"ชไนเดอร์" ถก 'บิ๊กคอร์ป' เปิด 6 พันธกิจยกระดับ 'เอสเอ็มอี' สู่ 'Net-Zero' 2050

"ชไนเดอร์" ถก 'บิ๊กคอร์ป' เปิด 6 พันธกิจยกระดับ 'เอสเอ็มอี' สู่ 'Net-Zero' 2050

“ชไนเดอร์” ตั้งวงถกซีอีโอบิ๊กคอร์ป ชี้ยกระดับซัพพลาย-เอสเอ็มอี กุญแจการพัฒนาอย่างยั่งยืน SCBx-WHAชี้ ธุรกิจเฟ้นกลไกมุ่งคาร์บอนศูนย์ “แสนสิริ-ซีพีเอฟ” แชร์แผนหนุนรายย่อยเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน “เนชั่น” ย้ำความสำเร็จธุรกิจต้องคู่ความรับผิดชอบต่อสังคม

key point 

  • ซัพพลาย-เอสเอ็มอี กุญแจการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
  • การพัฒนา“กรีนไฮโดรเจน”
  • ส่งต่อความสำเร็จเพิ่มทวีคูณ
  • เอสเอ็มอีไม่เข้าใจเรื่องความยั่งยืน

ความสำเร็จของธุรกิจในอดีตคือ ผลกำไรเท่านั้น แต่ในปัจจุบันคำว่า “ความยั่งยืน” คือ ความสำเร็จอย่างแท้จริง ซึ่งธุรกิจเดียวไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ แต่ต้องมีคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนที่มีผู้ประกอบการขนาดกลาง และย่อม หรือเอสเอ็มอี เป็นกุญแจสำคัญ

บริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ร่วมกับ กรุงเทพธุรกิจ จัด “Exclusive INSIGHT Sustainability Talk” ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจในทุกสาขามาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น และเล่าถึงประสบการณ์เพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน 

      กเว็นนาเอล อาวิส เอว็ท (Gwenaelle Avice-Huet) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ และความความยั่งยืน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดเผยว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศปัจจุบันได้สร้างผลกระทบในด้านต่างๆ เช่น ความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สาเหตุก็มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้พลังงานในทุกภาคส่วน ดังนั้น การมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงต้องดำเนินการร่วมกัน ซึ่งชไนเดอร์ได้สร้างเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้คู่ค้าในธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนธุรกิจ และทุกอุตสาหกรรม

\"ชไนเดอร์\" ถก \'บิ๊กคอร์ป\' เปิด 6 พันธกิจยกระดับ \'เอสเอ็มอี\' สู่ \'Net-Zero\' 2050

ทั้งนี้  ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งซัพพลายเออร์ นั้นจะมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดผลที่ชัดเจน โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งชไนเดอร์ในฐานะเทคคอมปานี ได้ใช้ความพยายามมาอย่างยาวนาน และสูงมากที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อให้คู่ค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้ เพราะดิจิทัลจะเป็นตัวช่วยที่ดี ที่สามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์หนึ่งสู่อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งทำให้การพัฒนาทำได้แบบยกแผง และเกิดผลจริงซึ่งจะช่วยให้ความยั่งยืนเป็นเรื่องจริงไม่ใช่แค่ความฝัน 

“มีข้อมูลหนึ่งที่จะเป็นความท้าทายของเราทุกคน ที่พบว่า ธุรกิจทั่วโลกที่มีเป้าหมายสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์มีเพียง 181 รายจากธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ 2,157 ราย เราจะทำอย่างไรให้อีกเหลือย้ายมาสู่ฝั่งของการมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนให้ได้”

ดังนั้น ขอนำเสนอหลักการ 6 ข้อเพื่อสร้างความก้าวหน้าต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 ซึ่งจะเป็นการนำธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน และการขยายรูปแบบการสนับสนุนคู่ค้าให้เดินทางไปสู่เป้าหมายร่วมกัน 

สำหรับหลักการที่ 1 คือ การยกระดับซัพพลายเออร์ โดยธุรกิจต้องรู้ว่าของที่ซื้อมาจากซัพพลายเออร์ที่มีเป้าหมายลดคาร์บอน 2. การทำให้โรงงานหรือสถานที่ทำงานปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ 3.การออกแบบใหม่ หรือ ปรับปรุงพอร์ตฟอลิโอ ให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน 4.การจัดการด้านมูลค่าของการนำกลับมาใช้ 5.ให้ความสำคัญว่าขายอะไรให้ลูกค้า 6. มองหาช่องทางสนับสนุนลูกค้าให้มุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 

\"ชไนเดอร์\" ถก \'บิ๊กคอร์ป\' เปิด 6 พันธกิจยกระดับ \'เอสเอ็มอี\' สู่ \'Net-Zero\' 2050

มุ่งพัฒนา “กรีนไฮโดรเจน”

      “แนวทางดังกล่าวยอมรับว่าต้องใช้การลงทุน และเวลาที่ยาวนาน อย่างชไนเดอร์ เราใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน ในช่วงแรกเราต้องอบรม และวางรากฐานวัฒนธรรมขององค์กรควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติ ผ่านความพยายามพัฒนาในองค์กร และการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อช่วยลูกค้าของเราก้าวไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนร่วมกันไปกับเรา”

ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่าง ความสำเร็จ เช่น กลุ่มธุรกิจยา ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับความยั่งยืนได้มากนัก แต่การรวมตัวกันเพื่อกำหนดให้ซัพพลายเออร์ต้องเป็นธุรกิจลดคาร์บอน ก็เป็นอีกความสำเร็จหนึ่ง ขณะเดียวกัน ในส่วนหลักการข้อที่ 6 นั้น ชไนเดอร์สามารถมีส่วนช่วยได้มาก ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านลูกค้าสู่หนทางการลดคาร์บอนร่วมกัน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วย เริ่มจากการกำหนดยุทธศาสตร์ จากนั้นก็ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านข้อมูล(DATA)  เพื่อให้รู้ว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไร ก่อนจะนำไปสู่การกำหนดแผนการลดคาร์บอนในที่สุด อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน นั่นคือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง

ชไนเดอร์มีเทคโนโลยีทั้งการผลิต กักเก็บ และการจ่ายพลังงานที่มีเป้าหมายความยั่งยืนอย่างครบวงจร  โดยเบื้องต้นได้มุ่งเน้นไปที่พลังงาน “กรีนไฮโดรเจน”  ซึ่งครอบคลุมทั้งการผลิตไฟฟ้าสำหรับกระบวนการผลิตไฮโดรเจนที่ต้องเป็นพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม ระบบการจ่ายไฟ ส่วนโรงงานผลิตไฮโดรเจนก็ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจ่ายพลังงานสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ปล่อยคาร์บอน

ส่งต่อความสำเร็จเพิ่มทวีคูณ 

สเตฟาน นูสส์ (Stephane NUSS)ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่าความยั่งยืน เป็นเรื่องจำเป็นของทุกคน และตอนนี้ไม่ใช่เวลาของการตั้งคำถามถึงเงื่อนไข(if)ต่อเรื่องความยั่งยืน แต่ตอนนี้ต้องลงมือปฏิบัติแล้ว และต้องทำร่วมกันอย่างจริงจัง

“เทคโนโลยีจะเชื่อมโยงกันหากทุกภาคส่วนส่งต่อเป้าหมายเดียวกัน ส่งต่อเทคโนโลยีให้กัน และกันจะทำให้ความสำเร็จหนึ่งเพิ่มขึ้น จากหนึ่งจะเป็นสิบ และเป็นร้อยได้ในเวลาอันรวดเร็ว” 

\"ชไนเดอร์\" ถก \'บิ๊กคอร์ป\' เปิด 6 พันธกิจยกระดับ \'เอสเอ็มอี\' สู่ \'Net-Zero\' 2050 นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า เบื้องต้นมีความสนใจเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage)หรือ  กระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดิน หากพัฒนาจนสามารถมีต้นทุนที่สมเหตุสมผลก็เชื่อว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยไปสู่เป้าหมายคาร์บอนศูนย์ได้ เพราะขณะนี้ทุกธุรกิจมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้สร้างต้นทุนให้สูงขึ้นในรูปแบบต่างๆ ทำให้การพัฒนาธุรกิจจากนี้จะมุ่งไปที่การลดคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นกรีนโลจิสติกส์ หรือการเรียกร้องแหล่งที่มาของพลังงานที่ต้องเป็นแบบพลังงานทดแทนแบบ100% 

“ทุกธุรกิจต่างมุ่งหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืน แต่ภายใต้เป้าหมายนี้ก็มีข้อเรียกร้องต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเพราะด้านพลังงานจะทำให้การบรรลุเป้าหมายสำเร็จได้ เช่น CCS ที่มีต้นทุนที่เหมาะสม เป็นต้น”

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจมองเห็นความจำเป็นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้า แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจสู้ราคาหรือต้นทุนที่สูงไม่ไหว ดังนั้นการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งจำเป็น ยกตัวอย่าง การนำรถโดยสารไฟฟ้ามาวิ่งในกรุงเทพฯ เพื่อนำข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ไปเป็นเครดิตของประเทศซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางคาร์บอนเพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการไว้

“นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่จะช่วยประคับประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนให้อยู่รอดได้ เพราะถ้าไม่มีผลตอบแทนที่ดี ก็อาจมีแค่ไม่กี่โครงการที่จะดำรงอยู่ได้เท่านั้น แต่หากหลายธุรกิจอยู่ได้ไปด้วยกันก็จะสร้างระบบทั้งระบบให้ขับเคลื่อนไปร่วมกัน ”

เอสเอ็มอีไม่เข้าใจเรื่องความยั่งยืน

นายเสถียร เลี้ยววาริณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจะขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน อาจต้องใช้การลงทุนที่ค่อนข้างสูง จากการหารือกับลูกค้าพบว่ารายใหญ่ๆ มีความเข้าใจ และสนใจที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมายดังกล่าว และก็ยังพบว่าธุรกิจเหล่านี้มีมาตรฐานSDG หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs)ที่ดี 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งธุรกิจเอสเอ็มอี มีข้อมูลที่น่าประหลาดใจว่า ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ เรื่องคาร์บอนเป็นศูนย์ จึงยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแผ่นธุรกิจสู่ควมยั่งยืน แม้เอสเอ็มอีจะเข้าใจเงื่อนไขทางการค้าต่างๆ เช่นมาตรการCBAM(Carbon Border Adjustment Mechanism)มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปคือ การกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ที่ว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจเหมือนถูกล้อมไม่ให้หนีไปไหนไม่ได้ก็ตาม 

ดร.อรรถพล เพ็ชรพลาย ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน สำนักวิศวกรรมกลาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  กล่าวว่า ธุรกิจอาหารทำให้ต้องมีซัพพลายเชนที่ยาว ทั้งเอสเอ็มอี ผู้ค้าปลีกค้าส่ง จำนวนมาก ทำให้ซัพพลายเออร์คือ ส่วนสำคัญต่อเป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งซีพีเอฟให้ความสำคัญอย่างมาก โดยกำหนดแผนสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจจริงที่ผู้ประกอบการต่างต้องการรายได้จากการทำธุรกิจด้วย

นายสมัชชา พรหมศิริ  Chief of Staff ฝ่ายการตลาดดิจิทัลและสื่อสารองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ธุรกิจก่อสร้างมีช่วงซัพพลายเชนที่ยาว และซับซ้อน การจะขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะธุรกิจก่อสร้างไม่ได้หมายถึงเพียงพื้นที่ทำการก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังหมายถึงวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่นำมาใช้ ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ SCG ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ได้วัสดุก่อสร้างที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

\"ชไนเดอร์\" ถก \'บิ๊กคอร์ป\' เปิด 6 พันธกิจยกระดับ \'เอสเอ็มอี\' สู่ \'Net-Zero\' 2050

       นายฉาย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราเชื่อว่าความสำเร็จของธุรกิจไม่ใช่แค่ความสำเร็จขององค์กรเท่านั้น แต่ความสำเร็จทำให้ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่ไปด้วย 

“เนชั่นเป็นธุรกิจค่อนข้างเล็กแต่สร้างผลกระทบต่อสังคมที่ใหญ่ เราจึงให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมานานแล้ว ผ่านช่องทางเสาหลักด้านคอนเทนต์ที่มีอยู่ และกิจกรรมต่างๆ เช่น การสัมมนาที่อยู่หลายครั้งต่อปี” 

\"ชไนเดอร์\" ถก \'บิ๊กคอร์ป\' เปิด 6 พันธกิจยกระดับ \'เอสเอ็มอี\' สู่ \'Net-Zero\' 2050