กรม Climate Change … จำเป็นแต่รอก่อนได้ไหม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change นี้เป็นเรื่องสำคัญระดับโลกที่ต้องช่วยกันแก้ไขใครๆ ก็รู้ ประเทศไทยเองก็ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับชาวโลก จึงได้พยายามตั้งกรม Climate Change
กรม Climate Change (เบื้องต้นขอใช้ชื่อนี้ไปก่อนเพื่อความง่ายในการสื่อสาร) จะจัดตั้งขึ้นมาโดยเปลี่ยนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) มาเป็นกรมใหม่นี้
แต่ถ้ามันสำคัญและดีเช่นนี้ ทำไมเราถึงมาบอกให้รอก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อนตั้งกรมนี้ในเร็ววัน เรามาดูเหตุผลและข้อคิดเห็นของเรา ที่แน่นอนย่อมมีคนเห็นต่าง ว่าเป็นอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร
ความสัมพันธ์ของ Climate Change กับผู้คน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม นักลงทุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในการผลิตและปล่อยสารก๊าซเรือนกระจกหรือ GHGs (Greenhouse Gases)
หรือชาวนาที่ทำนาแล้วปล่อยสาร GHGs นี้ออกมาแบบที่ไม่รู้ว่าตัวเองก็ปล่อยเช่นกัน หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องขับรถ ถึงไม่ขับรถก็ต้องเดินทาง ซึ่งปล่อยสารคาร์บอนอันเป็น GHGs ตัวสำคัญออกมาในทุกกิโลเมตรของการเดินทาง
หรือแม้กระทั่งขยะที่ต่างพากันทิ้งออกมาทุกวันนั้นเมื่อมีการย่อยสลายก็จะเกิดการปล่อยคาร์บอนออกมาด้วยเช่นกัน ฯลฯ
ดังนั้นจึงชอบแล้วที่รัฐและรัฐบาลไทยควรต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ การตั้งกรม Climate Change เป็นคำตอบที่สำคัญมากคำตอบหนึ่ง ซึ่งเราขอยืนยันอย่างแข็งขันว่าเราเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์กับการตั้งกรมนี้ แต่…..
หากกรมนี้ตั้งขึ้นมาแล้วทำงานไม่ได้จริงตามที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้ จะเกิดอะไรขึ้น
เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้มันใหญ่และสำคัญกว่าที่หลายๆคนคิดและคาดเดาเอาไว้มากมาย คือ นอกจากมันจะมีผลต่อฤดูกาลที่ทำให้เกิดภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม ผลเกษตรตกต่ำ เกิดโรคอุบัติใหม่ที่วงการแพทย์ไม่รู้จัก ฯลฯ แล้ว
มันยังมีผลกระทบต่อการอยู่รอดของประเทศไทยในเชิงเศรษฐกิจด้วย เพราะทั้งโลกกำลังสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้เหตุผลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นข้ออ้างในการสร้างกติกาเพื่อความได้เปรียบทางเศรษฐกิจของเขา
เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM)ของยุโรปและ Clean Competition Act (CCA)ของอเมริกา
ดังนั้น หากตั้งกรมฯ นี้ขึ้นมาแล้วทำงานไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ พันธสัญญาที่ประเทศไทยไปลงนามไว้ในระดับนานาชาติว่าจะทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero GHGs emission)เมื่อปีนั้นปีนี้ ไม่เกิดขึ้นจริง
ความเสียหายต่อประเทศจะไม่ใช่เพียงระดับแสนล้าน แต่เป็นได้ถึงหลายล้านล้านบาทต่อปีได้อย่างไม่ยากเย็น
ดังนั้นเราจะปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด
ประสบการณ์จากเรื่องใหญ่ๆ ที่ปฏิบัติไม่ได้จริง
จะขอยกตัวอย่างของการปฏิบัติไม่ได้จริงตามที่ตั้งใจไว้ทั้งที่มีผลกระทบมากสักสองเรื่อง คือ เรื่อง PM2.5 และเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง
ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เป็นสภาวการณ์ที่ ณ ปัจจุบันเริ่มมีนักวิชาการผูกโยงและชี้ให้เห็นว่ามันเกี่ยวเนื่องกับปัญหา climate change กันแล้ว ปัญหานี้มาจากหลายสาเหตุทั้งเรื่องโรงไฟฟ้า การจราจร การเผาขยะ การเผาซากพืชจากการเกษตร การส่งผ่านฝุ่นข้ามแดน ฯลฯ
ซึ่งแต่ละประเด็นมีกรมกองและกระทรวงที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป และเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของทุกคนแล้วว่ามันไม่เวิร์ค สาเหตุก็เพราะเป็นทั้งไม่ได้บังคับใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเต็มที่และไม่มีการบูรณาการระหว่างกัน
แต่สาเหตุที่ใหญ่ที่สุดคือไม่มีเจ้าภาพหลักในการสั่งการ แม้รัฐบาลกลางจะออกมาพูดตลอดในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารประเทศว่าต้องทำ ต้องทำ แต่ผลสัมฤทธิ์ก็ยังไม่เกิดขึ้น
อีกตัวอย่างคือเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง ปัญหามลพิษในพื้นที่มีมาอย่างยาวนาน จนศาลได้พิพากษาสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประกาศพื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมอย่างน้อย 4 แห่งเป็นเขตควบคุมฯเมื่อปีประมาณ 2553 หรือ 13 ปีที่แล้ว
แต่ 13 ปีผ่านไปปัญหามลพิษก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ ประชาชนในพื้นที่ยังเดือดร้อนและร้องเรียนอยู่เนืองๆ
ผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตีค่าแบบไม่มีตัวเลขใดๆ มาอ้างอิง คงไม่หนีเป็นหมื่นๆล้านบาทต่อปี และเป็นเช่นนี้มาตลอดทุกปี
ทั้งที่หน่วยงานระดับนโยบายที่ดูแลเรื่องนี้คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีกรรมการระดับนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (มอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแทน) และมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายกระทรวงเป็นกรรมการ จึงควรจัดการได้เบ็ดเสร็จแต่ก็ยังไม่สำเร็จ
ฉะนั้นถ้าเอา 2 กรณีนี้เป็นตัวอย่าง เราก็อาจต้องมาพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าหากตั้งกรม Climate Change นี้ขึ้นมาแล้วไม่มีผลสัมฤทธิ์จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลกระทบในภาพรวมเป็นหลายล้านล้านบาทไปอย่างยาวนาน
เราควรจะตั้งสติแล้วหันมาวิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนจะดีกว่าเร่งตั้งไปทั้งที่ยังไม่พร้อมหรือไม่
กรม Climate Change นี้ยังไม่พร้อมเพราะอะไร
ตามความเข้าใจของเรา เราคิดว่ามีเหตุผลอยู่อย่างน้อย 4 ประการ คือ
(1) เรื่องมันใหญ่กว่างานในระดับกรมฯ มากมายนัก ก็ขนาดเป็นกรรมการระดับชาติยังมีปัญหาดังที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น แล้วองค์กรระดับกรมฯ เช่นว่านี้จะไปทำอะไรได้มาก ลางร้ายจึงพอจะมองเห็นได้อยู่มากทีเดียว
(2) เรื่องนี้มีงานทางเทคนิคอยู่มากทั้งเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน ฯลฯ กรมฯใหม่ที่ตั้งใจว่าจะให้มารับผิดชอบเรื่องนี้ยังมีความรู้ความชำนาญไม่มากพอ
(3) ถ้าเช่นนั้นก็ต้องให้บุคลากรในกรมใหม่นี้ไป reskill และ upskill ของตนเอง บางคนคงแนะนำเช่นนั้น แต่เรื่องนี้(นัยตามข้อ 2) มันยากเกินกว่าที่จะทำได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ อย่าลืมว่าในเรื่องนี้เวลามันไม่ค่อยท่าแล้ว
(4) จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในกรมกองที่จะต้องถูกปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจมาเป็นคนของกรมใหม่ อาจจะถึงร้อยละ 70 ที่ไม่อยากไป และคนที่ถูกบังคับให้ไปโดยไม่สมัครใจก็คงทำไปตามเกณฑ์และข้อบังคับที่บอกมา นวัตกรรมและความคิดบุกเบิกที่สำคัญมากในเรื่องนี้จึงคงยากที่จะเกิดขึ้นได้
ข้อเสนอแนะ
จากการวิคราะห์ข้างต้น เราอยากจะขอเสนอแนะแก่ทั้งภาครัฐและภาคการเมือง ดังนี้
(1) ต้องคิดจัดตั้งองค์กรที่ใหญ่กว่าระดับกรมที่มีอำนาจจำกัด
(2) องค์กรนี้ต้องเป็นระดับประเทศ มีอำนาจสั่งการได้เต็ม มีกฎหมายเป็นของตัวเอง มีบทลงโทษที่ชัดเจนหากไม่ทำตามคำสั่ง สามารถบังคับใช้กับทุกกระทรวง
(3) สืบเนื่องจากข้อ 2 คือ ต้องมีพระราชบัญญัติเป็นของตัวเอง
(4) มีการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เพียงพอแก่องค์กรใหม่นี้ โดยต้องคิดว่าเป็นงบลงทุน มิใช่ค่าใช้จ่าย
(5) หน่วยงานใหม่นี้มีความสำคัญมากต่อประเทศ มีโอกาสเติบโตสูง น่าจะมีคนที่สนใจมาทำงานที่นี่ แต่ไม่ควรบังคับให้คนที่ไม่อยากมาต้องมา
ควรจะเปิดกว้างให้ข้าราชการที่สนใจย้ายมาด้วยสมัครใจ รวมทั้งเปิดให้คนภายนอกที่มีความรู้ความชำนาญเรื่องนี้สมัครเข้ามาได้ด้วย
เราหวังว่าผู้มีอำนาจในการบริหารและจัดการประเทศทั้งในขณะนี้และในอนาคตที่จะตามมา จะรับฟังข้อคิดนี้และนำไปพิจารณาตามที่เห็นสมควร ขอขอบคุณครับ