ESG และ คดีฟอกเขียวที่เพิ่มขึ้น | ภูมิภัทร/ภาณุพันธุ์
ต่อเนื่องจากบทความครั้งก่อนที่ได้เขียนเรื่องแนวโน้มด้าน ESG ในต่างประเทศ ครั้งนี้จะอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของความเสี่ยงด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องเกี่ยวกับ ESG ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น
ESG น่าจะเป็นกระแสที่ทุกๆ ท่านยังคงได้ยินบ่อยในช่วงนี้ ESG นั้นย่อมาจาก สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)
จากข้อมูลใน Global trends in climate change litigation : 2022 snapshot โดย Joana Setzer และ Catherine Higham ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565
จำนวนคดีความหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมในฐานข้อมูล Climate Change Laws of the World (CCLW) ของ Grantham Research Institute on Climate Change and the Environment ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีทั้งหมด 2,002 เคส
ในจำนวนทั้งหมดนี้มี 800 กว่าเคสที่เป็นเคสที่เริ่มในช่วงระยะเวลา 29 ปี (ปี 2529-2557) มี 1,200 เคสที่เริ่มต้นในช่วงระยะเวลา 8 ปีตั้งแต่ปี 2558-2565 ทั้งนี้มีจำนวนเคสประมาณ 500 เคสที่เริ่มต้นในช่วงเวลา 2 ปีครึ่ง ตั้งแต่ปี 2563 ถึงกลางปี 2565
อีกมุมมองที่น่าสนใจคือ หากแบ่งเคส 2,002 เคสตามหน่วยงานที่พิจารณา พบว่า 1,426 เคสยื่นฟ้องต่อศาลในสหรัฐ 576 เคส ยื่นฟ้องต่อศาลในอีก 43 ประเทศ และ 15 เคสยื่นฟ้องต่อศาลหรือองค์กรระหว่างประเทศหรือภูมิภาค 15 แห่ง ซึ่งรวมถึงศาลของสหภาพยุโรป
สำหรับจำนวนเคสนอกสหรัฐ ประเทศออสเตรเลียมีจำนวนเคสมากสุดคือ 124 เคส ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร มีจำนวน 83 เคส และสหภาพยุโรป มีจำนวน 60 เคส
คดีความเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีหลายรูปแบบ บทความ CSSN Research Report 2022 : 1 : Climate-Washing Litigation : Legal Liability for Misleading Climate Communications
เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2565 อธิบายถึงการเพิ่มขึ้นของการฟ้องร้องเกี่ยวกับ "การฟอกเขียว" หรือที่เรียกว่า Greenwashing ซึ่งหมายถึงการทำให้ผู้บริโภคหรือนักลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวประเด็นสิ่งแวดล้อม
เช่น การกล่าวอ้างเรื่องคุณสมบัติของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และ Climate-washing ซึ่งหมายถึงการทำให้ผู้บริโภคหรือนักลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change)
ในส่วนของ Climate-washing บทความ Global trends in climate change litigation : 2022 snapshot ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจอีกมุมหนึ่งว่า
ตั้งแต่ปี 2559 มีการยื่นฟ้องคดี Climate-washing อย่างน้อย 20 คดีต่อศาลในสหรัฐ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ และมีคำร้องต่อหน่วยงานกํากับดูแลที่ไม่ใช่ศาล เช่น คณะกรรมการที่กำกับดูแลสื่อโฆษณากว่าอีก 27 เคส
เคสด้าน Climate-washing แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ การสื่อสารที่ทําให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความมุ่งมั่นขององค์กรและรัฐบาล คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศและอันตรายที่ก่อโดยบริษัท
ตัวอย่างของคดีที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย การที่ Australasian Centre for Corporate Responsibility (ACCR) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการวิจัยและให้คำแนะนำกับผู้ถือหุ้น ฟ้องบริษัทก๊าซธรรมชาติแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย
ACCR กล่าวอ้างว่าข้อความที่บริษัทกล่าวอ้างว่า ก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานสะอาด และแผน net zero ของบริษัทในรายงานประจำปี 2563 เป็นการให้ข้อมูลที่ทำให้นักลงทุนเข้าใจผิด
นอกจากนี้ยังมีคดีในศาลฝรั่งเศส ที่บริษัทพลังงานในฝรั่งเศสถูกฟ้องเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเรื่อง ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) หรือการกล่าวอ้างเรื่องบทบาทของก๊าซธรรมชาติและพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพในการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลังงานยั่งยืน
ในส่วนของประเทศอิตาลี ก็มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือคดีที่บริษัทผลิตไมโครไฟเบอร์ฟ้องบริษัทคู่แข่ง โดยกล่าวอ้างว่าการที่บริษัทคู่แข่งอวดอ้างสรรพคุณของสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
เป็นการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิด ขาดความชัดเจน ไม่เป็นความจริง และเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบและไม่สามารถตรวจสอบ
ศาลได้ตัดสินว่าข้อความอวดอ้างสรรพคุณเหล่านี้ขาดความชัดเจน ไม่เป็นความจริง และเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบและไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงสั่งให้ลบข้อความดังกล่าวจากสื่อต่างๆ และเผยแพร่คำพิพากษานี้บนเว็บไซต์ระยะเวลาหนึ่ง
อีกแนวโน้มหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันที่น่าสนใจ คือการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของเบี้ยประกันของประกันภัย ความรับผิดของกรรมการบริษัท สาเหตุส่วนหนึ่งถูกมองว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสี่ยงด้านคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้น
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า แนวโน้มเกี่ยวกับ ESG จะมีพัฒนาการไปในทิศทางไหนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงของการถูกฟ้องร้อง
โดยสาเหตุที่เกี่ยวกับ ESG รวมถึงคดีเกี่ยวกับการฟอกเขียว (Green wash) หรือ Climate-wash ในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยนั้น จะมีทิศทางอย่างไร
คอลัมน์ Business&Technology Law
ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล
ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล
ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น