เทคโนโลยี “เผาปูน” ด้วยขยะพลาสติก โซลูชันป้องกันโลกจมกองของเหลือใช้
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ ชี้ว่าในแต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 13 ล้านตัน เล็ดลอดลงสู่มหาสมุทร ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้คน และยังคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะทวีคูณเพิ่มเป็น 3 เท่า
ภายในปี ค.ศ.2040 และหากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ขยะพลาสติก ราว 12 พันล้านตันจะทับถมหรือเล็ดลอดสู่ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติในปี 2050
ทั้งนี้ความร่วมมือในระดับนานาชาติคือ กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ แหล่งสร้างขยะพลาสติกสู่ท้องทะเล สร้างโอกาสในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ The Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE) Regional Forum” ซึ่งจัดขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อหาโซลูชันการรับมือกับปัญหา ดังกล่าวของ ไทย จีน อินเดีย เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงค้นหาโอกาส และ อุปสรรคในการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมซีเมนต์ในการบริหารจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทย และทั่วภูมิภาค
ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการโครงการ OPTOCE SINTEF Community Norway ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โครงการ OPTOCE ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรับมือมลภาวะขยะ และไมโครพลาสติกในทะเลของประเทศ นอร์เวย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal: SDG) ทั้งนี้ โลกของเราควรป้องกัน และลดปริมาณขยะในท้องทะเลทุกประเภทอย่างจริงจังภายในปี ค.ศ.2025 โครงการนี้เน้นความสำคัญที่แนวทางการบริหารจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะในประเทศที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกับลุ่มแม่น้ำสายหลักของโลก พื้นที่กองขยะฝังกลบ และศูนย์รวมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะประเมินว่าขยะบริเวณชายหาด และในทะเลมากกว่า 80% มาจากแหล่งผลิต บนแผ่นดิน ซึ่งประเทศในเอเชียติดอันดับกลุ่มประเทศที่ปล่อยขยะ และไมโครพลาสติกลงสู่ท้องทะเลสูงสุดของโลก
ความร่วมมือในครั้งนี้จะร่วมค้นหาแนวทางการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัด ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ในประเทศเหล่านี้ เพื่อลดปริมาณการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ท้องทะเล ประเทศเหล่านี้ผลิตขยะพลาสติกราว 217,000 ตันต่อวัน หรือ 79 ล้านตันต่อปี
โดยมีการปล่อยพลาสติกสู่ทะเลในปริมาณสูงสุดแต่กลับมีวิธีการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่ค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้มีอุตสาหกรรมประเภทปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า และพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน ดังนั้นจึงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณสูงด้วยเช่นกัน
โดยเทคโนโลยีที่ใช้คือ การนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ มาทำความสะอาดแยกดิน และแยกประเภทมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาทำปูนซีเมนต์ และใช้เชื้อเพลิงขยะแทนเชื้อเพลิงถ่านหิน สามารถให้พลังงาน และสามารถกำจัดขยะที่ทำให้เกิดคาร์บอนต่ำกว่าโรงงานเผาขยะอีกด้วย
โซลูชันการบริหารจัดการขยะร่วมกันนี้คือ การนำขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้ทดแทนถ่านหินก็อาจเป็นหนึ่งแนวทางที่ช่วยป้องกันไม่ให้พลาสติกกลายเป็น ขยะเหลือทิ้งในทะเล ทั้งยังลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ทางอ้อม โดยไม่ต้องสร้างเตาเผาขยะหรือแหล่งฝังกลบขยะแห่งใหม่
นอกจากการบริหาร จัดการขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วยังมีการสำรวจความเป็นไปได้ในการ ระดมพันธมิตรทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมขยะพลาสติกตามแหล่งมลภาวะ ลุ่มแม่น้ำสายหลัก และพื้นที่ริมชายหาด รวมถึงการแปลงขยะพลาสติกเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงในท้องถิ่น แนวทางเหล่านี้จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะถูกทิ้งลงแหล่งน้ำ เพิ่มศักยภาพในการบริหาร จัดการขยะ และสร้างทางเลือกใหม่ที่คุ้มค่า และยั่งยืนในระบบการบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการในกลุ่มประเทศ ทั้ง 5 ของเอเชีย
โครงการ OPTOCE SINTEF Community Norway ประมาณการว่าทั่วโลกมีปริมาณพลาสติก ผลิตใหม่ราว 9.3 พันล้านตันในปี 2019 ซึ่งในจํานวนนี้ กว่า 6.3 พันล้านตัน จะกลายเป็นขยะพลาสติก ประเมินว่ามี การนำไปรีไซเคิลเพียง 9% ถูกนำไปเผา 12% และถูกทิ้งไปเฉย ๆ ถึง 79% หากแนวโน้มการผลิต และการบริหาร จัดการขยะพลาสติกยังคงดำเนินไปเช่นในปัจจุบัน คาดว่าจะเกิดขยะพลาสติกราว 12 พันล้านตัน ทับถมหรือเล็ดลอด สู่ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติในปี 2050
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์