การบรรลุเป้าหมาย SDG : อันดับไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จแบบบูรณาการ

การบรรลุเป้าหมาย SDG : อันดับไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จแบบบูรณาการ

นับเป็นระยะทางกว่าครึ่งทาง นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ที่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติได้รับรองวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG)

ที่กำหนดให้ภายในระยะเวลา 15 ปี ถึงปี 2573 (ค.ศ. 2030) จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 17 เป้าหมาย 169 เป้าหมายย่อย และ 230 ตัวชี้วัด

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเน้นให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลทั้ง 3 มิติของการพัฒนา ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความครอบคลุมทางสังคม และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบบูรณาการและเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดเป็นรูปธรรมภายในกรอบเวลาที่กำหนด

  จวบถึงวันนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการในแต่ละด้านได้ระดับหนึ่ง พิจารณาจาก SDG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่จัดทำโดยมูลนิธิ Bertelsmann และเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN)

ที่ได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดจากรายงาน ‘Sustainable Development Report 2022 (SDR 2022)’ ได้รายงานสถานะของประเทศไทยว่า ได้คะแนน 74.13 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และอยู่ในอันดับที่ 44 จาก 163 ประเทศ

การบรรลุเป้าหมาย SDG : อันดับไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จแบบบูรณาการ

หากเปรียบเทียบอันดับกับประเทศในเอเชีย ประเทศไทยเป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่น (อันดับ 19 คะแนน 79.58 คะแนน) และประเทศเกาหลีใต้ (อันดับ 27 คะแนน 77.90)

หากเปรียบเทียบกับชาติสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงที่สุด ตามมาด้วยเวียดนาม (อันดับ 55 คะแนน 72.76) สิงคโปร์ (อันดับที่ 60 คะแนน 71.72) และมาเลเซีย (อันดับ 72 คะแนน 70.38)   

ในแต่ละเป้าหมาย SDG Index นำเสนอเป็นสีเพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานของแต่ละประเทศในแต่ละเป้าหมายในระดับต่าง ๆ โดย

สีเขียว หมายถึง บรรลุเป้าหมายแล้ว

สีเหลือง หมายถึง ยังมีความท้าทายบางส่วนอยู่

สีส้ม หมายถึง ยังมีความท้าทายที่สำคัญอยู่

สีแดง หมายถึง ยังมีความท้าทายที่เป็นหลักสำคัญสูงอยู่

นอกจากนั้น ในรายงานยังมีการระบุถึงแนวโน้มการพัฒนาของแต่ละเป้าหมายในลักษณะลูกศร ที่สะท้อนแนวโน้มการพัฒนาที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายว่ามีทิศทางที่จะบรรลุได้ในระดับดี ปานกลาง ไม่เปลี่ยนแปลง หรือลดลง

  หากพิจารณาในส่วนของอันดับและคะแนนอาจทำให้เกิดความเข้าใจว่า ประเทศไทยดำเนินการมาเกินกว่าครึ่งทางและบรรลุไปได้มากแล้ว

แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปในแต่ละเป้าหมาย จะพบว่า ประเทศไทยมีเพียงเป้าหมายเดียวที่มีสถานะสีเขียว คือ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (No Poverty)

เป้าหมายที่มีสถานะสีเหลือง 1 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Quality Education)

เป้าหมายที่มีสถานะสีส้ม 10 เป้าหมาย และสถานะสีแดง 5 เป้าหมาย

การบรรลุเป้าหมาย SDG : อันดับไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จแบบบูรณาการ

หากพิจารณาเป้าหมายย่อยของเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนให้หมดไป จะเป็นขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป

ในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน สัดส่วนประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนสากล จำแนกตาม เพศ อายุ สถานะการจ้างงาน และ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ (ชุมชนเมือง/ชนบท)

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลหลักมาจากการขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง

  แต่หากพิจารณาในมิติของความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในระดับที่ค่อนข้างสูง ทั้งมิติของรายได้และความมั่งคั่ง รวมถึง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ 

แม้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่เหตุผลหลักยังมาจากเงินช่วยเหลือจากภาครัฐและเงินโอนเพื่อการดำรงชีพ ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่ยั่งยืนและส่งผลต่อฐานะการคลังในระยะยาว และไม่สะท้อนผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นของแรงงานโดยตรง

นอกจากนั้น ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและนโยบายการบริหารของไทยมีความกระจุกตัวสูง

เห็นได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหรือภาคตัวเมืองมากกว่า ทำให้เกิดความแตกต่างทางรายได้ระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท

การบรรลุเป้าหมาย SDG : อันดับไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จแบบบูรณาการ

หรือแม้แต่การกระจุกตัวของการพัฒนาในกรุงเทพมหานครมากกว่าในภูมิภาค

   นอกจากนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งในมิติของโอกาสทางการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมและมีคุณภาพแตกต่างกันมาก สิทธิแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเติบโตช้ากว่าค่าครองชีพทางเศรษฐกิจ

กำไรกระจุกตัวในบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการรายเล็กแข่งขันยาก และภาครัฐยังขาดมาตรการสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ

รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากผลกระทบจากโควิดส่งผลสูงกว่าต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มแรงงานนอกระบบ

การขาดรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง ระบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ไม่เพียงพอ และการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงขึ้น

  นอกจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและนโยบายการบริหารของไทยที่เป็นปัจจัยหลักต่อความเหลื่อมล้ำแล้ว การเมืองของไทยเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของปัญหา

ด้วยการขาดกลไกที่ไม่เชื่อมโยงกับความรับผิดรับชอบต่อส่วนรวม (Accountability) ความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในผลที่เกิดจากสถาบันการเมืองขาดประสิทธิภาพ  เสรีภาพของสื่อที่จะสะท้อนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบการทำงานของรัฐยังทำงานได้ไม่เต็มที่  

อำนาจทางธุรกิจมีความกระจุกตัวอย่างมาก การแข่งขันในภาคเอกชนถูกลดทอน การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นโดยง่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน และกฎหมายกำกับการแข่งขันที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

การบรรลุเป้าหมาย SDG : อันดับไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จแบบบูรณาการ

  ยุทธศาสตร์การพัฒนาและนโยบายจากภาครัฐ ที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาให้มีลักษณะบูรณการและเชื่อมโยงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติจึงเป็นสิ่งที่คาดหวังจากการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 

ในช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และนำเสนอนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ ควรมุ่งเน้นการพัฒนาที่จะสร้างสมดุลทั้งภายในและภายนอก

การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายใหญ่ ที่จะถ่ายทอดลงมาสู่ยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนา ที่จะต้องสร้างสมดุลและการจัดการกับปัญหาเรื้อรังในประเทศ เป็นประเด็นที่ผู้เสนอนโยบายต้องให้ความสำคัญ

ตัวอย่างนโยบายที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนสำหรับภาคเอกชน สร้างกลไกทางเศรษฐกิจที่ทำให้การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม เปิดโอกาสทางธุรกิจให้แก่ทุกคนให้สามารถแข่งขันได้

การใช้มาตรการด้านการคลัง กลไกทางด้านภาษีที่จะนำมาสู่การกระจายรายได้และความมั่งคั่ง การมีระบบและกลไกสวัสดิการของรัฐ ที่ทำให้คนเข้าถึงการศึกษา บริการทางสาธารณสุข แหล่งเงินทุน ที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

รวมถึงการมีโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทั้งทางตรงและคอร์รัปชันเชิงนโยบาย และกลไกกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลังไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างเหมาะสม

การบรรลุเป้าหมาย SDG : อันดับไม่ได้ชี้วัดความสำเร็จแบบบูรณาการ

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้คนไทยพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว ยกระดับและปรับทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ  (upskill and reskill ซึ่งจะเป็นมาตรการสร้างความเติบโตอย่างทั่วถึงได้ดีที่สุด รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอื่นที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

  การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงมิติของการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การออกแบบนโยบายภาครัฐ และการวางแนวทางขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

คือ จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสังคม และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยต้องเดินหน้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน.

รศ.ดร. ณดา จันทร์สม

คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

[email protected]