เปิด 4 สายพันธุ์กรมการข้าวรับรองสนองความต้องการตลาด
กรมการข้าว เตรียมรับรอง 4 สายพันธุ์ เพิ่มช่องทางการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ตรงกับความต้องการของตลาด พร้อม MOUกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ศึกษา พัฒนา กระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาดผลิตภัณฑ์จากข้าว ยกระดับรายได้เกษตรกร
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยความก้าวหน้าของนโยบายด้านข้าว ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ กรมการข้าวจึงได้พัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อสอดรับกับนโยบายตรงกับความต้องการของเกษตรกร
รวมทั้งการนำเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชาวนาได้รับทราบ ที่จะส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ตลอดจนสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวให้กับชาวนา กลุ่มชาวนา และศูนย์ข้าวชุมชน
ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ตรงกับความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ กรมการข้าวจึงเตรียมรับรองพันธุ์ข้าว จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่
1. สายพันธุ์ PSL04088-7-R-3-R-2-R-1-R-2-3 เป็นข้าวขาวอมิโลสปานกลาง มีลักษณะประจำพันธุ์ คือเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 767 กก./ไร่ ศักยภาพการให้ผลผลิต 934 กก./ไร่ มีลักษณะเด่น คือ ต้นเตี้ยต้านทานการหักล้ม ต้านทานต่อโรคไหม้และค่อนข้างต้านทานโรคขอบใบแห้ง
2. สายพันธุ์ CNT07001-35-3-2-1 เป็นข้าวขาวพื้นแข็ง มีลักษณะประจำพันธุ์ คือข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุการเก็บเกี่ยว 95 วัน ผลผลิตสูงเฉลี่ย 885 กก./ไร่ ศักยภาพการให้ผลผลิต 1,213 กก./ไร่ มีลักษณะเด่นต้านทานต่อโรคไหม้และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
3. สายพันธุ์ PTT13038-15-1-1-2-5-1 เป็นข้าวขาวพื้นนุ่ม อายุการเก็บเกี่ยว 111-114 วัน (ปักดำ) ผลผลิตสูงเฉลี่ย 767 กก./ไร่ ศักยภาพการให้ผลผลิต 934 กก./ไร่ มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคไหม้
และ 4. สายพันธุ์ PTT11236-37-3-1-2-2-1-1-1 เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุการเก็บเกี่ยว 118 วัน (ปักดำ) ผลผลิตสูงเฉลี่ย 779 กก./ไร่ ศักยภาพการให้ผลผลิต 1,070 กก./ไร่ มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคไหม้ โดยพันธุ์ข้าวใหม่ทั้ง 4 พันธุ์ คาดว่าจะรับรองให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
ทั้งนี้รายงานของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและกรมศุลกากร ที่ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ( ม.ค.- มิ.ย.) ไทยสามารถส่งออกข้าวทุกชนิดได้แก่ข้าวขาว ข้าวนึ่งและข้าวหอมมะลิ มีปริมาณ 3,507,020 ตัน คิดเป็นมูลค่า 60,932.3 ล้านบาท (1,837.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 56.6% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 42.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 2,239,432 ตัน มูลค่า 42,641.8 ล้านบาท (1,407.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
นายณัฏฐกิตติ์ ยังกล่าวว่า กรมการข้าวได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อร่วมกันพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการศึกษา ค้นคว้า วิจัยรวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาดผลิตภัณฑ์จากข้าว ยกระดับรายได้เกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศโดยรวม
“ MOU นี้ จะร่วมมือครอบคลุมตั้งแต่ด้านกระบวนการผลิต การปลูก การแปรรูป ตลอดจนการพัฒนาด้านการตลาดผลิตภัณฑ์จากข้าว เพื่อใช้เพิ่มมูลค่า ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ผลิตข้าวให้สูงขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้งสองฝ่าย
อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ เพื่อนำมาพัฒนาบุคลากร รวมถึงการใช้ทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย อาทิ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูล สถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ”