อุตฯยางพาราครบวงจร”คำตอบ ความยั่งยืนและการคืนผืนป่า
อุตสาหกรรมยางพาราในไทยเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญและคู่กับคนไทยมาโดยตลอดล่าสุดการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ บริษัท ยางยั่งยืน จำกัด เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจและแนวทางการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน
เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรองมาตรฐาน
ดังนั้น กยท. จึงเดินหน้าขับเคลื่อนสวนยางพาราของไทยให้เข้าสู่ระบบการรับรองป่าไม้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี ทั้งการรับรองป่าไม้ (Forest Certification) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Forest Management Certification : FM)และ การรับรองกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้และการค้า (Chain of Custody Certification : CoC) ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยว แปรรูป ซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์จากยางพาราผ่านระบบตลาดยางพาราของ กยท. และหน่วยธุรกิจ ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมยางพาราอย่างครบวงจร ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในปี 2565 ที่ผ่านมามูลค่าการค้า “คาร์บอนเครดิต” โตขึ้นถึงจุด 120.3 บาท/ตัน แล้ว ซึ่งถือว่าเติบโตขึ้นมากๆ หากเทียบจากปี 2561 หรือ 2018 ซึ่ง ณ เวลานั้น มูลค่ายังอยู่ที่ 21.37 บาท / ตัน หากมองในมุมมองของประชาชนคนทั่วไปแล้ว วิธีที่ง่ายที่สุด ที่จะมี คาร์บอนเครดิต ได้ นั่นก็คือ การ “ปลูกต้นไม้” หรือ ปลูกป่าเพิ่มคาร์บอนเครดิต ผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เรียกย่อว่า T-VER ประกอบไปด้วย 2 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และขั้นตอนการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาโครงการ T-VER ยื่นมายัง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อบก. เพื่อขอขึ้นทะเบียนหรือรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกรายละเอียดขั้นตอนการพัฒนาโครการ T-VER
ทั้งนี้ ‘คาร์บอนเครดิต’ กำลังกลายเป็นธุรกิจซื้อขายมลพิษที่มีแนวโน้มทำเงินมหาศาลในอนาคต ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างพันธกิจ Net Zero เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้ประกอบการรายใด ที่ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ ก็ยังสามารถทดแทนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ในตลาดโลก
ภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตโลกสำหรับภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตโลก เมื่อปี 2020 มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านดอลลาร์หรือ ประมาณ 12,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 750,000 ล้านบาท ในปี 2030 (พ.ศ.2573)
สำหรับประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ จีน อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่นจากสถิติจาก World Resources ระบุว่าสหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดปีละ 5.7 พันล้านตัน อันดับ 2 คือจีน 3.4 พันล้านตัน อันดับ 3 คือ รัสเซีย 1.5 พันล้านตัน ญี่ปุ่น 1.2 พันล้านตัน อังกฤษ 558ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก อยู่ที่ราว 256 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกที่ถูกปล่อยออกมา ก๊าซเรือนกระจกนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 39% ดังนั้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นหนึ่งในแนวทางช่วยให้ประเทศตัวการปล่อยก๊าซพิษไม่ต้องถูกลงโทษ อย่างไรก็ตาม การลดการปล่อยคาร์บอนโดยตรงเป็นกำลังสำคัญที่จะดูแลโลก ไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นเพียงทางเลือกของทางรอดโลกของเราอย่างหนึ่งเท่านั้น