กรมการข้าว หนุนชาวนาลดก๊าซมีเทน ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’เสริมรายได้
กรมการข้าว ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าว หนุนเกษตรกรทำนาเปียกสลับแห้ง ลดปล่อยก๊าซมีเทน ลดเผาตอซังแต่งตัวเข้าตลาดคาร์บอนเครดิต หวังสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร
ก๊าชมีเทน (methane) เป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า และไม่น่าเชื่อว่า นาข้าวทั่วโลกได้ปล่อยก๊าซมีเทนมากถึง 100 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้นาข้าวของไทยปล่อยก๊าซมีเทนออกสู่บรรยากาศถึง 3.32 ล้านตันต่อปี ดังนั้น เพื่อผลักดันให้ไทย เข้าถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)ใน ปี 2065-2070 หรือ ลดลง 20 -25% ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใน(ปี 2021-2030)
จำเป็นอย่างยิ่งที่การทำนาของไทยต้องเปลี่ยนจากการปล่อยน้ำขัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน มาเป็นรูปแบบการปลูกเปียกสลับแห้ง หมายถึงการแกล้งข้าว ปล่อยน้ำเข้าแปลงนาบางช่วงอายุของต้นข้าว สลับกับช่วงน้ำแห้ง เพื่อกระตุ้นให้รากและลำต้นของต้นข้าวแข็งแรงขึ้นเนื่องจากดินและรากได้รับอากาศ
พอได้รับอากาศเสร็จ ก็สามารถดูดปุ๋ยได้ดีขึ้น ทำให้ลดการใช้ปุ๋ย เมื่อดูดอาหารได้ดีขึ้น ต้นข้าวแข็งแรง ลดการระบาดของโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปด้วย เมื่อต้นข้าวแข็งแรงก็จะแตกกอได้มากขึ้น รวงข้าวสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้รับก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญการทำนาในลักษณะ ดังกล่าวยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เสริมให้ชาวนา อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ นายณัฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของตลาดคาร์บอนเครดิตที่ชาวนาจะได้รับ จึงได้มีการเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวนา เพื่อทำความเข้าใจถึงคำว่าคาร์บอนเครดิต และสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับหากมีการทำคาร์บอนเครดิตขึ้น
"ขณะนี้กรมการข้าวได้มีการนำร่องพื้นที่ในการสร้างรายได้จากการทำคาร์บอนเครดิตให้ชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นที่แรก"
ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ได้เข้ามาส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาในอำเภอเดิมบางนางบวช และอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งถือเป็นอำเภอนำร่องที่จะส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงข้อดีและประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากการสร้างคาร์บอนเครดิต "
ผ่านองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาใช้ในการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling) ที่จะช่วยให้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวกรมการข้าวยังตั้งเป้าในการรณรงค์ให้ชาวนาลดการเผาตอซังข้าว ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสร้างคาร์บอนเครดิตให้ชาวนา
กรมการข้าวจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อบันทึกข้อมูลการทำนาแบบลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของชาวนา ให้สอดรับกับการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาสนใจในการขายคาร์บอนเครดิต อีกทั้งจะมีการจัดฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับศูนย์ข้าวชุมชนและชาวนาอาสาในเขตจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไปในอนาคตอีกด้วย
สำหรับชาวนาท่านใดที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงการขายคาร์บอนเครดิตได้ที่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เว็บไซต์กรมการข้าว และ Facebook Fanpage Rice News Channel