เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วม ซึ่งประเทศไทยในฐานะภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ
ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) และความตกลงปารีส
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า ได้เตรียมการหารือกับนานาประเทศทำให้เกิดระบบดูแลมาตราฐานในมาตรา 6 ว่าด้วยการโอนเครดิตให้กันได้ ซึ่งเวทีประชุมครั้งนี้ ต้องพบกับภาคส่วนต่างๆในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบ เพราะการทำคาร์บอนเครดิตในต่างประเทศคือ “การต่อรอง”เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องทำให้ดีที่สุด
นอกจากนี้ จะนำเสนอผลงานต่างๆ ด้านการดูแลสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทั่วโลกรับรู้ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนด้านต่างๆที่มากขึ้น รวมถึงการนำความรู้มาพัฒนาการจัดการคาร์บอนเครดิตให้ดีขึ้น
พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มีการทำงานอย่างต่อเนื่องร่วมถึงการยกร่างการเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ18 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นชอบ สาระเพิ่มเติมจากการประชุม cop 26 ในด้านต่างๆ เช่น คำประกาศให้เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวในปี 2030 ให้ลดก๊าซเรือนกระจกลง 40 % รวมถึงการปรับตัวต่างๆอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้สนับสนุนทางด้านการเงิน 1แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และดูท่าทีของต่างประเทศว่ามีท่าทีอย่างไร
“จากเวทีนี้ไทยจะได้รับประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งด้านความร่วมมือ หรือ แม้แต่การสนับสนุนทางการเงิน เช่น ความร่วมมือกับสวิสเซอร์แลนด์เพื่อเปลี่ยนผ่านรถเมล์เป็นรถเมล์ไฟฟ้า รวมไปถึงการถ่ายโอนคาร์บอน เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป”
นอกจากประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับ COP27 แล้ว ภูมิภาคอาเซียนจะนำเสนอในที่ประชุมผ่าน ร่างแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (ASEAN joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP27) สาระสำคัญ ว่าด้วย
1. การแสดงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียนตามกรอบCOP และ ความตกลงปารีส ภายใต้หลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างและคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ผ่านการจัดส่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน การดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ การเงินที่ยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านด้านการเกษตรสู่ระบบอาหารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศ
2. ประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญและห่วงกังวล อาทิ การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ความเร่งด่วนของเป้าหมายและการดำเนินงานตามผลประชุม COP26
3. ประเด็นที่ต้องการเรียกร้องได้แก่ การยกระดับการดำเนินงานทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสนับสนุนด้านการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการเร่งรัดกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงการสนับสนุนของกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เวทีการประชุม COP27 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีก2สัปดาห์ ซึ่งจะมีบุคคลสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนามาร่วมประชุมจำนวนมาก ทำให้เวทีนี้ เป็นเหมือนโอกาสของประเทศไทยที่จะแสดงจุดยืนว่าไทยคือพื้นที่แห่งอนาคตที่ยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การค้า การลงทุนและสังคมนั่นเอง