ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาที่หลายคนคาดไม่ถึง | กษิดิศ สุรดิลก

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาที่หลายคนคาดไม่ถึง | กษิดิศ สุรดิลก

เทคโนโลยีดิจิทัลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน การพัฒนาและการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งโทรศัพท์มือถือที่มีการออกรุ่นใหม่ในแต่ละปี คอมพิวเตอร์ที่มีการพัฒนาฮาร์ดแวร์อย่างต่อเนื่อง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่พัฒนาให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่กลับนำมาซึ่งการเพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่กระนั้น คนบางส่วนยังไม่ทราบถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นและอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงกว่าที่คิด

Global E-waste Monitor (GEM) พบว่า ทั้งโลกผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ 53.6 ล้านตัน หรือประมาณ 7.3 กิโลกรัมต่อคน โดยทวีปเอเชียมีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ 24.9 ล้านตัน รองลงมาคือทวีปอเมริกาและยุโรป เป็นจำนวน 13.1 และ 12 ล้านตัน ตามลำดับ

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก GWI และ The Roundup ได้คาดการณ์ถึงปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2030 ว่าจะเพิ่มสูงถึง 74 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการเร่งใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการ Work from Home

โดยภาพรวมแล้ว สาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือพฤติกรรมของคนทั่วไปในการอุปโภคเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการซื้อหรือเข้าถึงอุปกรณ์ที่สูงขึ้น

รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น จึงทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

สาเหตุของปัญหาอีกประการหนึ่งคือ พฤติกรรมด้านการจัดการขยะ บางคนอาจนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าไปทิ้งในถังขยะที่ผิดประเภท หรือเทรวมกับขยะอื่น ซึ่งนำไปสู่การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผิดวิธี

สามารถสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้งการขาดแหล่งรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชน เช่น ถังขยะสีแดงที่รองรับขยะอันตราย ตู้รับทิ้งถ่านไฟฉาย หรือจุดรับบริการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์

ทำให้ประชาชนเลือกที่จะทิ้งรวมกับขยะอื่น ซึ่งก่อให้เกิดความลำบากและความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการจัดเก็บขยะของพนักงานเก็บขยะ

หรืออาจมีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งในพื้นที่พื้นที่รกร้างทั้งที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักประกอบด้วยกลุ่มโลหะหนัก อาทิ ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม

จากที่กล่าวมา การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยนั้นเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือพฤติกรรมการอุปโภคและพฤติกรรมด้านการจัดการขยะ

ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ การพัฒนาทางเทคโนโลยีและการขาดแหล่งรองรับ E-waste โดยปัจจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีถือเป็นประเด็นที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากเทคโนโลยีมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพและลดข้อจำกัดจากของเดิมให้มากที่สุด

ส่วนปัจจัยภายในอย่างการปรับพฤติกรรมการอุปโภค ถือเป็นประเด็นที่มีความท้าทาย เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ผู้คนลดการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ย่อมต้องใช้เวลานานและต้องมีแรงจูงใจที่สูงในการลดการอุปโภค

แต่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและสามารถลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างยั่งยืน

ส่วนปัจจัยด้านการปรับพฤติกรรมด้านการจัดการขยะ แม้ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้กับการปรับพฤติกรรมการอุปโภค โดยการปรับพฤติกรรมด้านการจัดการขยะนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ภาครัฐควรมีกฎระเบียบในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ให้ผู้ผลิตหรือผู้ค้ามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมีการออกแบบจุดรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ครบถ้วนมากขึ้น เช่น จุดรับทิ้งหลอดไฟ จุดรับทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ควรมีการมอบหมายให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการวางระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น การจัดเตรียมฐานข้อมูลประเภทและปริมาณของขยะที่จัดเก็บได้ แผนที่ระบุจุดรองรับ E-waste ที่แสดงผลสัญลักษณ์ของประเภทขยะที่รองรับ

อาทิ ตราสีเขียวเป็นจุดรองรับแบตเตอรี่ และระบบที่เอื้อต่อการจัดการ E-waste เช่น ระบบสะสมแต้ม ระบบแลกขยะเป็นคูปองหรือเงินสด เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาคัดแยกขยะมากขึ้น

ในส่วนของภาคเอกชน ควรให้ความร่วมมือในการกระจายจุดรองรับ E-waste ในพื้นที่ของตน ดังเช่นกรณีโครงการ “E-waste green network” ของ AIS

เพื่อกระจายจุดรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับศูนย์การค้า ที่ทำการไปรษณีย์ มหาวิทยาลัย และอื่นๆ ทำให้ประชาชนสามารถจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

สำหรับประชาชนต้องมีการทำความเข้าใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ว่าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทใด ประกอบกับการศึกษาวิธีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกวิธีและเหมาะกับประเภทของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นๆ

จากการร่วมมือทั้ง 3 ฝ่ายนี้จะสามารถนำไปสู่การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และสามารถนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างยั่งยืน.