เกษตรสีขาวดูแลโลกสีเขียว ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน
“White Agri-World” คือหนึ่งในความพยายาม ของสยามคูโบต้า ที่จะทำให้ภาคการเกษตรเป็น NET ZERO ด้วยนวัตกรรมที่ทำให้“เครื่องจักรกลการเกษตร”เป็นได้มากกว่าแค่เครื่องจักร
จูนจิ โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผย นโยบาย Global Major Brand (GMB) คูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ในการดำเนินธุรกิจก้าวสู่ปีที่ 45 สยามคูโบต้าจะยังมุ่งมั่น ให้การสนับสนุนภาคเกษตรของไทย ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศในทุกภาคส่วน ทั้งลูกค้า บริษัทคู่ค้าทางธุรกิจ รวมไปถึงพนักงาน พร้อมเร่งสนับสนุนภาคเกษตรไทยให้เป็น Net Zero ในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
สำหรับในปี 2565 ที่ผ่านมา สยามคูโบต้ามีผลการดำเนินงานตรงตามเป้าหมายที่คาดไว้โดย มียอดขายอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2566 นี้ สยามคูโบต้าได้ตั้งเป้าหมายยอดขายรวมไว้ที่ 67,000 ล้านบาท ซึ่งจะเติบโตเพิ่มขึ้น 7%
วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ภาคการเกษตรของไทยในรอบปีที่ผ่านมาว่า สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและทำการผลิตมากขึ้น อีกทั้งราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรสนใจซื้อเครื่องจักรฯ สำหรับเพาะปลูกและบำรุงดูแลรักษามากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่อนคลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว และนโยบายของภาครัฐมีการส่งเสริมยกระดับเกษตรกรไทยสนับสนุน Smart Farming ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการ
ในปี 2566 นี้สยามคูโบต้า จึงจะพัฒนาสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มพืช ขยายธุรกิจบริการด้านนวัตกรรมการเกษตรยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยร่วมมือกับ บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และกลุ่ม Startup มหาวิทยาลัย ภาครัฐ และเอกชน ขยายตลาดใหม่และพัฒนาศักยภาพผู้แทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศรองรับการเติบโตของตลาด ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้แข็งแรงและยั่งยืน มุ่งพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) และ NetZeroEmission
ในส่วนของการพัฒนาองค์กรและสินค้าของสยามคูโบต้า ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายการทำเกษตรของโลกเกษตรใหม่ เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อไปสู่ โลกเกษตรสีขาว White Agri-World ภายใต้แนวคิด “ใช้น้อย ได้มาก เพื่อความยั่งยืน” ที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเกษตรอย่างรับผิดชอบผ่านส่วนผสมที่เป็นกุญแจสำคัญ
ได้แก่ White Machinery นวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ White Solutions นวัตกรรมวิธีการทำเกษตรรูปแบบใหม่ White Corporation องค์กรสีขาวที่มุ่งเน้นสู่ความยั่งยืน โดยให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับโลกเกษตรเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตและโลกไปในทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ กุญแจแห่งความสำเร็จ( Key Driver) ที่จะเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการเป็นผู้นำด้าน NET ZERO Emission ในภาคการเกษตร โดยรณรงค์ให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งภายในองค์กรและภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การลดการปล่อยมลพิษในกระบวนการผลิต การจัดการน้ำและปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาโซลูชันเกษตรแม่นยำที่ลดการปล่อยคาร์บอน โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อขยายผลสู่ระดับประเทศ
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาคูโบต้าฟาร์ม ในการนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์การทำเกษตรคาร์บอนต่ำ และเพิ่มพื้นที่สร้างประสบการณ์ใหม่อีก 2 โซน ได้แก่ โซน For Earth For Life และ โซนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการขับเคลื่อน Net Zero Emission ในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์
ด้านพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ กล่าวว่า สยามคูโบต้าเตรียมรุกตลาดภายใต้ 2 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1. กลยุทธ์เน้นขยายตลาดใหม่ คือ กลุ่ม Non Farmer (เกษตรกรมือใหม่) เจาะกลุ่มผู้ที่กำลังเริ่มต้นสนใจการเกษตรได้ทดลองใช้งานเครื่องจักรฯ กลุ่มพืชมูลค่าสูง (High Value Crop) นำเสนอประสิทธิภาพในรูปแบบทำน้อยแต่ได้มาก รองรับการขยายตัวของกลุ่มพืชที่สูงถึง 16% โดยขยายตลาดแทรกเตอร์ต้นกำลังในการต่ออุปกรณ์เพื่อทำงานได้หลากหลาย กลุ่มเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart Farmer) จับเทรนด์ผู้ที่สนใจนำนวัตกรรมมาใช้กับการทำเกษตรของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 38%
2. กลยุทธ์สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนเกษตรกร ส่งเสริมให้เกิดเป็น Smart Farmer ที่เข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างทั่วถึงทดแทนการใช้แรงงาน ภายใต้โครงการ “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ” ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนไปแล้ว 168 กลุ่ม ผ่านกิจกรรมคูโบต้าเชื่อมเครือข่ายชุมชน ในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีคำพูดที่ว่า“เทคโนโลยี”มาไวไปไว แต่ภาคการเกษตรเทคโนโลยีกำลังเป็นหมุดหมายใหม่ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืนทั้งต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ตามโมเดล “White Agri-World”