กระดานเทรดคาร์บอนเครดิตยูเอ็น หนุนเทรนศก.-จ้างงานสีเขียว
ความพยายามแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือ Climate Change จะประสบผลสำเร็จได้ต้องสามารถตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจในโลกแห่งความจริงที่กิจกรรมต่างๆหากไม่มีผลตอบแทนที่เหมาะสมกิจกรรมนั้นๆก็ยากที่จะเดินต่อไปได้ แต่หากเกิดดีมานด์และซัพพลายขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือ “ตลาด”
มมาคือ “ตลาด”
“คาร์บอนเครดิต” หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เกิดจากกิจกรรมของบุคคลหรือองค์กร ดังนั้น เมื่อบุคคลหรือองค์กรทำการปล่อยก๊าซฯออกไปก็ต้องหาสิทธิจากคาร์บอนเครดิตมาชดเชยผ่านกลไกกระดานเทรดคาร์บอนเครดิต หรือตลาดคาร์บอนเครดิต
สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แพลตฟอร์ม FTIXเปิดโครงการ Sandbox ให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program:T-VER) บนแพลตฟอร์ม FTIX ได้เป็นครั้งแรกแล้ว
โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. จะเปิดให้มีการลงทะเบียนเป็นสมาชิกแพลตฟอร์ม FTIXเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมและลงมือทำ (Climate Action) ในการลดก๊าซเรือนกระจก
“ยอมรับว่าแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนยังต้อง ใช้เวลาในการทำงานอีกนาน น่าจะประมาณ 1-2ปีกว่าการซื้อขายจะสมบูรณ์แบบ แต่การเริ่มต้นวันนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะร่วมกันดูแลโลก”
สำหรับสถานการณ์คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ล่าสุดราคาคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ในปี 2565 ปริมาณการซื้อขาย1,187,327(tCO2e)โดยมูลค้าการซื้อขาย 128,489.98 (พันบาท) ราคาเฉลี่ยต่อตัน 108.22 (บาท)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดคาร์บอนเครดิตในต่างประเทศพบว่า ตลาดกลางของ สหประชาชาติ(UN)มีการเสนอโครงการที่ช่วยลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่นโซลาร์ เซลล์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ
โดยแพลตฟอร์มของ UN บริการเครื่องคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ ซึ่งจะมีทั้งปริมาณผลลัพธ์ทางคาร์บอน และราคาขายเบื้องต้นที่สามารถต่อรองราคาได้ หากดีมานด์สูงราคาอาจสูงกว่าที่โครงการนั้นๆ นำเสนอ ในทางกลับกันหากดีมานด์ต่ำ ก็อาจราคาถูกกว่าที่เสนอมาก็เป็นได้
คุณลักษณะหลักของแพลตฟอร์มนี้คือการแสดงโครงการที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศที่ได้รับการรับรองจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC)
ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โครงการเหล่านี้ดำเนินการในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ที่ได้รับใบรับรอง
Certified Emission Reductions (CERs)ว่าเป็นโครงการที่ช่วยลดคาร์บอนได้จริง ออกโดย UNFCCC โดยวัดเป็นตันเทียบเท่า CO2
“ทุกคนสามารถซื้อยูนิตเหล่านี้บนแพลตฟอร์มได้เพื่อชดเชยการปล่อยมลพิษ ทัั้งเพื่อสนับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อโลกเหล่านี้ และเพื่อประโยชน์ด้านธุรกิจ ที่จะนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนเป็นศูนย์ก็ได้”
นอกจากนี้ ด้านการบริจาคในแพลตฟอร์มจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเพิ่มเติมอีกด้วยและยังสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชนที่ดำเนินโครงการเหล่านี้ สร้างความมั่นใจในการสร้างงานและความต่อเนื่อง การปรับปรุงสุขภาพ และผลประโยชน์ร่วมกันอีกมากมาย ไม่เพียงแต่เป็นการดำเนินการด้านสภาพอากาศเพื่อจัดการกับคาร์บอนของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
“เรามีแคตตาล็อกให้ผู้ซื้อเลือกว่าต้องการรับ ใบรับรอง (CER) จากโครงการใด ที่สามารถจัดเรียงตามประเทศหรือภูมิภาค ตามผลกระทบ (สิ่งแวดล้อม สังคม หรือเศรษฐกิจ) หรือตามอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกเขามากที่สุดได้ง่าย และสำหรับบริษัทต่างๆ เพื่อค้นหากิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด”
สำหรับโครงการที่เสนอขายในแพลตฟอร์มจะสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการสีเขียวด้วยการกำหนดราคาต่อหน่วย ซึ่งโครงการนั้นจะได้รับผลกำไรเต็มจำนวนที่มีการซื้อขายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แพลตฟอร์มแต่อย่างใด
จากความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้นำมาสู่ปัญหาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหากทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ก็อาจนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆได้ ตลอดสัปดาห์นี้ 16-20 ม.ค. 2566 สภาเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum : WEF) จะมีการประชุมประจำปี ที่ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ก่อนเปิดงานWEF ได้เผยแพร่รายงาน Jobs of Tomorrow: Social and Green Jobs for Building Inclusive and Sustainable Economies สาระสำคัญบางส่วนระบุถึงการสร้างตลาดและคุณภาพแรงงานใหม่ โดยมีเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาสาระรายงานดังกล่าวมาจากการสำรวจผู้บริหารทั่วโลก 12,000ราย พบว่า กลุ่มเทคโนโลยีการเกษตร การศึกษา และพลังงานจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าในกว่า 120 ประเทศ
“จะมีการจ้างงานใหม่อีก 76 ล้านตำแหน่งและพบว่าในปี 2573 งานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เกษตร การศึกษา สุขภาพและพลังงานจะมีความต้องการสูงขึ้น จากปัจจุบันกรีนจ๊อบดังกล่าวมีสัดส่วนเพียง 1% ของแรงงานทั้งหมด”