ขยะกับการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบ: ต้องแก้ไขอย่างไร? | อัครพงศ์ อั้นทอง
หลังการระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง ภาครัฐก็ได้ออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการผ่อนปรนมาตรการควบคุมต่างๆ รวมทั้งออกนโยบายกระตุ้นให้คนไทยออกมาท่องเที่ยว
ทำให้แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่เป็นเป้าหมายของคนไทยกลับมามีชีวิตชีวา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็มีโอกาสลืมตาอ้าปากอีกครั้ง
แต่เมื่อภาคท่องเที่ยวเริ่มกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งที่ตามการท่องเที่ยวมา นอกจากเรื่องรายได้แล้ว ยังมีเรื่องขยะที่เป็นเสมือนเงาที่ตามนักท่องเที่ยวมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใกล้หรือไกล จะสูงแค่ไหน ถ้านักท่องเที่ยวไปถึงได้ ขยะก็ไปถึงได้เช่นเดียวกัน
สำหรับประเทศไทยเอง กระแสการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ต่างฝันให้การท่องเที่ยวของไทยไปสู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ แต่ในบริบทของไทยในปัจจุบัน เราจะมีความพร้อมแค่ไหน จะสามารถไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่
ผู้เขียนและทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ศึกษาโครงการผลของการจัดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อธุรกิจ ชุมชน และผู้เยี่ยมเยือน สำหรับพื้นที่กรณีศึกษาได้เลือก อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษา
เพราะเชียงคานเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางที่คนไทยนิยมเดินทางไปเที่ยว สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยในปี 2563 แม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม แต่ตัวเลขการมาเยือนเชียงคานของคนไทยยังสูงถึง 1.9 ล้านคน
และเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (หรือ green season) ส่วนปี 2565 ก็มีคนไทยมาเยือนกว่า 5.4 แสนคน ขณะที่สองเดือนแรกของปี 2566 มีคนไทยไปเยือนเชียงคานแล้วกว่าเกือบ 8.0 แสนคน
จากผลการศึกษาในประเด็นนักท่องเที่ยวกับขยะของเชียงคาน พบว่า ในปี 2562 เชียงคานมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 1.12 ล้านคน (มีรายรับจากการท่องเที่ยวประมาณ 2.76 พันล้านบาท)
ขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่อคนอยู่ที่ประมาณ 0.6 กิโลกรัม หรือนักท่องเที่ยวได้สร้างขยะประมาณ 663 ตัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 28 ของปริมาณขยะที่เทศบาลจัดเก็บได้
ทำให้เทศบาลตำบลเชียงคาน ต้องแบกรับภาระทางด้านงบประมาณสำหรับใช้ในการจัดการขยะปีละกว่าครึ่งล้านบาท ซึ่งอาจดูเหมือนน้อย แต่อย่าลืมว่าขยะนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น ขยะที่ทิ้งก็จะกลายเป็นขยะที่ทับถมสะสมไปเรื่อยๆ นับวันจะยิ่งพอกพูนขึ้น จากเนินน้อยก็จะกลายเป็นภูเขาขยะได้
ที่จริง เราล้วนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ขยะจะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และลดต้นทุนการจัดการได้โดยการคัดแยก แต่ถึงอย่างนั้น ในบรรดาขยะที่ทิ้งก็ยังคงปะปนกันไปนั้น ต้นทางอาจแยก แต่ก็อยู่ในถุงขยะสีเดียวกัน ขั้นตอนการจัดเก็บก็จะเป็นรถขยะคันเดียวกัน เวลาจัดเก็บเดียวกัน ขยะก็เลยปนๆ กันไปอย่างที่เห็น
ถึงแม้เทศบาลตำบลเชียงคาน จะได้เคยพยายามแก้ไขปัญหาขยะ ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องจักรกำจัดขยะราคาแพงมาใช้ โดยขอความร่วมมือกับประชาชนให้คัดแยกขยะ เมื่อประชาชนคัดแยก แต่การจัดเก็บขยะของเทศบาลยังเป็นการจัดเก็บแบบรวมๆ กันไป
ประชาชนก็ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเสียเวลาคัดแยก เมื่อเทศบาลเจอเข้ากับขยะที่ไม่ได้คัดแยก ก็ต้องเสียใช้จ่ายไปกับการแยกขยะเพิ่มเติม แต่ก็ยังคงมีขยะต่างประเภทปนกันมา และในที่สุดขณะนี้เครื่องจักรที่ลงทุนไปก็เสียหายจนไม่สามารถดำเนินการต่อได้
นอกจากนี้ เทศบาลได้ลองพยายามแก้ไขปัญหาขยะโดยเลือกถนนคนเดินเชียงคานเป็นสถานที่ดำเนินการ ภายใต้หลักการที่ว่า เมื่อนักท่องเที่ยวก่อขยะก็ต้องรับผิดชอบนำขยะกลับไปด้วย จึงนำถังขยะออกจากบริเวณถนนคนเดินทั้งหมด หวังว่าหากไม่มีถังขยะนักท่องเที่ยวก็จะนำขยะออกไป แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
ถึงแม้จะมีแม่ค้า พ่อค้า บางร้านได้ช่วยกันป่าวประกาศรับทิ้งขยะ แต่ด้วยความเกรงใจของนักท่องเที่ยว รวมถึงการไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างทั่วถึง จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวนำขยะไปฝากทิ้งไว้ที่ร้านน้อยกว่าการนำไปวางทิ้งไว้ในพื้นที่สาธารณะในบริเวณถนนคนเดิน
เห็นได้ชัดว่า การจัดการขยะจำเป็นต้องร่วมกันเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ ไม่ใช่การเฟ้นหาเจ้าภาพหรือผู้รับผิดชอบโดยตรงเพียงรายใดรายหนึ่ง ฝ่ายประชาชนคนพื้นที่ก็ต้องหันกลับมาช่วยกันแยกขยะเหมือนเดิม พร้อมทั้งช่วยกันให้ข้อมูลกับผู้มาเยือนถึงจุดทิ้งขยะหรือการรับฝากขยะ
ขณะเดียวกัน เทศบาลก็กำหนดวันในการจัดเก็บขยะแต่ละประเภท โดยไม่มีการเก็บรวม หรืออาจมีการใช้สีถุงที่แตกต่างกันในการคัดแยกขยะทิ้ง และนำไปจัดการตามกระบวนการที่ถูกต้อง (ภายใต้ร่วมกันแยก และเก็บตามแยกไปกำจัดอย่างถูกต้อง)
ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เป็นผู้มาเยือนก็ยินดีรับผิดชอบและปฏิบัติตามแนวทางของชุมชนท้องถิ่น (แจ้งที่ทิ้งและรณรงค์ให้ทิ้งตามที่แจ้ง) หากเชียงคานทำได้ก็จะกลายเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับท้องถิ่นอื่นๆ ต่อไป
ปัญหาขยะล้นเมือง แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็เคยประสบมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ไต้หวัน ซึ่งเคยได้รับฉายาว่าเป็นเกาะขยะมาก่อน แต่ด้วยความร่วมมือ และเอาจริงเอาจังจากทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถแก้ไขปัญหา และก้าวข้ามวังวนเดิมๆ มาได้ และในปัจจุบัน กลายเป็นเมืองสะอาดน่าเที่ยว
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ประเทศเหล่านี้ก็ต้องอาศัยระยะเวลาหลายสิบปีกว่าจะประสบความสำเร็จได้ เช่นนั้น ประเทศไทยเองก็ต้องเร่ง และร่วมกันสร้างจิตสำนึกภายใต้การท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
เพื่อเดินทางสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และยังสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาลที่กำลังกระจายลงสู่ทุกพื้นที่และภาคส่วนของไทยให้ได้เช่นกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์