เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ | วิทยากร เชียงกูล
ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และปัญหามลภาวะในทุกด้าน ต้องเข้าใจเรื่อง “เศรษฐศาสตร์แนวเพื่อระบบนิเวศ” ที่ต่างไปจากเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมมาก จึงจะแก้ปัญหาได้ทั้งระบบอย่างแท้จริง
เศรษฐศาสตร์แนวใหม่นี้มองว่า ระบบเศรษฐกิจเป็นเพียงระบบย่อยของระบบนิเวศโลก ซึ่งรวมทั้งป่า พื้นดิน แหล่งน้ำ ชั้นบรรยากาศรอบโลก ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีพอยู่ได้
ระบบนิเวศโลกนั้นมีฐานทรัพยากรที่มีขีดจำกัด คือถูกใช้หมดไปได้ หรือบางอย่างเช่น ปลาในทะเล ระบบธรรมชาติผลิตทดแทนใหม่ได้ในระดับหนึ่ง แต่มนุษย์เราจะต้องรู้จักใช้อย่างเหมาะสม
คือไม่มากเกินไป ไม่เร็วเกินไปกว่าอัตราผลิตทดแทนขึ้นใหม่โดยธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาตินั้นเป็นทุนประเภทหนึ่ง ที่เป็นของมนุษย์ทุกคนร่วมกัน
ระบบเศรษฐกิจต้องอาศัยทุนทางธรรมชาติ - ป่าไม้ มหาสมุทร แหล่งน้ำ ปลา พืชพันธุ์ที่เป็นอาหาร ยา วัตถุดิบ แร่ธาตุ พลังงานจากฟอสซิล (ซากดึกดำบรรพ์) ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลที่สูงกว่าทุนที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น โรงงาน เครื่องมือเครื่องใช้ถนนหนทาง เขื่อน ฯลฯ มากมายหลายเท่า
ทุนทางธรรมชาตินั้นส่วนใหญ่มีจำนวนที่แน่นอนแบบจำกัดหลายอย่าง เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน ถ้าเราใช้หมดทั่วทั้งโลกแล้วจะหมดไปจากโลกนี้เลย ไม่สามารถฟื้นฟูนำกลับมาใช้ใหม่ได้
บางอย่างเช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ ปลา สิ่งมีชีวิต ฯลฯ จะฟื้นฟูนำกลับมาใช้ใหม่ได้เฉพาะในกรณีที่มนุษย์รู้จักใช้ในปริมาณที่เหมาะสมสอดคล้องกับวงจรชีวิตของธรรมชาติ
แต่ถ้ามนุษย์ใช้บางอย่างมากเกินไป (และรวดเร็วเกินไป) จนทำให้ระบบธรรมชาติผลิตทดแทนหรือฟื้นฟูใหม่ได้ไม่ทัน จะส่งผลเสียหายร้ายแรงถึงขั้นทำลายสิ่งมีชีวิตบางชนิดพันธุ์ให้สูญไปเลยได้
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมีทั้งต้นทุน (ค่าใช้จ่าย) ทั้งทางธรรมชาติและต้นทุนทางสังคม เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายรวมจะยิ่งสูงขึ้น จนผลตอบแทนรวมที่คนทั้งสังคมได้รับกลับลดน้อยลง
เศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นเป้าหมายผลผลิต/กำไรสูงสุดของเอกชนนั้น เป็นตัวการทำลายธรรมชาติสภาพแวดล้อม และสร้างความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจสังคมในอัตราสูงมาก
ถ้าคำนวณต้นทุน 2 ประเภทนี้ด้วยให้ครอบคลุมตามความเป็นจริง กำไรสูงสุดของธุรกิจเอกชนที่คิดแต่ต้นทุนที่ตนได้ลงไปนั้นกลับไม่คุ้มต้นทุนทางธรรมชาติและต้นทุนทางสังคมของคนทั้งประเทศ/โลก
การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีควรมีเป้าหมายเพื่อความอยู่ดีกินดี/คุณภาพชีวิต ของคนทั้งหมดต้องแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมแบบพอเพียงเป็นขั้นต่ำ และรักษา/ฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติสภาพแวดล้อมให้คนเราสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างประสานกลมกลืนกับระบบธรรมชาติ มนุษย์จึงจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนจริง
เศรษฐกิจแบบยั่งยืน หมายถึงเศรษฐกิจชนิดที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้จนถึงรุ่นลูกหลาน เน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพชีวิต/สังคม
เช่น การพัฒนาการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความบันเทิงที่สร้างสรรค์ ฯลฯ ซึ่งสามารถให้ความสุข ความพอใจ และอยู่ได้อย่างคงทนยั่งยืนกว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นการเติบโตทางปริมาณของสินค้า/บริการ
ความยั่งยืน หมายถึงว่าปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตว่า ควรจะอยู่ในขอบเขตที่สภาพแวดล้อมมีขีดความสามารถที่จะป้อนวัตถุดิบได้ และสามารถรองรับของเสียจากผลผลิตขั้นสุดท้ายได้
โดยไม่ทำให้ทั้งระบบนิเวศเกิดการขาดความสมดุล และโดยไม่เพิ่มมลพิษหรือเพิ่มในอัตราต่ำที่สุด
ในโลกเศรษฐกิจมีทุนที่สำคัญอยู่ 2 ประเภท คือ ทุนธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ แร่ธาตุ หลังงาน และทุนที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เครื่องจักร เครื่องทุ่นแรงต่างๆ
เราอาจคิดถึงต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรมด้วยก็ได้ แต่ถ้าแยกเป็น 2 ประเภทข้างต้น จะเห็นประเด็นได้ชัดกว่า
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์แนวทุนนิยมอุตสาหกรรมมองเรื่อง การเพิ่มการจับปลาโดยการสร้างเรือหาปลาให้มากขึ้นหรือทำเรือให้ใหญ่ขึ้น มีประสิทธิภาพในการจับเพิ่มขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศ มองว่า การเพิ่มเรือจับปลาไม่มีประโยชน์ ถ้าประชากรปลาในมหาสมุทรเหลือน้อยลงเพราะการจับปลาโดยรวมนั้นมากเกินไป
เราจำเป็นที่จะต้องจับปลาให้น้อยลง เพื่อที่ประชากรปลาที่เหลืออยู่จะสามารถผลิตลูกหลานให้ได้มากและทันพอ ที่ชาวประมงรุ่นต่อไปยังคงมีปลาให้จับไปเป็นอาหารได้
แม้การเพิ่มเลี้ยงปลาเป็นอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ทำได้ด้วยเช่นกัน แต่ก็มีต้นทุน (ค่าใช้จ่าย) ในการใช้น้ำ อาหาร และการก่อมลภาวะ ในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ โดยไม่มีต้นทุน (ค่าใช้จ่าย) ทั้งธรรมชาติและสังคม
นโยบายเศรษฐกิจที่จะรักษาระดับทุนทางธรรมชาติให้คงอยู่ในระยะยาวได้ คือการใช้ระบบกำหนดโควตาการใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติในปริมาณที่สอดคล้องกับขีดความสามารถของระบบนิเวศที่จะฟื้นฟูธรรมชาติขึ้นได้ใหม่
และสามารถดูดซับมลพิษได้ เช่น ลดการตัดป่าไม้ลง รักษาและเพิ่มป่าไม้ให้มากพอที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นจำนวนหนึ่งได้
เราต้องคิดใหม่ว่า ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นทรัพย์สินหายากที่มีต้นทุนทางสังคม ที่ระบบเศรษฐกิจจะต้องคิดราคาซื้อขายกันเหมือนสินค้าอื่นๆ แต่พวกนายทุน (และรัฐบาลนายทุน) ชอบถือว่าธรรมชาติเป็นของได้มาฟรีๆ
ทั้งที่ความจริงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทุกอย่างเป็นทรัพย์สินของส่วนรวม ที่ธุรกิจเอกชนควรจะต้องเป็นผู้จ่ายให้แก่ส่วนรวม
บางประเทศมีการใช้ระบบกำหนดเพดานการใช้วัตถุดิบบางอย่างและการเก็บภาษีการสร้างมลพิษ เช่น การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (การจ่ายค่าชดเชยกรณีที่ธุรกิจไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ได้ตกลงในข้อตกลงพิธีสารเกียวโต)
การซื้อขายการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นไปในบรรยากาศ, การกำหนดโควตาการจับปลาของเรือประมงแต่ละลำโดยรัฐบาลนิวซีแลนด์
นี่คือตัวอย่างของการใช้บทบาทของกลไกตลาด ควบคู่ไปกับนโยบายรัฐบาลในการจำกัดการใช้ทุนทางธรรมชาติ และการทำลายสภาพแวดล้อม
การใช้กลไกตลาดแนวนี้ยังมีข้อจำกัดคือ บริษัทรวย คนรวยสามารถที่จะยอมจ่ายบางส่วนเพื่อประโยชน์/กำไรของพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจึงยังคงผลิต บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยหลายอย่างที่ทำลายสภาพแวดล้อม/ระบบนิเวศต่อไปได้
ลำพังกลไกตลาดไม่สามารถกำหนดขนาดปริมาณการผลิต/กิจกรรมของระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับระบบนิเวศ ที่จะทำให้สังคมที่จะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้
เราจะต้องใช้นโยบายรัฐบาลที่เน้นการอนุรักษ์/ฟื้นฟูระบบนิเวศเข้ามากำหนด เช่น กำหนดเพดาน โควตา ฯลฯ ด้วย จึงจะป้องกันลดการผลิตแบบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมลงได้จริงๆ.