'PM2.5-ขยะ-น้ำ' ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ดัชนีความจริงใจพรรคการเมือง

'PM2.5-ขยะ-น้ำ' ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ดัชนีความจริงใจพรรคการเมือง

เหลือเวลาอีก 1 วัน การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค.2566ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค.2566 ก็จะเริ่มขึ้น โดยแต่ละพรรคการเมือง ได้เร่งเคลื่อนเดินหน้าหาเสียงโค้งสุดท้าย ให้ประชาชนได้รู้จัก รับทราบนโยบายตัดสินใจกากบาทเลือกพรรคการเมือง

Keypoint:

  • นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน แก้ปัญหามลพิษของ 5 พรรคการเมือง ก้าวไกล เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ 
  • ฝุ่น PM2.5  การบริหารจัดการขยะ การแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และสร้างเมืองอัจฉริยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พรรคการเมืองตั้งการแก้
  • ใช้เทคโนโลยี ปลูกต้นไม้  ลดการเผาป่า-พืชผลทางการเกษตร ทุกภาคส่วนในประเทศต้องร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะมีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อให้เกิดมลพิษ

'สิ่งแวดล้อม-ลดโลกร้อน' เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยได้พยายามแก้ไขและมีการดำเนินการทั้งผ่านในรูปแบบของนโยบาย กิจกรรม และการมีส่วนร่วม ในช่วงการเลือกตั้งหาเสียงของพรรคการเมือง จึงเป็นนโยบายหาเสียงที่ทุกพรรคต่างแสดงจุดยืน แนวทางอย่างชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำ การจัดการขยะ และการก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศ 

งานเสวนานโยบายพรรคการเมืองรับเลือกตั้ง 66 'การบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองอัจฉริยะ' จัดโดยเครือข่ายคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เกิดจากความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ โดยได้มีการเชิญตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา พลังประชารัฐ  และประชาธิปัตย์

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ และอยู่ใกล้ตัวของทุกคน แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้น การบริหารจัดการเพียงวันเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งการสร้างความยั่งยืนต้องใช้เวลา ในความเป็นจริงนโยบายเป็นการทำได้ในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งหลายเรื่องที่ทำอาจจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การวัดค่าฝุ่นในแต่ละวัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'คุ้มค่า' แอปฯ ยกระดับการจัดการขยะ

BCG Farming ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคใหม่

 

 

ลดมลพิษทุกด้าน PM2.5-ขยะ-น้ำ-สร้างเมืองอัจฉริยะ

ดังนั้น สิ่งเดียวที่ทำได้ คือการสร้างความตระหนักรู้ในการระมัดระวังตัวเอง เลือกตั้งหาเสียงของตัวเอง การเสวนาในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้จากพรรคการเมืองต่างๆ ว่ามีนโยบายในการดูแลสิ่งแวดล้อม 

ดร.พูนศักดิ์ จันทรจำปา ตัวแทนพรรคก้าวไกล กล่าวว่าก้าวไกลคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น1 ใน 9 เสาหลักที่มีนโยบายกว่า 30 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งเรื่องของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ โลกร้อน เป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น นโยบายของพรรคก้าวไกล จะแบ่งตามมลพิษที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่  เช่น การจัดการขยะ จะมีการออกพ.ร.บ.จัดการขยะและดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมการจัดการของเสียอย่างถูกต้อง มีระบบระเบียบ

สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน ไม่ใช่มีเพียงนโยบาย  ขณะที่เรื่องน้ำ มีนโยบายจัดการทบทวนการจัดการตามลุ่มน้ำต่างๆ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ภัยแล้ง น้ำ อากาศ PM2.5 มีนโยบาย 100 วันแรก ในการแก้ไขปัญหาเรียบร้อย

\'PM2.5-ขยะ-น้ำ\' ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ดัชนีความจริงใจพรรคการเมือง

ด้านการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ ซึ่งพบว่าแนวโน้มปริมาณฝุ่นไม่มีการลดลงมีแต่เพิ่มขึ้น  ส่วนใหญ่จะเจอPM2.5 ในฤดูหนาว เกิดจากการเผาป่าและพืชผลทางการเกษตรทั้งในและต่างประเทศ จึงมีนโยบายป้องกันให้เกษตรลดการเผาป่าและพืชผลทางการเกษตร จะมีการนำใช้เทคโนโลยี มาตรฐาน GAP GMP มาประยุกต์ และผลักดันพืชผลผลิตทางการเกษตรไปสู่ชีวมวล หรือ มวลชีวภาพ (Biomass)

ส่วนเรื่องเมืองอัจฉริยะ เน้นการบริหารจัดการที่มีความยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เกิดผลกระทบต่อคนรุ่นถัดไป  ต้องบริหารจัดการให้ครบถ้วน แนวทางการบริหารจัดการยุคใหม่

 

6 ด้านสิ่งแวดล้อมก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า จะเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 มี 6 ด้าน ดังนี้

ด้านการผลิตไฟฟ้า  เปิดตลาดเสรี ส่งเสริมไฟฟ้าสะอาดพลังงาน

  • หลังคาสร้างรายได้ ด้วยการเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ครัวเรือน
  • ปลดล็อกระเบียบ สร้างตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรีของประชาชน
  • ประกันราคา ไฟฟ้าสะอาด สำหรับครัวเรือน
  • ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด ภายในปี 2580

ด้านการเกษตร ป้องกันการเผา เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้

  • กำจัดการเผาภายในเวลา 3 ปี งบปรับตัวตำบลละ 3 ล้านบ. 1,000 ตำบล
  • เปลี่ยนการเผาเป็นเงินในกระเป๋าเกษตรกร งบอุดหนุนปลูกข้าว เปียกสลับแห้ง แทนการเผา สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปฟางข้าว-ซังข้าวโพดแทนการเผา
  • ฟาร์มปศุสัตว์ 1. บ่อหมักก๊าซชีวภาพ(เป็นอย่างน้อย) เปลี่ยนมีเทนเหลือทิ้งให้เป็นพลังงาน

ด้านอุตสาหกรรม จำกัดการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม

  • กำหนดเพดารและเปิดตลาด(cap%trade)การปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่ายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยนโควตา
  • PRTR กฏหมายเปิดข้อมูล บังคับให้ทุกโรงงานเปิดข้อมูล สารพิษอันตลายกับก๊าซเรือนกระจก

ขยะ Zero food waste กำจัดขยะอาหารเหลือทิ้ง

  • เพิ่มค่าขยะอาหารในห้างใหญ่ บังคับแยกขยะ เก็บข้อมูล ทำบัญชีขยะอาหาร
  • อาหารเหลือทิ้งแลกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมคนในชุมชนให้ทำปุ๋ยจากอาหารเหลือทิ้ง เพื่อเป็นคูปองซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์

พื้นที่สีเขียว ป่าแลกเงิน เพิ่มพื้นี่สีเขียว

  • ต้นไม้ปลดหนี้ รัฐจ่ายหนี้ค้างให้กับเกษตรกร ในฐานะค่าเช่า แลกกับใ้ชที่ดินของเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น
  • ต้นไม้บำนาญ คนปลูกได้รับรายได้เป็นรายเดือน 12,000 บ./ไร่/เดือน เป็นเวลา 20 ปี
  • ต้นไม้ทุนรัฐบาล อุดหนุนปลูกป่าชุมชรน 4,000 บ./ไร่ ในช่วงเวลา 3 ปี
  • ต้นไม้ชุมชน อุดหนุนปลูกป่าชุมชน 4,000 บ./ไร่/ปี จำนวน 1,000 ชุมชน
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ด้วยการเพิ่มงบท้องถิ่น ผ่านนโยบายจังหวัดไทยก้าวหน้า

ปรับปรุงกฎหมาย สร้างดุลยภาพมนุษย์-สิ่งแวดล้อม

ดร.ปลอดประสพ  สุรัสวดี ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่าโลกขณะนี้เจอปัญหาสิ่งแวดล้อม 9 ด้าน โดยในส่วนของประเทศไทยมี 3 เรื่องใหญ่ คือ โลกร้อน มลพิษ และความหลากหลายชีวภาพ ดังนั้น การรักษาดุลยภาพของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์พูนสุขของประเทศต้องมีการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม มีการประมวลกฎหมาย ควบคุมจุดกำเนิด และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องของฝุ่น PM 2.5 ที่ทุกภาคส่วนต้องเกี่ยวข้อง รวมถึงดูแลเรื่องของทรัพยากรทางทะเล จะให้ผู้พิทักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ได้รับสิ่งที่ตอบแทน โดยอาจจะมีกองทุนที่จ่ายโดยรัฐบาลส่วนหนึ่ง และผู้ที่ทำสิ่งแวดล้อมเสียหายจ่ายอีกส่วนหนึ่ง 

"การแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน จะมีการออกโฉนด 50 ล้านไร่ เพื่อปลูกต้นไม้เปลี่ยนระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพื่อสู่ Zero Waste กระบวนการผลิตภาคเกษตร ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง และน้ำเสีย และเรื่อง PM.25 กฎหมายสะอาดต้องเกิดขึ้นทันที รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศ ต้องทำทันที กองทัพต้องมีไว้ดับไฟป่า และต้องมีอุปกรณ์ ส่งเสริมพลังสะอาด มีการคุมการก่อสร้าง เครื่องฟอกอากาศตามโรงเรียนต้องมี"

ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาตลอด ซึ่งตอนนี้มีการจัดส่งน้ำ แต่ไม่มีการระบาบน้ำว่าแต่ละลุ่มน้ำควรจัดการอย่างไร ต้องทำให้ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เชื่อมต่อถึงกัน ต้องมีการปลูกป่า เพื่อซับน้ำ โอบอุ้มน้ำ และต้องมีประตูควบคุมน้ำระบบอัตโนมัติทั้งประเทศ 

ส่วนเรื่องเมืองอัจฉริยะ สิ่งแรกที่ต้องทำให้ได้ คือ รถไม่ติด การขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ เรือ รถไฟฟ้า ตั๋วใบเดียวตลอดสายได้ มีการดำรงชีพอัจฉริยะ โรงพยาบาลชั้นดีที่ดูแลได้ทุกโรค สถานที่ราชการไม่มีรั้ว ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย 

ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องแก้ความยากจน

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน  ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญของไทย และโลกซึ่งเป็นทางรอดของมนุษย์ ซึ่งการจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นต้องเริ่มจากการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  พรรคชาติไทยพัฒนาจึงจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับความยากจน โดยจะใช้เทคโนโลยี นำข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้  

ทั้งนี้ การเผาพืชผลทางการเกษตร และเผาป่า  หรือการเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ต้องมีการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น มีการบังคับกฎหมาย มีมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับพื้นที่ และหน่วยงานของรัฐ กรมต่างๆ ต้องมีการดำเนินการที่เข้มแข็งชัดเจน 

"หลักการง่ายๆ ของเราคือ จะต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ  เพราะคนในป่าเองก็มีความยากจน ในการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหานี้ เราเชื่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  แม้นิสิตนักศึกษาก็ต้องเข้ามาร่วมกัน ในปี 2566 มีการเปลี่ยนเกณฑ์มาตรฐานที่เร็วขึ้น และละเอียดขึ้น ประเทศ ประชาชนต้องการอากาศสะอาด แต่ในไทยแม้เครื่องกรองอากาศราคาถูกคุณภาพสูงยังหาซื้อไม่ได้ มีแต่คนรวยที่ซื้อได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่ามองปัญหาเพียงรายปี แต่เป็นปัญหาเชิงระบบที่จะต้องแก้ให้ได้"

ในการจัดการน้ำ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะมีทั้งน้ำดีและน้ำเสีย  ขณะเดียวกันที่มาของแหล่งน้ำ การใช้น้ำในแต่ละประเภทก็แตกต่างกัน อีกทั้งภาวะโลกร้อน  ปีนี้ฝนที่เข้ามาในประเทศไทยเปลี่ยนทิศทางแล้ว ส่งผลให้เขื่อนเก็บน้ำบางแห่งมีน้ำมากเกินไป แต่บางแห่งจะไม่มีน้ำ พรรคชาติไทยพัฒนา จะใช้งบประมาณเพื่อให้แก้พื้นที่ภัยแล้ง จะมีการส่งเสริมการนำทรัพยากรธรรมชาติมาสร้างมูลค่า  

พรรคชาติไทยพัฒนาได้กำหนดภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวไปสู่ 'ประเทศที่ยั่งยืน เพื่อลูกหลานไทย' ทั้งหมด 9 ภารกิจ ได้แก่ 

1. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของประเทศในอนาคต และทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ และเติบโตพร้อมกับความยั่งยืนของโลก

2. พลังงานสะอาด (Clean Energy)  พัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด เป็นพลังงานหลักของประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2030

3. เมืองสีเขียว (Green City)  การพัฒนาทุกจังหวัดให้น่าอยู่ น่าเที่ยว ประชาชนมีความสุขทั้งกายและใจ และมีสวนสาธารณะที่มีคุณภาพทั่วทั้งประเทศ

4. สิ่งแวดล้อมสีเขียว (Green Environment)  การพัฒนาให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่ดี มีป่าไม้ แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

5. ท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลกด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการดูแลสภาพแวดล้อม และการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

6. อาหารแห่งอนาคต (Future Food) พัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอาหารคุณภาพ และอาหารสุขภาพ ในราคาที่จับต้องได้

7. เกษตรสีเขียว (Green Agriculture)  ยกระดับเกษตรกรด้วยนวัตกรรมสีเขียว พัฒนาผลผลิตที่ดีควบคู่ความยั่งยืนของชุมชนและสภาพแวดล้อม รวมถึงถ่ายทอดภูมิปัญญาผ่านปราชญ์ชุมชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการเกษตร

8. สาธารณสุขเชิงป้องกัน (Preventive Public Health)  สนับสนุนให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจให้แข็งแรง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข รวมถึงมีโปรแกรมรางวัลสำหรับผู้ที่ไม่เจ็บ ไม่ป่วย เพื่อจูงใจให้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

9. การเมืองสร้างสรรค์ (Constructive Politics) ทำการเมืองสร้างสรรค์ ร่วมมือกันทำงาน ตรวจสอบ ถ่วงดุล และไม่ขัดแย้ง เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ

ตั้งกระทรวงน้ำ หนุนพ.ร.บ.อากาศสะอาด

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช  ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าสนับสนุนพ.ร.บ.อากาศสะอาด เพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของมลพิษทางอากาศ การบริหารจัดการน้ำ มีเราไม่มีน้ำแล้ง มีเราไม่มีจน จะมีการจัดตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำอย่างมีระบบ ขณะที่การจัดการขยะ จะมีการคัดแยกขยะ ทั้งขยะเปียกและขยะแห้งในทุกๆ องค์กร

ส่วนเรื่องของฝุ่น PM2.5 อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าแต่ละพื้นที่ ฝุ่นมาจากไหน ซึ่งในกทม.มาจากการเผาไหม้สันดาป จะมีการสนับสนุนเรื่องรถไฟฟ้า หรือในพื้นที่ภาคเหนือ จะมีการปัญหามาจากการเผา ก็จะมีการเรื่องของการเผาป่า เผาพืชผลทางการเกษตร และมีการทำความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมด้วย 

นโยบายจัดตั้งกระทรวงน้ำ ดูแล 22 ลุ่มน้ำ โดยเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน การบริหารจัดการน้ำ จะพยายามสร้างแหล่งน้ำสำรองเพื่อชุมชนในการเกษตร  เราจะมีการทำฝายกั้นน้ำ มีแนวระบาบน้ำ มีการขุดแก้มลิงที่เพียงพอ  เรามีปริมาณฝนที่ค่อนข้างมากถ้าเราจัดเก็บได้ เกษตรกรไทยจะไม่มีภาวะน้ำแล้ง ถ้าเกิดเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และคำนวณได้ว่าปริมาณน้ำเพียงพอ ก็จะช่วยชุมชนได้ และมีการบำบัดน้ำเสีย

เน้นยั่งยืน ปลูกต้นไม้สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีการดูแลสิ่งแวดล้อมในหลายๆ เรื่อง เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่าง การจัดตั้งกองทุนให้แก่เกษตรกร รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น มีการกระตุ้นผ่านกลไกภาษี  ส่วนเรื่องเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมการเพิ่มอินเตอร์เน็ต 5G  และสร้างสันติภาพซึ่งจะเป็นกลไกหลักทำให้เกิดการร่วมมือ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการจัดการขยะ

การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 นอกจากการผลักดันกฎหมายแล้ว ต้องมีความร่วมมือของอาเซียน ในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยต้องมีกลไกที่เข้าไปดูแล หรือกำกับในเรื่องของวัตถุดิบต้นทางถ้ามีการขัดแย้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ต้องมีการป้องกัน กลไกในการกำกับ  และมีการดำเนินการเรื่องของธนาคารต้นไม้ที่ใช้ทางด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ที่มีคุณค่าเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรฐาน ในเรื่องของพลังงาน และให้มีการพลังสะอาดทดแทน มีการให้คนมาสนใจลงทุนมากขึ้น และมีเรื่องเทคโนโลยี

นอกจากนั้น จะมีเครือข่ายชลกรในการดูแลแหล่งน้ำแต่ละพื้นที่ เรามีแนวคิดเครือข่าย มีระบบส่งน้ำที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ที่เน้นไปที่ประเด็นเรื่อง ความยั่งยืน เชื่อมโยงกับทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเมือง โดยต่อจากนี้ต้องมีคำว่ายั่งยืนต่อท้าย เพราะความยั่งยืนคือทิศทางโลกที่เปลี่ยนไม่ได้ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย  

อีกทั้งได้เตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษานโยบายสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม มีความเป็นไปได้ และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จัดทำแนวเขตป่า ออกโฉนดที่ดินให้เสร็จภายใน 4 ปี ทั้งหมดนี้จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน