8 เทรนด์ "อาหารแห่งอนาคต" สุขภาพดี โลกยั่งยืน

8 เทรนด์ "อาหารแห่งอนาคต" สุขภาพดี โลกยั่งยืน

ในช่วงที่ผ่านมา "อาหารแห่งอนาคต" หรือ Future Food ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย และเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ใหม่มาแรง โดยในปี 2565 พบว่า ไทยมียอดส่งออก อาหารแห่งอนาคต สูงถึง 98,056.78 ล้านบาท

Future Food - อาหารแห่งอนาคต เป็นทางเลือกใหม่ของคนรักสุขภาพ เกิดจากแนวคิดการดูแลโลกผ่านมื้ออาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสร้างสรรค์วัตถุดิบต่างๆ ให้เกิดเป็นอาหารรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รสชาติดี และมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย

 

เดือนม.ค. - ก.ย. 2565 ไทยมี ยอดส่งออกอาหารแห่งอนาคต สูงถึง 98,056.78 ล้านบาท (2,883.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไปสหรัฐอเมริกา เวียดนาม กัมพูชา จีน และเมียนมา (อ้างอิง : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร)

 

8 เทรนด์อาหารแห่งอนาคต

Immunity Boosting คือ การเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายกลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ร่างกายอ่อนแอ (เช่น การรับประทานกิมจิเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร)

Personalized Nutrition คือ การออกแบบโภชนาการให้เหมาะกับร่างกายของแต่ละคน โดยประเมินจากรูปแบบการใช้ชีวิต สุขภาพ และสารพันธุกรรม (เช่น ร้านอาหาร Vita Mojo ใน UK ร่วมมือกับ DNA fit ผู้เชี่ยวชาญด้าน HealthTech นำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้บริโภค เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับ DNA หรือ ร้านอาหาร Sushi Singularity ในญี่ปุ่น จะส่งชุดตรวจ DNA ให้ลูกค้าหลังการจอง อาหาร เพื่อปรับส่วนผสมของซูชิให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด)

 

Well-Mental Eating คือ การกินเพื่อสุขภาพจิตใจ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยสารที่ช่วยลดความเสียหายของอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง (เช่น CBD-Infused อาหารที่ผสมสารสกัดจากกัญชา มีสรรพคุณช่วยให้รู้สึกสงบและลดความวิตกกังวล หรือ Probiotic ที่มักนำมาใช้ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า)

 

Gastronomy Tourism คือ อาหารพื้นบ้าน หรืออาหารประจำถิ่น โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหารนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเดินทาง นักท่องเที่ยว 53% มักเลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม (เช่น แกงไตปลา อาหารพื้นบ้านภาคใต้ และข้าวซอย อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ)

 

Elderly Food คือ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ คาดการณ์ว่าปี 2025 ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 25% (เช่น 3D Printed Food การขึ้นรูปอาหารที่ช่วยให้กลืนง่ายและย่อยง่าย หรือ Elderly Snack ขนมขบเคี้ยวที่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย)

 

Biodiverse Dining คือ การรับประทานอาหารในหมวดหมู่เดียวกันที่มีความแตกต่างทางสายพันธุ์ด้วย (เช่น กะหล่ำปลีและบ๊อกฉ่อย จัดเป็นพืชตระกูลกะหล่ำเหมือนกัน อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกเหมือนกัน แต่กะหล่ำปลี มีกรดทาร์ทาริก ช่วยยับยั้งไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน ส่วนบ๊อกฉ่อยมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง)

 

Newtrition คือ โภชนาการรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยลดการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต โดยไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ เลือกบริโภคเฉพาะอาหารที่มาจากผัก ผลไม้ และธัญพืช 100% (เช่น Plant Based Meat อาหารโปรตีนทางเลือกที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์แต่ไม่ได้ผลิตจากเนื้อสัตว์)

 

Food Waste Rescue คือ การแก้ปัญหาขยะอาหาร ซึ่งอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันกลายเป็นขยะมากถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก โดยจะมีอาหาร 30-50% ไม่ถูกรับประทาน สูญเสียไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เช่น โครงการรักษ์อาหาร ของมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ มูลนิธิกู้ภัยอาหารแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อรับบริจาคอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ภัตตาคาร หรือร้านค้าปลีกตรวจสอบความสะอาด ปลอดภัย ก่อนนำไปแจกจ่ายให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือ สถานพักพิง)

 

ที่มา:ว.การแพทย์บูรณาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (CIM DPU)

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์