คลื่นความร้อนกับนโยบายภาครัฐที่ต้องปรับตัว | ศลิษา ฤทธิมโนมัย
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งอยู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศร้อนชื้นมาอย่างยาวนานเป็นทุนเดิม อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับ “คลื่นความร้อน” (Heat Wave) ที่บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 นี้เป็นต้นไปภูมิภาคแปซิฟิกซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยจะเผชิญกับ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ที่มีความรุนแรงมากกว่าในอดีต ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นมีความร้อนและแห้งแล้งมากกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาคเกษตรกรรม สุขภาพของมนุษย์ และวิถีชีวิตของผู้คน
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายที่บรรเทาผลกระทบอันเกิดจากคลื่นความร้อนให้ได้อย่างทันท่วงที
ในภาพใหญ่ ผลกระทบที่สำคัญของคลื่นความร้อนเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตรกรรมของไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวและสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก คลื่นความร้อนสามารถนำไปสู่การขาดแคลนน้ำและผลผลิตที่ลดลง
จากการศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) พบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลผลิตข้าวลดลงร้อยละ 10 รวมถึงแมลงศัตรูพืชและโรคระบาดที่อาจเพิ่มขึ้นด้วย
ดังนั้น คลื่นความร้อนจึงกระทบกับความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร
ด้วยเหตุนี้ การใช้นโยบายที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่รุนแรง (Climate-Resilient Agriculture) ได้จึงถือเป็นเรื่องจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลสามารถสนับสนุนการเพาะปลูกพืชที่ทนต่อความแล้ง
ประกอบกับการพัฒนาระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการให้เงินทุนวิจัยสำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ ที่ทนทานต่อคลื่นความร้อนให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ระบบประกันภัยพืชผลอย่างแพร่หลายมากขึ้น
โครงสร้างพื้นฐานและผังเมืองนับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังวล เนื่องจากอาคารในประเทศไทยจำนวนมากสร้างจากวัสดุที่ดูดซับความร้อน อุณหภูมิที่สูงอาจทำให้ถนน อาคาร และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เสียหายได้
รวมถึงการที่อุณหภูมิในเขตเมืองสูงกว่าพื้นที่ชนบทโดยรอบ อันเนื่องมาจากอาคารที่ดูดซับความร้อนโดยตรงจากแสงอาทิตย์ และความร้อนจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง เช่น การใช้รถยนต์
ทำให้คลื่นความร้อนสามารถส่งผลกระทบต่อประชากรที่เปราะบางในเขตเมืองใหญ่ เช่น ผู้สูงอายุ และชุมชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีกำลังที่จะป้องกันตนเองจากคลื่นความร้อนได้น้อยในระดับที่รุนแรงได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ภาครัฐอาจใช้นโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานให้ทนต่อสภาพอากาศที่รุนแรง (Climate-Proof Infrastructure) เช่น การสนับสนุนให้ใช้วัสดุกันความร้อนในการก่อสร้างและปรับปรุงฉนวนของอาคารเพื่อลดการดูดซับความร้อน
รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เช่น สวนสาธารณะ ซึ่งสามารถช่วยลดผลกระทบจากเกาะความร้อนในเมืองได้โดยการให้ร่มเงาและการระเหยของไอระเหยซึ่งทำให้อากาศเย็นลง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถเพิ่มการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่แพงและการขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยให้ประชากรที่เปราะบางสามารถรับมือกับผลกระทบของคลื่นความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
ผลกระทบที่สำคัญและใกล้ตัวที่สุดของคลื่นความร้อนคือ ผลกระทบที่เกิดต่อสุขภาพของประชาชน คลื่นความร้อนสามารถนำไปสู่อาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น โรคลมแดด ภาวะขาดน้ำและ ภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนถึง 234 คนในระหว่างปี 2558-2564 หรือคิดเป็นเฉลี่ย 33 คนต่อปี และมีรายงานผู้ป่วยจากโรคดังกล่าวประมาณ 2,500-3,000 คนต่อปี
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผู้กำหนดนโยบายในประเทศไทยควรให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับวิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันโรคที่เกิดจากความร้อน โดยการเสริมสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความร้อน และการส่งเสริมมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับคลื่นความร้อน
เช่น การดื่มน้ำให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ โดยควรพิจารณาเพิ่มช่องทางการรณรงค์และให้ข้อมูล เช่น อาสาสมัครด้านชุมชนและสุขภาพต่างๆ สื่อสารทางสื่อโซเชียลมีเดีย หรือรูปภาพข้อมูลที่สามารถส่งต่อผ่านกรุ๊ปไลน์ได้ เป็นต้น
โดยสรุป คลื่นความร้อนในประเทศไทย ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ทั้งต่อประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย การดำเนินนโยบายที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวเข้ากับผลกระทบของคลื่นความร้อนได้ และสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับพลเมืองของตน