Waste Hero Education บทเรียนเพื่อการ ‘รีไซเคิล’ อย่างยั่งยืน
ปัญหาขยะพลาสติกนับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ประเทศไทยมีขยะพลาสติก ปีละกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แล้วทิ้ง และไม่ได้รับการคัดแยกที่ถูกต้อง การสร้างความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้พลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากที่สุด
Key Point :
- ประเทศไทย มีขยะพลาสติกราวปีละ 2 ล้านตัน พลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ปัญหาพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่เกิดจากผู้บริโภคไม่ได้ทำการคัดแยกขยะมูลฝอย ไม่มีความเข้าใจในการรีไซเคิล และมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง
- เป็นที่มาของ โครงการ Waste Hero Education โดย อินโดรามา เพื่อให้ความรู้ พัฒนาบทเรียน ด้านการแยกขยะพลาสติก เพื่อให้ครู นักการศึกษานำไปต่อยอด สร้างกระบวนการคัดแยกขยะพลาสติก สู่การรีไซเคิลอย่างยั่งยืน
ข้อมูลจาก สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75)
พลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ โดยส่วนใหญ่จะถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากผู้บริโภคที่ไม่ได้คัดแยกขยะมูลฝอย ไม่มีความเข้าใจในการรีไซเคิล และมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง
อีกทั้ง ปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกกระจัดกระจายทั่วไป มักก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ เกิดน้ำท่วม ปัญหาขยะลอยในแม่น้ำ ลำคลอง บางส่วนไหลลงสู่ทะเล ก่อให้เกิดปัญหาเศษขยะพลาสติกและไมโครพลาสติก พบการแพร่กระจายในทะเลทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากปัญหาดังกล่าวเป็นที่มาของ โครงการ Global Recycling Education โดย บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ในปี 2561 เพื่อมุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องของการคัดแยกขยะพลาสติกและการรีไซเคิล เนื่องจากเล็งเห็นว่า การรีไซเคิล คือ การแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน และเป็นหนึ่งในตัวช่วยผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร พร้อมต่อยอดสู่ และ โครงการ Waste Hero Education ในการพัฒนาบทเรียน 19 ชุด เพื่อให้นักการศึกษา ครู นำไปปรับใช้ในการถ่ายทอดความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ รีไซเคิล และแก้ปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Recycling Education
นวีนสุดา กระบวนรัตน์ Head of Global CSR, Global Recycling Education and Thai Advocacy บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การรีไซเคิล จะมีประสิทธิภาพหากมีการจัดการ และคัดแยกที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ทำให้การเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จะจัดการง่ายมากยิ่งขึ้น แต่ปัญหาที่พบ ก่อนทำโครงการ คือ คนส่วนมากยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของพลาสติก และมองว่าพลาสติกทุกประเภทเหมือนกันหมด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะพลาสติกมี 7 ประเภท และแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติการรีไซเคิลที่แตกต่างกัน ดังนั้น การที่เราสร้างความรู้ความเข้าใจถึงการรีไซเคิลพลาสติกที่ถูกต้อง
สำหรับ โครงการ Global Recycling Education ในช่วงแรกเน้นการออกไปสอนนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ และขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน โดยใช้สื่อที่เหมาะสมตามกลุ่มอายุ มีการแปลหลายภาษา แต่หัวข้อเหมือนกันทั้งหมด เช่น ขยะพลาสติก ประเภทของพลาสติก การคัดแยก การรีไซเคิล เป็นต้น
อีกทั้งมีการสำรวจหลังจากทำการสอน พบว่า น้องๆ มีองค์ความรู้เพิ่มเติม และสามารถคัดแยกได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ กทม. ในการเข้าไปสอนโรงเรียนในสังกัด กทม. ที่มีการลงทะเบียนราว 250 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้มีการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ มีที่ปรึกษาจากภายนอกมาประเมินผลตอบแทนทางสังคมที่ได้จากโครงการในแง่ต่างๆ พบว่า การลงทุนในโครงการ Recycling Education ก่อให้เกิดมูลค่าทางสังคม 5 เท่า ประชาชนได้เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากยิ่งขึ้น โดยพยายามทำให้วัดผลได้และเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการระยะยาว 30 ปี เพราะการศึกษาต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงการรับรู้ เกิดการเรียนรู้ของคนในสังคม”
ต่อยอดสู่ Waste Hero Education
อย่างไรก็ตาม แม้ในโครงการแรกจะมีการแปลหลายภาษา แต่สิ่งที่เจอ คือ บริบทของการจัดการขยะพลาสติก การเรียนรู้เรื่องการรีไซเคิลของแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เป็นที่มาของการต่อยอดระยะที่ 2 ในการยกระดับไปอีกขั้น โดยดึงคนที่อยู่ในวงการการศึกษา ครู ที่ปรึกษาทางการศึกษา มาเป็นคนช่วยพัฒนาหลักสูตร ต่อยอดสู่ โครงการที่ 2 อย่าง โครงการ Waste Hero Education
นวีนสุดา กล่าวต่อไปว่า โครงการ Waste Hero Education เป็นโครงการที่พัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับนักการศึกษา ครู ที่เอาไปใช้ในหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยร่วมกับ “ยูนุสประเทศไทย” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา และมีเครือข่ายที่ช่วยพัฒนาเพื่อให้มั่นใจว่าหลักสูตรตอบโจทย์ ใช้เวลาพัฒนาราว 1 ปี ตั้งแต่ขั้นแรก คือ การฟอร์มทีมที่ปรึกษามาพัฒนาหลักสูตร 19 ชุดแบ่งเป็นระดับชั้นและความยากง่ายของเนื้อหาตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงบุคคลทั่วไป ตั้งแต่ Beginner Intermediate หรือ Advanced โดยคอนเทนต์จะมี 3 เรื่องหลัก คือ พื้นฐานการรีไซเคิล การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการของเสียเป็นศูนย์
ขั้นที่สอง คือ การตรวจสอบหลักสูตรว่าตอบโจทย์และมีคุณภาพ และสุดท้าย คือ การนำหลักสูตรไปทดสอบในชั้นเรียนจริงในประเทศสหรัฐ เม็กซิโก บังคลาเทศ อังกฤษ และซัมบับเว โดยทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่ต่างประเทศและช่องทางของบริษัทเองในการกระจายสื่อการสอนทางสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันหลักสูตรดังกล่าว มีทั้งหมด 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ไทย บราซิล สเปน โดยมีแผนจะเริ่มใช้ในปีนี้ และเผยแพร่ทั่วโลก พร้อมตั้งเป้าจัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการรีไซเคิล เศรษฐกิจหมุนเวียน และแปลเป็นภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป
“ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 ที่เริ่มโครงการ Recycling Education ราว 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่สนใจและหน่วยงานเข้าถึงทั้งสิ้น 2.3 แสนคนทั่วโลก และภายในปี 2573 ตั้งเป้าเข้าถึงคนให้ได้ 1 ล้านคนทั่วโลก พร้อมไม่หยุดที่จะพัฒนาเนื้อหาต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงการ 30 ปี และมองว่า การเรียนรู้ของคนเปลี่ยนไป ต้องปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพการเรียนรู้ด้วย โดยคาดหวังว่า อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เกิดการคัดแยก รีไซเคิล และมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ” นวีนสุดา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับคนที่สนใจ สามารถดูข้อมูล โครงการ Global Recycling Education และ โครงการ Waste Hero Education ได้ที่เว็บไซต์ คลิก