“อัพสกิล”หนุน“งานชนคน” คุณภาพแรงงานกับความยั่งยืน
วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” เป็นช่วงเวลาที่สังคมจะนำประเด็นด้านแรงงานมาพูดคุยกันในวงเล็กบ้าง หรือวงใหญ่ระดับวาระแห่งชาติบ้าง ในส่วนของภาคธุรกิจก็ให้ความสำคัญกับแรงงาน
โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้มีการสำรวจความเห็น FTI Poll ครั้งที่ 28 ในเดือนเม.ย. 2566 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองของภาคอุตสาหกรรมต่อการจ้างงานและการปรับตัวของแรงงานในอนาคต”จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 218 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ได้ข้อสรุปด้านหนึ่งคือ ทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 เป็น ทักษะทางวิศวกรรม (Engineering Skills) อันดับ 2 เป็น ทักษะทางดิจิทัล (Digital Skills) และอันดับ 3 เป็น ทักษะทางการวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics)
สอดคล้องกับการทำงานกระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของแรงงาน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหลายหน่วยงานมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในองค์กรมากขึ้น เพื่อสอดคล้องตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่กำหนดเป้าหมายพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และพัฒนาคนในประเทศให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรู้ความสามารถ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงานและใช้ในชีวิตประจำวัน
ด้านกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงาน ทั้งในรูปแบบ Online และ Onside ผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบทั่วประเทศ โดยหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากในปี 2566 ได้แก่ หลักสูตรการใช้โปรแกรม Microsoft Excel Advance หลักสูตรการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อธุรกิจออนไลน์ หลักสูตรการพัฒนาโปรแกรมภาษา JavaScript ด้วย NodeJS หลักสูตรการใช้งาน Google application เพื่อเชิงธุรกิจ และหลักสูตรการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในงานแอปพลิเคชันประมวลผลด้วยภาษา Python ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2566 จำนวน 23,214 คน และปี 2567 จำนวน 27,754 คน โดยเน้นอาชีพใหม่ด้านดิจิทัลที่จะเกิดขึ้น เพื่อรองรับความต้องการแรงงานด้านดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที
ประเทศไทยได้ดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เร่งพัฒนาและยกระดับทักษะความสามารถของแรงงาน เพื่อรองรับตลาดในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ และการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่แรงงานถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แรงงานสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ซึ่งสุดท้ายทุกนโยบายที่ดำเนินการไปจะส่งผลเห็นประโยชน์ที่ประชาชน และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน