นับถอยหลัง 20 ปี มองฟ้าไม่เห็นดาว เหตุ ‘มลพิษทางแสง’

นับถอยหลัง 20 ปี มองฟ้าไม่เห็นดาว เหตุ ‘มลพิษทางแสง’

การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นยามค่ำคืนกลายเป็น “มลพิษทางแสง” บดบัง “การดูดาว” และ การมองเห็น “ทางช้างเผือก” คาดอีก 20 ปีจะมองไม่เห็นดาวสักดวง ซ้ำร้ายส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์

หากคุณอยู่ในเมืองแล้วลองเงยหน้ามองขึ้นท้องฟ้าตอนกลางคืน จะพบว่าท้องฟ้าในตอนนี้ไม่ได้กลายเป็นสีดำสนิทเหมือนเคย เหลือทิ้งไว้เพียงดวงดาวเพียงไม่กี่ดวงเท่านั้นที่เปล่งแสงเป็นประกายให้เราเห็น ส่วนทางช้างเผือกที่ครั้งหนึ่งเคยมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็จางหายไป รับรู้ได้ทันทีว่าแตกต่างจากท้องฟ้าในอดีต เป็นเพราะในปัจจุบันมีแสงไฟฟ้าจากสถานที่ต่าง ๆ ส่องแสงแข่งกับเหล่าดวงดาว จนกลายเป็น  “มลพิษทางแสง”

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปัจจุบันมนุษย์ใช้แสงสว่างยามค่ำคืนในอัตราที่สูงมาก โดยเฉพาะ หลอดไฟ LED เพื่อให้มนุษย์สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในตอนกลางคืนได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างภายนอกบ้าน ตามท้องถนน สนามกีฬา สวนสาธารณะ หรือตามป้ายบิลบอร์ดและร้านค้า ซึ่งแสงสว่างเหล่านี้กระทบต่อการมองเห็นดวงดาวในยามค่ำคืน

  • มลพิษทางแสงส่งผลต่อการมองเห็นดวงดาว

ในปี 2016  นักดาราศาสตร์รายงานว่า 1 ใน 3 ของมวลมนุษยชาติไม่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกด้วยตาเปล่าได้อีกต่อไป เพราะมลพิษทางแสงที่เกิดจากการใช้แสงไฟของมนุษย์ และสถานการณ์ก็เลวร้ายลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งหากยังมีการใช้ไฟฟ้ายามค่ำคืนในอัตราเท่าปัจจุบันไปเรื่อย ๆ ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมองไม่เห็นดวงดาวบนท้องฟ้าอีกต่อไป ซึ่งจะสร้างความสูญเสียในเชิงวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างใหญ่หลวง

“ท้องฟ้ายามค่ำคืนนับเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และมันจะเป็นปัญหาใหญ่หากคนรุ่นหลังจะไม่เห็นหมู่ดวงดาวอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่พวกเขาไม่เคยเห็นรังนก” มาร์ติน รีส นักดาราศาสตร์หลวง แห่งสหราชอาณาจักรกล่าว

รีสเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐสภารวมพรรคว่าด้วยการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (All-Party Parliamentary Group for Dark Skies) เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการจัดการกับมลพิษทางแสง กำหนดมาตรฐานสำหรับความหนาแน่นและทิศทางของแสง ลดการประดับไฟในตอนกลางคืนลง และมีบทลงโทษทางกฎหมายที่ชัดเจน ตลอดจนแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานด้านอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด 

จากผลการวิจัยของ คริสโตเฟอร์ ไคบา นักฟิสิกส์จากศูนย์ธรณีวิทยาแห่งเยอรมนี พบว่า "มลภาวะทางแสง" ทำให้ท้องฟ้ายามค่ำคืนสว่างขึ้นประมาณ 10% ต่อปี ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดวงดาวต่าง ๆ ได้ เหลือไว้แต่ดวงดาวที่มีแสงสว่างมากพอที่จะสู้กับแสงไฟฟ้าได้

เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ หากเด็กแรกเกิดสามารถมองเห็นดวงดาวได้ 250 ดวง แต่เมื่อพวกเขาอายุ 18 ปี จะเหลือดวงดาวที่มองเห็นได้แค่เพียง 100 ดวงเท่านั้น

ไคบาเสริมว่า ในอดีตการมองเห็นกาแล็กซีทางช้างเผือกยามค่ำคืนด้วยตาเปล่าถือได้ว่าเป็นความงดงามและเป็นกิจกรรมสุดโรแมนติก

“คน 2-3 รุ่นก่อนหน้านี้ แค่แหงนมองฟ้าก็สามารถมองเห็นความสวยงามของจักรวาลได้ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก แต่ในตอนนี้คนที่จะมองเห็นทางช้างเผือกได้คงจะมีแต่คนที่รวยที่สุดในโลก และคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น ส่วนคนที่เหลืออาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นเลย”

อย่างไรก็ตาม ไคบาชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนวิธีการจัดไฟกลางแจ้งพวก เช่น ไฟประดับสวน หรือ ไฟตามถนน อาจจะช่วยลดผลกระทบการมองไม่เห็นดวงดาวไปได้บ้าง โดยต้องระมัดระวังไม่ให้ไฟส่องขึ้นไปบนท้องฟ้าและสว่างจ้าเกินไป พร้อมแนะนำว่าให้ใช้ไฟสีแดงหรือสีส้ม แทนสีน้ำเงินหรือขาว

 

  • มลภาวะทางแสงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต

นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางดาราศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว มลพิษทางแสงยังส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศอีกด้วย โดยเฉพาะกับเต่าทะเลและนกอพยพที่ใช้แสงจันทร์นำทาง มลภาวะทางแสงจะทำให้สัตว์เหล่านี้สับสนและหลงทาง 

นอกจากนี้ แสงไฟตามบ้านเรือนต่าง ๆ ยังดึงดูดให้พวกแมลงเข้าหา และมักจะตายเมื่อสัมผัสกับหลอดไฟเพราะความร้อน คล้ายกับสำนวนแมงเม่าบินเข้ากองไฟ

ร่างกายของมนุษย์เองก็ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงด้วยเช่นกัน ศ.โรเบิร์ต ฟอสเบอรี่ จากสถาบันจักษุวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน หรือ UCL กล่าวว่า หลอด LED และหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะปล่อยแสงสีฟ้าออกมา โดยไม่มีแสงสีแดงและแสงอินฟราเรดที่กระตุ้นให้กลไกสลายระดับน้ำตาลในเลือด และกระตุ้นการผลิตสารเมลาโทนิน ซึ่งเมื่อร่างกายขาดแสงสีแดงจึงทำให้เกิดโรคอ้วนและมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

“เราจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการพลิกโฉมหน้านวัตกรรมหลอด LED เพื่อให้เป็นแสงที่เป็นมิตรมากขึ้น แม้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่เราต้องทำ เพราะมันส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์” ฟอสเบอรี่ระบุ

นักวิจัยของ UCL กำลังเตรียมติดตั้งหลอดอินฟราเรดในโรงพยาบาลและหอผู้ป่วยหนักเพิ่มเติม เพื่อดูว่าหลอดไฟเหล่านี้มีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยหรือไม่

ปัญหาที่หนักกว่าการใช้ไฟฟ้ายามค่ำคืนปริมาณมาก คือ ประชาชนส่วนมากไม่รู้ว่ามลพิษทางแสงเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม ดังที่ศ.ออสการ์ คอร์โช จากมหาวิทยาลัยสารพัดช่างแห่งมาดริด กล่าวไว้ว่า “คนทั่วไปไม่รู้ว่ามลพิษทางแสงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พอ ๆ กับที่คนยุค 80 ไม่รู้ว่าสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอด”

 

ที่มา: New York PostThe GuardianWION