รู้จัก "กรม Climate Change" กรมน้องใหม่ รับมือวิกฤติสิ่งแวดล้อม
จากวิกฤติ "การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ" ส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงอันดับที่ 9 ของโลก เรียกได้ว่ากระทบอันดับต้นๆ แม้จะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกก็ตาม
ประเด็นสำคัญการประชุม COP27 ที่ "วราวุธ ศิลปอาชา" ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผลักดันให้เกิดขึ้นจริงๆ คือ การส่งเสริมค่าเสียหายและการสูญเสีย (Loss and Damage) ให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ หลายประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ไม่พัฒนา เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเฉพาะ และประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องลงงบประมาณปีละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพื่อนำไปช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อีกทั้งการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และ ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 สิ่งสำคัญ คือ ต้องได้รับการสนับสนุนจากนานาอารยประเทศ ไม่ว่าจะการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพของไทย
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการผลักดันให้มีการจัดตั้ง “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” หรือ กรม Climate Change ขึ้นมาเป็นหนาวยงานหนึ่งในสังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อแสดงให้นานาอารยประเทศได้เห็นถึงความตั้งใจ และความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายเพื่อดูแล ศึกษา และรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และปกป้องสิ่งแวดล้อม
ภารกิจหลักและหน้าที่ของกรมน้องใหม่ คือ การจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และลดก๊าซเรือนกระจก ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการ และเสนอแนวทางตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ รวมถึงวิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน “กรม Climate Change” มีการจัดตั้งใน 26 ประเทศทั่วโลกแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
“ทวีปเอเชีย” ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เกาหลี ปากีสถาน บังคลาเทศ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจอร์แดน
“ทวีปยุโรป” ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน เดนมาร์ก สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไอแลนด์ ตุรกี
“ทวีปแอฟริกา” ได้แก่ เคนยา และ ไนจีเรีย “ทวีปอเมริกา” สหรัฐอเมริกา และ ไมโครนีเซีย
นายวราวุธ เผยว่า กรมฯ ใหม่นี้ ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานให้มีความชัดเจน รองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่กระทบต่ออัตรากำลังในภาพรวม และงบประมาณของประเทศชาติ
นอกจากนี้กระทรวง ทส. อยู่ระหว่างผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ยกระดับจากภาคสมัครใจ (Voluntary) เป็นภาคบังคับ (Mandatory) มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารคาร์บอนเครดิต กลไกการเงิน การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก คาดว่าจะสามารถนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี ภายในต้นปี 2566
"สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทย ไปถึงเป้าหมายที่ได้ประกาศเอาไว้ โดยเฉพาะประชาชนคนรุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพ แนวคิดของพวกเขาเหล่านั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ คำว่า Sustainability ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเท่านั้น ถึงจะเกิดผลสำเร็จและเป็นไปได้"