5 มิ.ย. 'วันสิ่งแวดล้อมโลก' ทุกปีมีขยะพลาสติกกว่า 20 ล้านตัน สิ้นสุดในทะเล

5 มิ.ย. 'วันสิ่งแวดล้อมโลก' ทุกปีมีขยะพลาสติกกว่า 20 ล้านตัน สิ้นสุดในทะเล

ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตัน กว่าครึ่งเป็นแบบใช้เพียงครั้งเดียว และกว่า 19-23 ล้านตันไปสิ้นสุดในทะเลสาบ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ปีนี้ มุ่งเน้นแคมเปญ #BeatPlasticPollution รณรงค์เร่งแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก

Key Point : 

  • ความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้วันที่ 5 มิถุนายน ถูกกำหนดเป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day เพื่อร่วมหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่
  • ในแต่ละปีทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตัน โดยมีการรีไซเคิลเพียงร้อยละ 10 และกว่า 19-23 ล้านตันไปสิ้นสุดในทะเลสาบ แม่น้ำ และทะเลทุกปี
  • สำหรับวันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ มุ่งเน้นประเด็นมลพิษจากพลาสติกผ่านแคมเปญ #BeatPlasticPollution ย้ำเตือนว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับมลพิษพลาสติกมีความสำคัญ

 

5 มิถุนายน วันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2023 โดยในปีนี้ครบรอบ 50 ปี หลังจากที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมาได้เติบโตขึ้นเป็นหนึ่งในเวทีระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการขยายงานด้านสิ่งแวดล้อม

 

จุดเริ่มต้น วันสิ่งแวดล้อมโลก 

 

สำหรับจุดเริ่มต้นของ วันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมป่าไม้ อธิบายว่า จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮล์ม ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า 'การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์' หรือ 'UN Conference on the Human Environment' ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

 

ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก

 

ปี 2023 #BeatPlasticPollution

 

สำหรับวันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้ มุ่งเน้นประเด็นมลพิษจากพลาสติกผ่านแคมเปญ #BeatPlasticPollution เป็นการรณรงค์เร่งแก้ปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งเป็นการย้ำเตือนว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับมลพิษพลาสติกมีความสำคัญ

 

ข้อมูลจาก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย - TEI  เผยว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตัน โดยครึ่งหนึ่งออกแบบมาให้ใช้เพียงครั้งเดียว ในจำนวนนั้นน้อยกว่าร้อยละ 10 ถูกรีไซเคิล ส่วนอีกประมาณ 19-23 ล้านตันไปสิ้นสุดในทะเลสาบ แม่น้ำ และทะเลทุกปี

 

ทำให้มีการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ที่มีอนุภาคขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร เข้าสู่อาหาร น้ำ และอากาศ หากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวถูกทิ้งหรือเผา ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังสร้างมลพิษต่อระบบนิเวศ

 

 

หวั่นมลพิษพลาสติก เพิ่ม 3 เท่าในปี 2060 

 

อย่างไรก็ตามพลาสติกยังเป็นที่นิยมเนื่องจากมีต้นทุนต่ำในการผลิต ทนทาน ยืดหยุ่นและง่ายต่อการขนส่ง และซื้อหาได้ในราคาถูก เป็นผลให้การผลิตทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องใช้ในครัวเรือนไปจนถึงเครื่องมือแพทย์ใช้พลาสติกในการผลิต ทำให้จำนวนพลาสติกพุ่งสูงขึ้น ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า หากไม่ดำเนินการใด ๆ มลพิษพลาสติกถูกกำหนดให้เป็นสามเท่าภายในปี 2060

 

ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขวิกฤตนี้ รวมถึงการลดการผลิตและการบริโภคพลาสติก การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และคล่องตัว การผลักดันกฎหมายและระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการระบุแหล่งที่มาของพลาสติก แม้แรงกดดันจากผู้บริโภคเป็นกุญแจสำคัญ แต่การกระทำที่แท้จริงต้องมาจากบริษัทต่าง ๆ นักลงทุน ผู้ร่างกฎหมาย และรัฐบาล

 

นโยบายลดพลาสติกไทย

 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรณรงค์การลดละเลิกใช้พลาสติก โดยรัฐบาลกำหนด Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ

1. การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570

 

กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำไปดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563 – 2565 ผ่านโครงการและกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ เช่น

  • โครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” (ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562) เพื่อประชาสัมพันธ์การลด เลิกใช้พลาสติก ส่งเสริมให้เกิดการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมบรรจุอาหารในพื้นที่ตลาดสดเทศบาลและเอกชน รวมถึงพื้นที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศได้กว่า 3,414 ล้านใบ หรือประมาณ 9,824 ตัน
  • กิจกรรมงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว “Everyday Say No To Plastic Bags” (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – ธันวาคม 2565) โดยร่วมมือกับเครือข่าย สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว รวมทั้งสิ้น 14,349.6 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน 
  • การส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำตลาดสดต้นแบบ มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ
  • โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) ซึ่งขยะพลาสติกที่รวบรวมได้จะถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ และจะนำไปมอบให้กับมูลนิธิเพื่อรักษาและช่วยชีวิตสัตว์ทะเล หรือกลุ่มอาสาสมัคร ชุมชน วัด หรือโรงเรียน ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตหรือขาดแคลนทุนทรัพย์

 

เมื่อแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 สิ้นสุดลง จึงได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจะยกระดับการจัดการขยะพลาสติก ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้สินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำ เพื่อนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล และพลังงาน ให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด