มลพิษจากพลาสติก–วาระของโลกในวันสิ่งแวดล้อมโลก | วิจารย์ สิมาฉายา
วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) ในวันที่ 5 มิถุนายน 2566 เวียนมาอีกวาระหนึ่ง ในปีนี้ใช้ธีม “Beat Plastic Pollution: ยุติมลพิษจากพลาสติก” เป็นธีมเดียวกับวันสิ่งแวดล้อมโลกในปี 2561
เพียงห้าปีเท่านั้นกลับมาอีกครั้ง ซึ่งไม่ค่อยมีเท่าไหร่ที่องค์การสหประชาชาติ โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จะใช้เรื่องธีมเดิมซ้ำ ๆ กัน
มลพิษจากพลาสติก เป็นปัญหาสำคัญของโลก ของภูมิภาค และของประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีปัญหาขยะในทะเลระดับท๊อปเท็นของโลก พร้อมกับอีก 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตันต่อปี (ประมาณร้อยละ 13 จากขยะชุมชนทั้งหมด ที่มีปริมาณปีละ 28 – 29 ล้านตันต่อปี
มีการประเมินว่ามีระบบจัดการได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถนำมาสู่การรีไซเคิลได้ประมาณ 25% ที่เหลือนำไปฝังกลบ หรือเผา หรือกองทิ้ง จึงทำให้ขยะพลาสติกส่วนหนึ่งเล็ดลอดออกสู่คลอง แม่น้ำ และปลายทางที่ทะเล
ประเมินว่าขยะพลาสติกที่เราใช้ประโยชน์ 50-60 ปีที่แล้ว เมื่อลงสู่น้ำหรือทะเล จะดูดย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ เรียกไมโครพลาสติก (Microplastic) ใช้เวลาหลายร้อยปี
ไมโครพลาสติก เมื่ออยู่ในน้ำจะมีแสงระยิบระยับ เหมือนกับแพลงก์ตอน สัตว์น้ำจึงกินเข้าไป และสะสมในส่วนต่าง ๆ และมนุษย์ก็ถูกถ่ายทอดไมโครพลาสติกจากการรับประทานสัตว์น้ำ
ปลาทูไทยหนึ่งตัว พบว่ามีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกกว่า 80 ชิ้น นอกจากนี้ก็มีการปนเปื้อนน้ำ ในเกลือ และระบบนิเวศทางทะเลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
องค์การสหประชาชาติ จึงได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2565 และเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล
เพื่อจัดทำข้อตกลงที่มีผลผูกผันทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมและยุติมลพิษจากขยะพลาสติก (Intergovernmental Negotiation Committee, INC) ให้เจรจาต่อรองร่างกฎระเบียบระหว่างประเทศด้านการควบคุมมลพิษจากพลาสติกให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี (ปี พ.ศ. 2567)
คล้าย ๆ ข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
ถ้าจะมีคำถามว่า แล้วมนุษย์เราจะเลิกใช้พลาสติกกันได้ไหม? และมาใช้พลาสติกชีวภาพทดแทน คงตอบในขณะนี้ว่าพลาสติกยังเป็นสิ่งจำเป็นราคาถูก คงทน และใช้ได้อย่างหลากหลาย เพียงแต่ว่าจะใช้อย่างถูกต้องได้อย่างไร
จึงเกิดแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขึ้น เพื่อนำพลาสติกใช้อย่างคุ้มค่า ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบ เช่น ขวด PET ที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม เป็นต้น ในขณะที่พลาสติกชีวภาพ ยังมีราคาแพง ผลิตได้จำกัด และคุณสมบัติยังไม่สามารถเทียบได้
การใช้พลาสติกชีวภาพควรจะใช้กับบางอย่างที่มีปลายทางชัดเจนในการฝังกลบ เนื่องจากจะย่อยสลายโดยธรรมชาติได้ เช่น ถุงบรรจุขยะ ถุงบรรจุอาหารบางชนิด เป็นต้น
ความร่วมมือในการจัดการขยะพลาสติก เป็นสิ่งจำเป็นหลักการ 3 Rs ลดการใช้ (Reduce) ใช้ช้ำ (Reuse) รีไซเคิล (Recycle) ยังใช้ได้และขยายตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
ที่มีการใช้ การออกแบบและการหมุนเวียนให้ครบวงจร ที่จะสามารถตอบโจทย์การลกการใช้ทรัพยากร การลดการปล่อก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ ควบคู่กันไปด้วย
นี่เป็นปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม อีกเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ ขยะพลาสติกบางชนิดใช้เวลาในการย่อยสลายกว่า 450 ปี
โครงการ PPP Plastics (โครงการภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการจัดการขยะและขยะพลาสติก) โดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ได้ขับเคลื่อนโครงการนำร่องหลายโครงการ เพื่อจัดการขยะพลาสติกครบวงจร ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เช่น โครงการการจัดการขยะและขยะพลาสติกในเมืองที่เขตปทุมวัน และเขตคลองเตย รูปแบบบริการทั้งจังหวัด ที่ระยอง หรือ การจัดการขยะและขยะพลาสติกในพื้นที่เกาะที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
เรามีต้นแบบต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการในระดับชุมชนที่ชนะการประกวด “ชุมชน Zero Waste” เพียงแต่การขยายผล หรือนำไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้ครบทุกพื้นที่ในประเทศไทยยังไม่บรรลุผล
ควรให้ความสำคัญระบบการจัดการขยะทั้งห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ การลดและแยกขยะที่ต้นทางโดยการสร้างวินัยควบคู่ไปกับการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ
ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการพลาสติกอย่างครบวงจร
ขยะเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าทุกส่วนร่วมกับ และเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันน่าจะดีขึ้น และประเทศไทยก็ถูกจัดอันดับในการก่อให้เกิดขยะทะเลในระดับที่ดีขึ้นต่อไป เป็นที่ยอมรับของสากล และลดผลกระทบที่เกิดขึ้น.