ถอดบทเรียน 'สวีเดน' ตัดไม้แต่ได้ป่า พลิกป่าเสื่อมโทรม สู่ป่ายั่งยืน

ถอดบทเรียน 'สวีเดน' ตัดไม้แต่ได้ป่า พลิกป่าเสื่อมโทรม สู่ป่ายั่งยืน

เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา สวีเดน ต้องพบเจอกับปัญหาการ 'ตัดไม้ทำลายป่า' แต่หลังจากการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ส่งผลให้ ปัจจุบัน สวีเดน มีผืนป่าเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า

Key Point : 

  • สวีเดน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เคยพบเจอกับปัญหา 'การตัดไม้ทำลายป่า' เมื่อ 100 ปีก่อน ส่งผลให้เกิดการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ หากตัดต้นไม้ 1 ต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อย 3 ต้น
  • ปัจจุบัน สวีเดนส่งออกไม้อันดับ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีก่อน เป็น 75%
  • ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตไทย-สวีเดน ร่วมกับ เอสซีจี และพันธมิตร ผลักดันโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลกจากสวีเดน ใช้นวัตกรรมเพิ่มพื้นที่ป่าไทย สร้างเศรษฐกิจเติบโต

 

เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน ‘สวีเดน’ มีปัญหาการตัดไม้ จึงริเริ่มวิธีการส่งเสริมการปลูกป่าจนถึงปัจจุบัน สวีเดน มีผืนป่าเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า และเพิ่มมูลค่าที่ได้มาจากป่าเหล่านั้น ถือได้ว่าอุตสาหกรรมป่าไม้ในสวีเดนรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของอุตสาหกรรมป่าไม้ จากการตัดไม้ทำลายป่า สู่การสร้างผืนป่าทวีคูณ จากประเทศที่มีปัญหาด้านป่าไม้ กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากร

 

ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวในงาน  Redesign Sustainable Forestry : The Innovative Forest Management ซึ่ง เอสซีจี จับมือ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนและไทย ร่วมผลักดันโมเดลจัดการป่าไม้ยั่งยืนระดับโลก โดยระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สวีเดนส่งออกไม้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เคยเหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีก่อน เป็น 75% คือการใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ตัดไม้แต่ได้ป่า ถ้าตัดต้นไม้หนึ่งต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อยสามต้น

 

ถอดบทเรียน \'สวีเดน\' ตัดไม้แต่ได้ป่า พลิกป่าเสื่อมโทรม สู่ป่ายั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

"นอกจากจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน โดยได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล รัฐบาลสวีเดนหวังว่าโมเดลและประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันในวันนี้ จะเกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อขยายแนวคิดแห่งความยั่งยืนนี้ต่อไป"

 

100 ปี แห่งความสำเร็จ กับการก้าวผ่านอุปสรรค

 

Mr. Aaron Kaplan, Director of Eco Innovation Foundation (EIF) อธิบายว่า แม้สวีเดนจะประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการป่า แต่ก็ใช่ว่า 100 ปีที่ผ่านมาไม่เคยล้ม เนื่องจากภาครัฐถูกวิจารณ์ว่า ที่ผ่านมาอาจจะสนใจแค่ต้นไม้ประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เช่น ต้นสน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายหากจะนำต้นไม้ประเภทอื่นมาเพิ่มเติมให้หลากหลาย เพราะสนเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติในสวีเดน

 

“โมเดลในตอนนี้ พยายามให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะจริงๆ แล้วในสวีเดน คนที่เป็นเจ้าของป่า คือ ชาวบ้าน หากเปลี่ยนจากต้นสนเป็นต้นอื่นๆ เพื่อให้มีความหลากหลาย ต้องได้รับความร่วมมือกับชาวบ้านและต้องรักษาสมดุลป่าธรรมชาติและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน สวีเดน เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้อันดับ 3 ของโลก ตอนนี้เงินทั้งหมดจากป่าไม้คิดเป็น 10% ของ GDP"

 

"อย่างไรก็ตาม มั่นใจได้ว่าคนสวีเดนรักป่า แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมมีการต่อต้าน สุดท้าย คือ หาตรงกลาง บริหารให้มีระบบ ไม้ทุกชิ้นที่ตัดนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด แม้แต่ชิ้นเล็กๆ เอามาต่อกันสร้างตึกใหญ่ๆ ได้”

 

ถอดบทเรียน \'สวีเดน\' ตัดไม้แต่ได้ป่า พลิกป่าเสื่อมโทรม สู่ป่ายั่งยืน

 

เมื่อไม้อยู่ในชีวิตประจำวัน 

 

การใช้ไม้แทนวัสดุก่อสร้างประเภทอื่นเป็นผลดีต่อโลกของเรา ไม่เพียงเท่านั้น ไม้ยังเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายใจที่ดีของมนุษย์ ไม้ถูกใช้เป็นวัสดุก่อสร้างมานานนับพันปี แต่เพิ่งมีการศึกษาประโยชน์ของไม้ต่อสุขภาพเมื่อไม่นาน บางคำถามได้รับคำตอบแล้ว แต่ต้องมีการศึกษาผลกระทบระยะยาว

 

ทั้งนี้ ตัวอย่างการนำไม้มาใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าในสวีเดนมีหลากหลาย โดยเฉพาะการสร้างอาคาร หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนี้

 

กังหันลม Bjorko

วงการไม้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ กังหันลมไม้แห่งแรกของสวีเดน เป็นแบบจำลองสูง 30 เมตรในอัตราส่วน 1:5 ต่อขนาดเชิงพาณิชย์ที่ตั้งใจไว้ ปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ Bjorko นอกเมือง Gothenburg กังหันแห่งแรกจะถูกใช้เพื่อการวิจัยแต่กำลังเตรียมการผลิตเต็มรูปแบบ หากเป็นไปตามแผนกังหันที่มีขนาดเหมาะในเชิงพาณิชย์จะสร้างขึ้นภายในปี พ.ศ. 2565

 

นับเป็นความก้าวหน้าที่ปูทางไปสู่กังหันลมรุ่นต่อไป ไม้ลามิเนตติดกาวมีความแข็งแรงกว่าเหล็กเมื่อเทียบกับ น้ำหนัก การสร้างด้วยไม้ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขั้นตอนการผลิต และช่วยให้ตัวโครงสร้างสามารถออกแบบเพื่อกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ทำให้กังหันลมปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ตั้งแต่เริ่มต้น

 

กังหันลมที่ทำจากไม้สามารถสร้างได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเหล็กมาก น้ำหนักไม้ที่น้อยกว่าและแนวคิดแบบแยกชิ้นส่วน ทำให้สามารถสร้างกังหันให้สูงขึ้นได้ ซึ่งส่วนต่าง ๆ สามารถขนส่งบนถนนสาธารณะได้ ตอนนี้มีแผนจะสร้างกังหันสูง 110 เมตร ตามด้วยกังหันอีกกว่าสิบแห่งซึ่งมีความสูงอย่างน้อย 150 เมตร

 

ถอดบทเรียน \'สวีเดน\' ตัดไม้แต่ได้ป่า พลิกป่าเสื่อมโทรม สู่ป่ายั่งยืน

 

สถานี Vasaplan

เมือง Umea ทางตอนเหนือของสวีเดนต้องการหลังคาใหม่เหนือชานชาลารถบัสที่ Vasaplan หลังคานี้จำเป็นต้องสูงพอให้รถเมล์ลอดผ่านได้ แต่เพิ่มส่วนล่างเหนือศีรษะเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารด้วย วิธีแก้ปัญหา คือ ระนาบสองแผ่น แผ่นบนยื่นออกมาขวางเลน คนสามารถนั่งใต้แผ่นล่างหรือยืนติดกับโครงสร้างไม้ได้อย่างใกล้ชิด

 

หลังคายาว 160 เมตร กว้าง 10 เมตร มีขนาดเท่ากับ 2 ช่วงตึก ถูกแบ่งกลางด้วยถนน การวางโครงสร้างที่ยึดหลังคาไว้ตรงกลางทำให้ความกว้างของพื้นที่จราจรถูกแบ่งออกเป็นพื้นถนนสองส่วนที่มีสัดส่วนเท่ากันพอดีทำให้ง่ายต่อการปรับทิศทาง การวิ่งของรถโดยสารไปยังตะวันออกจะอยู่ช่องซ้ายเป็นการชั่วคราว เพื่อให้รถโดยสารสามารถเปิดประตูลงสู่เกาะกลางได้อย่างปลอดภัย สถานีรถประจำทางสร้างด้วยไม้กลายเป็นจุดสัญลักษณ์แห่งใหม่ใจกลางเมือง Umea อย่างรวดเร็ว

 

ถอดบทเรียน \'สวีเดน\' ตัดไม้แต่ได้ป่า พลิกป่าเสื่อมโทรม สู่ป่ายั่งยืน

 

บริษัท Taljogran

บริษัทสตาร์ทอัพ ด้านหัตถกรรม Taljogran (ภาษาสวีเดน แปลว่าไม้แกะสลัก) เกิดจากความปรารถนาที่จะทำให้คนจำนวนมากค้นพบความสุขและความพึงพอใจในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยมือของตนเอง ผู้ก่อตั้ง รู้จากประสบการณ์ว่า ลายแกะสลักในไม้ทำให้เกิดความรู้สึกผาสุก

 

ในโรงเรียนหลายแห่งของสวีเดน วิชาช่างไม้เป็นวิชาที่สอนตั้งแต่ประถม 1 ทุกคนในสังคมรู้สึกผูกพันกับงานฝีมือในวัสดุธรรมชาติ Taljogran ด้วยความต้องการขยายความสุขในการแกะสลักไม้ไปสู่ผู้คนได้มากขึ้น ผ่านการจำหน่ายชุดอุปกรณ์สำเร็จรูป ไม้บรรจุสุญญากาศเพื่อความสดใหม่ โดยมีเป้าหมายให้คนสามารถเริ่มต้นหรือกลับคืนสู่งานฝีมือได้ง่ายขึ้น

 

ชุดอุปกรณ์ประกอบด้วย มีด ไม้ น้ำมันลินซีด ฯลฯ ซึ่งผลิตในท้องถิ่นด้วยวิธีการยั่งยืน พร้อมกับจัดเวิร์กช้อปตามบริษัทต่างๆ เปิดโอกาสให้พนักงานได้ทำงานอดิเรกทั้งสร้างสรรค์และผ่อนคลาย สร้างมูลค่าเพิ่มทางบวกให้กับบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

บริหารจัดการป่า เพิ่มมูลค่า

 

สำหรับนประเทศไทยนั้น Mr.Berty Van Hensbergen Partner of the Eco Innovation Foundation ให้มุมมองว่า เหตุผลที่ป่าไม้ของไทยไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว เนื่องจากโมเดลธุรกิจการจัดการป่าเมืองร้อนไม่สมบูรณ์ ไม้ทุกต้นที่ตัด มีแค่ 10% ที่เราเอาไปผลิตเป็นสินค้าใน Value Chain ผู้ซื้อซื้อได้แต่ไม้ท่อนมาตรฐานเท่านั้น และคนขายก็ขายไม้ได้เฉพาะขนาดมาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการ

 

"ไม้ส่วนที่เหลือก็สูญเปลี่ยนไป เกิดปัญหาในการบริหารจัดการป่าเมืองร้อนแบบธรรมชาติจะสร้างกำไรได้เป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของไม้สายพันธุ์ไหนที่จะขายได้ ดังนั้น ทำให้มีการปลูกหมุนเวียนได้น้อย เพราะไม้จำนวนมาก ไม่มีคุณค่าในตลาดมากพอ" 

 

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนน้อยในการบริหารจัดการป่า เพราะ Value Chain ไม่เอื้อต่อการสื่อสารระหว่างเจ้าของป่าและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ผู้ใช้ไม่ทราบว่าป่าผลิตอะไรได้ ในขณะที่ผู้ดูแลป่าก็ไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร ในแง่ของการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ก็จะช่วยให้เราเพิ่มคุณค่าได้มาก

 

เพราะฉะนั้น ผลกระทบต่อการบริหารจัดการต่อผลิตภัณฑ์มีความสำคัญ ไม้ที่ได้จากป่าที่ไม่ได้รับการบริหารจัดการจะนำไปทำได้แค่เยื้อกระดาษ แต่หากป่าบริหารจัดการที่ดี 50-60 ปี จะมีไม้มูลค่าสูงเพิ่มขึ้น 50% และอีก 30% เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่ำเช่น นำไปทำเยื้อกระดาษ ดังนั้น การบริหารจัดการที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากป่าได้มากขึ้น

 

ถอดบทเรียน \'สวีเดน\' ตัดไม้แต่ได้ป่า พลิกป่าเสื่อมโทรม สู่ป่ายั่งยืน

 

ปรับโมเดลสวีเดน สู่บริบทประเทศไทย 

 

ด้าน นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีเห็นประโยชน์จากโมเดลจัดการป่ายั่งยืนของสวีเดน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ลองศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งเอสซีจีให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าในการทำเหมืองปูนซีเมนต์ เพื่อให้ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ และขยายพื้นที่ป่าบก ป่าโกงกางและหญ้าทะเล

 

รวมถึงการจัดการน้ำเพื่อบำรุงรักษาให้ป่าอุดมสมบูรณ์ในโครงการ ‘รักษ์ภูผามหานที’ โดยได้เพิ่มพื้นที่ป่าไปแล้ว 1.2 ล้านต้น และสร้างฝายชะลอน้ำ 115,000 ฝาย ซึ่งช่วยชุมชนกว่า 306 ชุมชน 57,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ ใช้อุปโภค-บริโภคและการเกษตร ส่งต่อการจ้างงานกว่า 2,550 คน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เพิ่มกว่า 5 เท่า โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 3 ล้านไร่ 150,000 ฝาย เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ตามแนวทาง ESG 4 Plus

 

นอกจากนี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพการปลูก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรกว่า 3,800 ล้านบาทต่อปี

 

"เอสซีจีเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมกันศึกษา ต่อยอด และออกแบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าของประเทศไทยในรูปแบบใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำประโยชน์จากป่าไม้ไปสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”