‘พริมาอาสา ปีที่ 3’ ปลูกป่าบก 15 ไร่ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดอุณหภูมิโลก
สภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและระบบนิเวศ ส่งผลให้ทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงและลดอุณหภูมิของโลกที่กำลังจะสูงขึ้น
Keypoint:
- ต้นไม้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เพราะทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลก
- พริมา มารีน เล็งเห็นความสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาโลกร้อน ได้มีการจัดโครงการพริมาอาสา ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มีการปลูกป่าบก15 ไร่
- ตั้งเป้าปลูกป่า 100 ไร่ พร้อมปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักให้แก่พนักงานทุกคนร่วมกันดูแลผืนป่า และลดการใช้พลาสติก
โดยประเทศไทยได้มีการประกาศอย่างชัดเจนในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065
การจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ในประเทศแล้ว ต้องดำเนินการดูดกลับคืนก๊าซคาร์บอนฯร่วมด้วย ซึ่งการดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ คือการปลูกป่า ไม่ว่าจะเป็น ป่าบก หรือป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด 'บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน)' เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน ได้ดำเนินการโครงการ 'พริมาอาสา' ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ในการปลูกป่า ปลูกจิตสำนึก สร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจและสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'พริมาอาสา'ปลูกป่าบกดูดซับคาร์บอนฯ
ปีนี้เป็นปีแรกที่ทาง 'พริมาอาสา' ได้ปลูกป่าบก ณ บริเวณอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งป่าบก เป็นป่าไม้ที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนฯได้ประมาณหนึ่งในหกส่วนของปริมาณที่ถูกปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศทั้งหมด และช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนฯถึงประมาณ 30% ของปริมาณทั้งหมดที่ถูกปลดปล่อยจากภาคส่วนการใช้พลังงานฟอสซิล และภาคส่วนอุตสาหกรรม
สุพล คำเสนาะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี เล่าว่าอุทยานแห่งชาติไทรโยคมีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 550,000 ไร่ ซึ่งภายในพื้นที่ดังกล่าวมีบางส่วนเป็นป่าเสื่อมโทรม และพื้นที่คดีที่มีการตรวจยึดจับกุม โดยพื้นที่เหล่านี้จะมีสภาพป่าที่ไม่สมบูรณ์ ต้องมีการปลูกป่าฟื้นฟู การที่ทางบริษัท พริมา มารีน ได้มาร่วมปลูกป่า 15 ไร่ ในบริเวณที่เป็นพื้นที่คดีตรวจยึดเมื่อปี 2552 เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ จะช่วยปลูกป่าทดแทน ที่จะทำให้เกิดป่าที่อุดมสมบูรณ์ต่อระบบผืนป่าและระบบนิเวศอย่างมาก
“กิจกรรมปลูกป่าที่ทางพริมา มารีน ได้มาลงนามความร่วมมือกับทางอุทยานแห่งชาติฯ และได้พาพริมาอาสาลงพื้นที่ปลูกป่าจริงๆ นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูผืนป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการช่วยดูดซับกักเก็บคาร์บอนฯ ลดโลกร้อน เพิ่มออกซิเจนให้แก่โลกและสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการสะสมคาร์บอนเครดิต ซึ่งการปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี” สุพล กล่าว
ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ และกำลังคน ทางอุทยานแห่งชาติไทรโยคมีนโยบายในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาร่วมปลูกป่า ภายใต้การลงนามความร่วมมือในการใช้คาร์บอนเครดิตของบริษัทฯ
ตั้งเป้าปลูกป่า 100 ไร่ ดูดซับคาร์บอนฯ
สุพล เล่าต่อว่าการที่ทางพริมา มารีน ได้นำพนักงาน เจ้าหน้าที่ และส่งเสริมโครงการเกี่ยวกับการปลูกป่า เป็นสิ่งที่ดีอย่างมาก เพราะป่ามีความสำคัญอย่างมากในการช่วยลดอุณหภูมิของโลก อีกทั้งการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ พนักงานที่ในชีวิตประจำวันของพวกเขาคงมีน้อยคนที่จะได้มีโอกาสปลูกป่า สัมผัสสภาพป่าจริงๆ การจัดกิจกรรมดังกล่าว จะทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ รักและหวงแหนป่าไม้ อยากให้ทุกภาคธุรกิจร่วมกันปลูกจิตสำนึกในการปลูกป่า ดูแลผืนป่าให้มากขึ้นยิ่งๆขึ้นไป
'พริมาอาสา ปีที่3' ได้มีการดำเนินการปลูกป่าไปเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2566 โดยมี 'พร้อมพงษ์ ชัยศรีสวัสดิ์สุข' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันและปิโตรเคมีเหลวทางเรืออย่างครบวงจร นำทีมคณะผู้บริหาร 'สุธาสินี หมื่นละม้าย' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพาณิชย์ และการลงทุน และ 'ปกาศิต คำแสง' ผู้อำนวยการสายงานเทคนิค และพนักงานอีกเป็นจำนวนมาก ร่วมกิจกรรม
สุธาสินี เล่าว่าโครงการ พริมาอาสา ได้มีการดำเนินการมาปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 โดย 2 ปีแรกได้มีการปลูกป่าโกงกาง ป่าชายเลน และปีนี้จะเป็นปีแรกของการปลูกป่าบก โดยจะเริ่มปลูกทั้งหมด 15 ไร่ และในปีถัดไปจะขยายการปลูกมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการปลูกป่า 100 ไร่ เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน
“แคมเปญในการปลูกป่า เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่พริมา มารีน ให้ความสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาโลกร้อน เพราะเราเป็นบริษัทขนส่งทางเรือ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินธุรกิจมีการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทฯได้มีการจัดกิจกรรมปลูกป่า พร้อมกับกิจกรรมภายในบริษัทฯ โดยจะมุ่งเน้นการใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดควบคู่ไปกับการปลูกฝังค่านิยม สร้างความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานของพริมา มารีน” สุธาสินี กล่าว
ต่อจากนี้ บริษัทฯ พริมา มารีนจะมีการดำเนินการเรื่องของการปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถสะสมคาร์บอนเครดิตได้เพราะต้องรอให้ต้นไม้เจริญเติบโต หรือลดให้ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ทันที แต่เชื่อมั่นว่าหากมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกปี และมีการติดตามสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แน่นอน
สุธาสินี เล่าต่อว่าทุกโครงการปลูกป่าจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางบริษัทฯ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน Green Voyage ในการดูแลบริหารจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมถึงมีการกระตุ้น และความร่วมมือให้ทั้งในองค์กร และเรือขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์เคมี พนักงานทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ปรับพฤติกรรม และมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโลกร้อน
สร้างความตระหนัก ปลุกจิตสำนึกดูแลป่า
ปกาศิต เล่าเสริมว่าพริมา มารีน เป็นธุรกิจการเดินเรือขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์เคมี ซึ่งมีเรือหลายขนาด เราตระหนักในเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการ 2 ประเด็นหลักๆ ผ่านคณะทำงาน Green Voyage คือ 1.การบริหารจัดการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดค่าคาร์บอนฯที่ปล่อยโดยตรงจากการทำงาน และ 2.หาวิธีการ เครื่องมือ นวัตกรรมในการลดคาร์บอนฯ หรือดูดกักเก็บคาร์บอนฯ จึงเป็นที่มาของการปลูกป่าในแต่ละปี
“การปลูกป่าเป็นวิธีการที่ดีในการช่วยดูดซับกักเก็บคาร์บอนฯ ซึ่งอุทยานแห่งชาติไทรโยคเองมีป่าที่ต้องการฟื้นฟู การที่พริมา มารีน และพนักงานในบริษัทฯได้มีโอกาสมาปลูกป่ามากขึ้น จะเป็นการสร้างความตระหนักให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและช่วยปลุกจิตสำนึกให้แก่พนักงาน ซึ่งพริมา มารีนจะมีการขยายพื้นที่การปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น เพื่อดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ ในการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ร่วมด้วย” ปกาศิต กล่าวทิ้งท้าย
ปลูกป่า ดูแลสิ่งแวดล้อมสู่ธุรกิจยั่งยืน
บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2563 เรื่องการใช้เชื้อเพลิงเรือที่ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งใน ก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมกองเรือ (International Maritime Organization หรือ IMO) ต่อมาได้เน้นเรื่องการจัดการขยะ
รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษจากเรือเพื่อจำกัด หรือลดปริมาณของเสียต่างๆ ให้ได้มากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจมีการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันโลว์ซัลเฟอร์ ทดแทนน้ำมันเดิมที่เป็นไฮซัลเฟอร์ กำมะถันน้อยลง หรือการติดอุปกรณ์ Ballast Water Management System ลดผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ
ทั้งนี้ ในปี 2566 นี้ มีการตั้งเป้าปลูกป่า 100 ไร่ และมีลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการใช้พลาสติกในองค์กร เช่น สวัสดิการน้ำดื่มของพนักงานมีการลดใช้ขวดน้ำดื่มพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ปีละ 270,000 ขวด เปลี่ยนมาให้ทุกคนพกแก้วของตัวเองมาใช้บริการจุดกดน้ำ เพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก ซึ่งพนักงานทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี ขณะที่เรือขนส่งต่างๆ มีการลดใช้พลาสติกมากขึ้น
นอกจากนั้น บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทขนส่งสินค้าน้ำมันทางทะเล จึงต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ให้ความสำคัญและปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลกิจการของบริษัทและกลุ่มบริษัทที่ดีและยั่งยืน