ปั้น “ชลกร” ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วยคนไทยมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน
การเรียนรู้การจัดการน้ำตามหลักสูตร “ชลกร” หรือ นักบริหารจัดการน้ำ เกิดจากการผลักดันของ “ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ปัญหา ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ น้ำกิน และน้ำทำการเกษตร นำมาสู่การแก้ปัญหาความยากจน
แม้ปัญหาภัยแล้งในปี 2566 อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2565 แต่ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงในลำดับต้น ๆ ของโลก จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ดังนั้น การเรียนรู้การจัดการน้ำตามหลักสูตร “ชลกร” หรือนักบริหารจัดการน้ำ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ น้ำกิน และน้ำทำการเกษตร นำมาสู่การแก้ปัญหาความยากจน
หลักสูตร “ชลกร” เป็นการปลูกความรู้เรื่องการจัดการน้ำ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2564 โดยมีพื้นฐานจากศาสตร์พระราชาผสมผสานกับความรู้จากศาสตร์สากลให้มีความทันสมัยบรรจุไว้ในหลักสูตรช่างกลเกษตร ระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส.) แล้วต่อยอด 6 วิชาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ หลักการอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาเบื้องต้น การบริหารจัดการน้ำเบื้องต้น หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน การบริหารจัดการน้ำเสียชุมชน หลักการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำและดิน และวิชาสุดท้ายคือการบริหารจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ หรือที่เรียกว่า “ศาสตร์พระราชา”
ขณะนี้เปิดสอนรุ่นที่ 2 ที่สามารถเรียนรู้ได้ใน 12 วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษามีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เป็นมาตรฐานในระดับสากล สามารถนำไปช่วยเหลือครอบครัว ชุมชน สร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
โดยเกิดจากการผลักดันของ “ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ตั้งใจสืบสานแนวพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายใต้หลักคิดว่าต้องประหยัด ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเป้าหมายสำคัญ คือ “ชุมชน” ซึ่งใครที่เรียนจบหลักสูตรนี้ จะเหมือนรถยนต์ HYBRID ที่วิ่งได้ทั้งระบบน้ำมันและระบบไฟฟ้า สามารถจัดการแบบช่างกลเกษตรและจัดการน้ำได้ด้วยตัวเอง ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้จัดอบรม Train the Trainer อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเป็นการยกระดับองค์ความรู้ให้กับอาจารย์หลักสูตรดังกล่าว
รวมทั้งจัดสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำนานาชาติ” WATER AND WASTE MANAGEMENT (WWM) ไปเมื่อวันที่ 16-17 มิถุนายน 2565 เพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในเอเชียและแปซิกฟิก การบริหารจัดการและนวัตกรรมในอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำระดับโลกกว่า 30 คนมาร่วมให้ความรู้ ยกระดับหลักสูตรชลกรทั้ง 6 วิชานั้นให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดย WWM เคยจัดที่ประเทศอินเดีย และสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2019
แลกเปลี่ยนสหรัฐฯ เสริม Water Security
ล่าสุดระหว่างวันที่ 5-12 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ดร.คุณหญิงกัลยา ทั้งในฐานะ รมช.ศึกษาธิการ และประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ ได้นำคณะได้ไปศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือแนวทางความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญและการสนับสนุนของวุฒิสมาชิก แทมมี่ ดักเวิร์ท และ วุฒิสมาชิก ดิค เดอร์บิน ประธานคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากในวุฒิสภาแห่งมลรัฐอิลลินอยส์
แต่ละสถานที่ที่ไปดูงาน มีความสำคัญทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในอนาคต รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนทั้งทางด้านเกษตรและวิชาสามัญทั่วไป
ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเกษตรกรรม 1 ใน 6 ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เหมือนกับประเทศไทย ซึ่งการทำด้านเกษตรกรรม หัวใจสำคัญคือต้องมีความมั่นคงในเรื่องการบริหารจัดการน้ำหรือ Water Security และที่ไปดูงานมลรัฐอิลลินอยส์ เพราะเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ มีจีดีพีมากกว่าประเทศไทย เป็นที่ตั้งของหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
Agriculture Science ต้องเริ่มจากการวางรากฐานทางการศึกษา
“ดร.คุณหญิงกัลยา” กล่าวว่าการจะสร้าง Water Security เพื่อให้มีน้ำกิน น้ำใช้ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรต้องเริ่มจากการวางรากฐานที่สำคัญด้านการศึกษาเพื่อให้เด็กไทยมีทักษะทางด้านวิชาชีพหรือ Professional Skills มากกว่าการให้องค์ความรู้หรือ Knowledge Base แต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะสาขาด้านเกษตรกรรม หรือ Agriculture Science
ปัจจุบันมีนักศึกษามาเรียนหลักสูตร “ชลกร” แล้วกว่า 300 คน ซึ่งจะจบออกไปเป็นนักบริหารจัดการน้ำ หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเกษตรกรรม” ซึ่งจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรฯ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน ให้เกิดมีน้ำใช้ตลอดปี นำไปสู่การมีรายได้ สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคง แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำโดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง BCG การนำน้ำเสียมาบำบัดเพื่อนำกลับไปใช้ซ้ำหรือ Zero Waste
“การมาดูงานในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง หัวใจสำคัญคือการนำไปต่อยอดกับสิ่งที่ได้วางรากฐานไว้แล้ว และมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในคราวนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในอนาคตเพื่อสร้างเด็กไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมกับสากลภายใต้โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงผันผวนซับซ้อนไม่แน่นอน หรือที่เราเรียกว่า VUCA World” ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวทิ้งท้าย