‘คลื่นความร้อน’ Monster Asian Heatwave ถล่มเอเชีย ไทยก็โดนด้วย!
ร้อนระอุไม่หยุด! ไทยเผชิญ “อากาศร้อน” ที่สุดท่ามกลาง “คลื่นความร้อน” Monster Asian Heatwave ช่วงปลายเดือน เม.ย.66 มาแล้ว แต่ดูเหมือนว่ามันยังไม่จบ เพราะตอนนี้หลายพื้นที่ยังคง “ร้อนจัด” ต่อเนื่อง
ชวนย้อนรอย “ปีศาจคลื่นความร้อนแห่งเอเชีย” (Monster Asian Heatwave) ที่กลายเป็นนิยามของปรากฏการณ์ “อากาศร้อนจัด” ที่โหดร้ายและรุนแรงของคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแถบเอเชียในปี 2566 นี้ และนักพยากรณ์อากาศคาดว่าจะเกิดคลื่นความร้อนลักษณะนี้อีกหลายระลอก
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจคำว่า "คลื่นความร้อน (Heat Wave)" กันก่อน โดยทั่วไปคลื่นความร้อนหมายถึง ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง อาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหรือกินเวลานานหลายสัปดาห์ก็ได้
ทั้งนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ก็ได้กำหนดนิยามคลื่นความร้อนไว้ด้วยว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก อากาศบนบกและท้องทะเลมีอุณหภูมิเฉลี่ยร้อนขึ้น พืชและสัตว์ล้มตายและเสี่ยงสูญพันธุ์ รวมถึงสภาพอากาศจะยิ่งแปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- Monster Asian Heatwave คืออะไร? เกิดกับประเทศไหน?
ในขณะที่ Monster Asian Heatwave ถูกนิยามว่าเป็นคลื่นความร้อนที่ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรถึง 1 ใน 3 ของโลกในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อินเดีย, เมียนมา, ไทย, ลาว, เวียดนาม, จีนตอนใต้, ฟิลิปปินส์, เนปาล, บังคลาเทศ, สิงคโปร์ ฯลฯ
จากการติดตามข้อมูลกรมอุตุฯ แต่ละประเทศพบว่า ในหน้าร้อนเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา บางประเทศในแถบเอเชียมีอุณหภูมิสูงพุ่งทะลุ 45 องศาเซลเซียสในอินเดีย ไทย และเมียนมา และอุณหภูมิสูงแตะ 42-43 องศาเซลเซียสในบังกลาเทศ ลาว เวียดนาม เนปาล และจีน ซึ่งอุณหภูมิสูงขนาดนี้ประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ไม่เคยประสบมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคลมแดด (ฮีสโตรก) จำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่นในช่วงกลางเดือน เม.ย. 66 ที่ผ่านมา CNN รายงานว่ามีประชากรชาวอินเดีย เสียชีวิตจากฮีทสโตรกถึง 13 คน และอีก 50-60 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังจากเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลมหาราษฏระภูชาน ซึ่งเป็นรางวัลจากรัฐบาลที่มอบให้แก่พลเรือนที่ทำคุณความดีในเมืองนาวีมุมไบ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย รายงานระบุด้วยว่าพิธีดังกล่าวจัดขึ้นกลางแจ้ง โดยมีผู้คนหลายหมื่นคนรวมตัวกันแน่นขนัดท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด
ด้าน มักซิมิเลียโน เอร์เรรา นักภูมิอากาศวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ ได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของเขา ระบุว่า ปีนี้ทวีปเอเชียกำลังประสบกับ “คลื่นความร้อนเดือนเมษายนที่เลวร้ายที่สุด” ในประวัติศาสตร์ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความแห้งแล้งอันยาวนานและอาจรุนแรงขึ้นจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายปี 2566 นี้
- เช็กผลกระทบอากาศร้อนจากฮีทเวฟต่อประชากรโลก
หากย้อนไปช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อน (เดือนเม.ย.66) มีรายงานพบอากาศร้อนจัดในประเทศแถบเอเชียเกิดขึ้นมากมายหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น “หลวงพระบาง ประเทศลาว” พบอุณหภูมิพุ่งสูงทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาล 2 วันติดคือ 42.7 - 42.9 องศาเซลเซียส ด้าน “บังคลาเทศ” มีรายงานบันทึกอุณหภูมิสูงแตะ 40.6 องศาเซลเซียส สูงสุดในรอบ 6 ทศวรรษ
ส่วน “รัฐตริปุระ” ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และ “รัฐเบงกอลตะวันตก” ของอินเดีย รายงานพบอุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จนทางการต้องสั่งปิดโรงเรียน
ด้าน “ฟิลิปปินส์” มีรายงานว่าอุณหภูมิสูงถึง 37 องศาเซลเซียส สภาพอากาศร้อนจัดจนเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเกือบ 150 คนในจังหวัดทางตอนใต้ของกรุงมะนิลา ป่วยเป็นลมแดดหลังจากไฟฟ้าดับในโรงเรียน นอกจากนี้ “ญี่ปุ่น” และ “เกาหลี” ยังประสบกับอุณหภูมิที่สูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงผิดปกติสำหรับฤดูกาลนี้
ขณะที่ “จังหวัดตาก ประเทศไทย” ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็พบอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดที่เคยบันทึกไว้ในไทย แต่หากเปรียบเทียบกับสภาพอากาศล่าสุด ณ เดือน พ.ค. 2566 พบว่าอุณหภูมิสูงสุดของ จ.ตาก อยู่ที่ 38-41 องศาเซลเซียส แม้อุณหภูมิลดลงกว่าสองสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีอากาศร้อนจัดต่อเนื่อง
ที่มาภาพ : Scott Duncan
- ต้นเดือน พ.ค. 2566 ไทยยังคง "ร้อนจัด" ต่อเนื่อง
ส่วนภาคอื่นๆ ในไทยที่มีรายงานสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่องในช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566 ได้แก่
ภาคเหนือ อุณหภูมิสูงสุด 38-42 องศาเซลเซียส บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ถัดมาคือ ภาคกลาง อุณหภูมิสูงสุด 38-39 องศาเซลเซียส บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม นักพยากรณ์จากหลายประเทศต่างให้ความเห็นตรงกันว่า คลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นในปีนี้ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (ปล่อยก๊าซเรือนกระจก/เผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล) จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น
เมื่อโลกร้อนขึ้นก็ส่งผลกระทบให้คลื่นความร้อนเกิดได้บ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งคาดว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ และช่วงปลายปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งสามารถผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้อีกราว 0.2 องศาฯ และส่งผลให้เกิดภัยแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้นักพยากรณ์อากาศเตือนอีกว่า มนุษย์โลกยังจะต้องเผชิญกับสถิติคลื่นความร้อนรุนแรงระลอกใหม่อีกครั้งในช่วงฤดูร้อนปีหน้า
----------------------------------------
อ้างอิง : Straitstimes, USAtoday, Independent, CNN