เซ็นทรัล รีเทล เพิ่มโอกาสการศึกษา สร้างคนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“การพัฒนาความยั่งยืน” จึงไม่ใช่เป็นเพียงเทรนด์ หรือกระแสที่ทั่วโลกต้องดำเนินการ แต่ทุกภาคส่วนในทุกประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมต้องขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นในทางปฎิบัติอย่างแท้จริง
“การยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ” ล้วนเป็นเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ที่มีทั้งหมด 17 ข้อ
โดยนานาประเทศรวมถึงประเทศไทยได้กำหนดไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2573 ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ คือ การเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน สนับสนุนการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลสิ่งแวดล้อม ปกป้องโลก ทำให้ทุกคนมีความสงบสุข และความมั่งคั่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"ไทย" ติดกลุ่มประเทศที่มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนสูงสุด
จับตาสิ่งแวดล้อมโลก และสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2566 | วิจารย์ สิมาฉายา
พัฒนาคน พัฒนาความยั่งยืนประเทศ
“Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด” หนึ่งในโครงการของ “บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC” สื่อกลางในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และยุติความยากจน เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน Green & Sustainable Retail ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะเรื่อง Green หรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
“เซ็นทรัล รีเทล” ยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ,แนวทางพัฒนา BCG (Bio-Circular-Green Economy) และ ESG (Environment-Social-Governance) ซึ่งเป็นหลักในการวางกลยุทธ์ CRC ReNEW เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายระยะยาวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
“ปิยวรรณ ลีละสมภพ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เล่าว่าโครงการ Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด เป็นหนึ่งในโครงการความยั่งยืน โดยใช้โมเดล ESG ซึ่งการพัฒนาคน พัฒนาเด็กจะอยู่ในส่วนของ Social หรือ สังคม เพราะหากเด็กทุกคนมีการศึกษาที่ดี ไม่ใช่ประเทศจะได้คนที่ดี แต่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกด้าน
“ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเกือบทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย รายได้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs 17 ข้อ ไม่ได้มีเพียงเฉพาะด้านGreen การดูแลสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาด้านอื่นๆ ซึ่งโครงการ Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด ถือเป็นไปตามเป้าหมายข้อ 1 ข้อ 4 และข้อ 10 ที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจและประเทศยั่งยืน เพราะการสร้างคนจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้”ปิยวรรณ กล่าว
เพิ่มโอกาสการศึกษา สานฝันเด็กไทย
หลักการตลาดแบบใหม่ ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม แม้คนเดียวจะไม่สามารถทำได้ แต่สร้างความร่วมมือได้ ปัจจุบันช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยขยายไปอย่างไม่มีสิ้นสุด “เซ็นทรัล รีเทล” พยายามลดช่องว่างที่เกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
ปิยวรรณ เล่าต่อว่า กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับองค์กรแห่งการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน จะมุ่ง 4 หัวข้อสำคัญ ได้แก่
1.People ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน
2.Prosperity การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
3.Planet คุณภาพสิ่งแวดล้อม
4.Peace&Partnerships ความสงบสุข ศิลปวัฒนธรรม และความร่วมมือ
“เราอยากให้สังคมไทยดีกว่าที่เป็นอยู่ ‘Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด’ โครงการสนับสนุนเยาวชนไทยเพื่อสานฝันให้เป็นจริงจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียม ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการเชิญชวนคนไทยร่วมส่งต่อความสุข และสมทบทุน สร้างโอกาสให้กับเยาวชน ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.”ปิยวรรณ กล่าว
การเป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้า ไม่ใช่เพียงการขายของ “เซ็นทรัล รีเทล” อยากช่วยให้เด็กไทยได้รับโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำให้แคบลง โดยหลังจากนี้จะเดินหน้าค้นหาเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะแต่ขาดโอกาส ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ความฝันของเด็กๆ ล้วนมีความหมาย และยังมีเด็กไทยเก่งๆ อีกมากมายที่มีศักยภาพ และสามารถเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ในอนาคตผู้สนใจสามารถรับชมไวรัลคลิป“Gift to Giftedเด็กเก่ง แจ้งเกิด”ได้ที่Facebook Central Retailและร่วมสมทบทุนให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ ผ่านการสแกนQR Codeได้ตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2566 (ทุกการบริจาคผ่านการสแกน QR จะได้สิทธิลดหย่อนเข้าระบบของทางสรรพากรอัตโนมัติ)
ปั้นหมอนักไวโอลีน-สุดยอดนักประดิษฐ์
ในโครงการ “Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด” ได้นำเสนอเรื่องราวในรูปแบบไวรัลคลิป เล่าถึงความฝันของเด็ก 4 คน ที่มีพรสวรรค์และเป็นตัวแทนของเด็กไทยทั้งประเทศที่มีความสามารถ อย่าง
"น้องลิงค์ ด.ญ.ศิรินันท์ ตันติเวส” อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นม.2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) นักไวโอลินตัวน้อย หนึ่งในสมาชิกของวงดุริยางค์เยาวชนไทย (Thai Youth Orchestra : TYO )เล่าว่า เริ่มเรียนไวโอลินตั้งแต่ 5 ขวบ ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ คือ นางเอกในละครที่ดู และได้ขอให้คุณพ่อคุณแม่พาไปเลี้ยงไวโอลีน ซึ่งตอนนี้เรียนและเล่นมาแล้ว 8 ปี โดยระหว่างการเล่นได้มีการแข่งขันไวโอลีนทั้งในและต่างประเทศ
“การเล่นไวไอลีนให้เก่ง ให้ชำนาญ เล่นให้ไพเราะอาจเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าทุกคนมีความฝัน ตั้งใจทำอย่างจริงจังก็สามารถทำได้ โครงการ Gift to Gifted เด็กเก่ง แจ้งเกิด เป็นการช่วยให้เด็กไทยซึ่งมีความเก่ง มีศักยภาพ ได้มีโอกาสเดินตามความฝันของตัวเอง และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม หนูดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเติมความฝัน และสร้างโอกาสให้แก่เพื่อนๆ คนอื่นๆ และในอนาคตหนูตั้งใจจะเป็นหมอเพื่อช่วยผู้คน ช่วยประเทศต่อไป” ด.ญ.ศิรินันท์ กล่าว
เช่นเดียวกับ "ไมกี้ -ด.ช.นิธิยุทธ วงศ์พุทธ" นักเรียนชั้นม.3 สุดยอดนักประดิษฐ์ จากผลงาน “เก้าอี้ช่วยยืน” เพื่อผู้สูงอายุ เล่าว่า เขาเริ่มสนใจสร้างสิ่งประดิษฐ์ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตอนนั้นระหว่างเดินทางกลับบ้าน ได้เห็นคนตาบอดเดินข้ามถนน และบนศีรษะของคนตาบอดมีบาดแผล จึงเดินเข้าไปสอบถามและพบว่าคนตาบอดได้เดินชนป้าย จึงกลับมามองหาวิธีที่จะช่วยคนตาบอด และด้วยความเป็นคนช่างสังเกต อยากรู้อยากทดลอง ได้เริ่มเขียนระบบเซ็นเซอร์และทำเป็นหมวกเซนเซอร์เพื่อมอบให้แก่คนตาบอด
“ส่วนเก้าอี้ช่วยยืนเกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้เห็นคุณยาย ซึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง พยายามลุกขึ้นยืน และไม่สามารถยืนได้ต้องมีคนคอยพยุง จึงประดิษฐ์เก้าอี้ช่วยยืนขึ้นที่สามารถปรับให้คุณยายยืนขึ้นได้อย่างมั่นคง และปลอดภัย โดยสามารถรองรับน้ำหนัก 150 กิโลกรัมได้ ดังนั้น ผมโชคดีที่คุณพ่อคุณแม่คอยสนับสนุน ซึ่งโครงการดังกล่าว จะทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ประเทศพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากคน เมื่อคนเกิดการพัฒนา ประเทศย่อมเกิดการพัฒนาไปด้วย”ด.ช.นิธิยุทธ กล่าว
ทำความเข้าใจ SDGsทั้ง 17 ข้อ
สมาชิกองค์การสหประชาชาติกว่า 193 ชาติ ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) 17 ข้อ เพื่อเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันของกลุ่มสมาชิกในการผลักดันให้ถึงเป้าหมาย และสนับสนุนการระดมเงินทุน เทคโนโลยี การยกระดับศักยภาพของส่วนราชการและองค์กรสาธารณประโยชน์
โดย SDGs ทั้ง 17 ข้อ มีดังต่อไปนี้
1.ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (End poverty in all its forms everywhere)
2. ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตร กรรมที่ยั่งยืน(End hunger, achieve food security and improved nutrition and promote sustainable agriculture)
3. สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย(Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)
4. สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต(Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all)
5. บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน(Achieve gender equality and empower all women and girls)
6. สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลให้มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน(Ensure availability and sustainable management of water and sanitation for all)
7. สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน(Ensure access to affordable, reliable, sustainable and modern energy for all)
8. ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน(Promote sustained, inclusive and sustainable economic growth, full and productive employment and decent work for all)
9. สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม(Build resilient infrastructure, promote inclusive and sustainable industrialization and foster innovation)
10. ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within and among countries)
11. ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน(Make cities and human settlements inclusive, safe, resilient and sustainable)
12. สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน(Ensure sustainable consumption and production patterns)
13. ปฎิบัติการอย่างเร่งด่วยเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น(Take urgent action to combat climate change and its impactsa)
14. อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(Conserve and sustainably use the oceans, seas and marine resources for sustainable development)
15. ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ(Protect, restore and promote sustainable use of terrestrial ecosystems, sustainably manage forests, combat desertification, and halt and reverse land degradation and halt biodiversity loss)
16. ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ(Promote peaceful and inclusive societies for sustainable development, provide access to justice for all and build effective, accountable and inclusive institutions at all levels)
17. เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน(Strengthen the means of implementation and revitalize the Global Partnership for Sustainable Development)