สะดวกใช้ ลำบากกำจัด! “อังกฤษ” สั่งแบน “ทิชชู่เปียก” เริ่มเลย ปีหน้า
ลาแล้ว “ทิชชู่เปียก” ที่มีส่วนผสมของพลาสติก หลัง “สหราชอาณาจักร” สั่งแบนตาม “โครงการควบคุมมลพิษทางน้ำ” มีผลบังคับใช้ปีหน้า
เธรีส คอฟฟีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและชนบท หรือ DEFRA เปิดเผยกับ BBC News ว่า หลังจากประชุมหารือกันได้ข้อสรุปว่า “ทิชชู่เปียก” จะถูกห้ามใช้ในสหราชอาณาจักรในปีหน้า เป็นไปตามแผนการปรับปรุงคุณภาพแหล่งน้ำทางธรรมชาติทั่วอังกฤษ
“ที่จริงเราต้องการให้พลาสติกออกจากการเป็นส่วนผสมของทิชชู่เปียก เพราะฉะนั้นเราจึงออกกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถแบนพลาสติกได้จริงๆ” คอฟฟีย์ กล่าวเสริม
แม้ว่าในปัจจุบันทิชชู่เปียกหลายแบรนด์จะผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายได้แล้ว แต่กระดาษเช็ดทำความสะอาดแบบเปียกประมาณ 90% ที่ผลิตออกมาในปี 2564 มีส่วนผสมของพลาสติก ซึ่งทิชชู่เปียกประเภทนี้จะไม่สลายตัว และ 93% ของทั้งหมดจะจับตัวกันเป็นก้อน จนกลายเป็นภูเขาไขมัน (Fatbergs) ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน เหล่าของเสียไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ จากรายงานของ Water UK องค์กรพัฒนานโยบายเกี่ยวกับน้ำในอังกฤษระบุว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 100 ล้านปอนด์ สำหรับทำความสะอาด กำจัดสิ่งแปลกปลอม เพื่อให้ท่อระบายน้ำทำงานได้ปกติ
รัฐบาลอังกฤษมีแผนกำจัดขยะพลาสติกรวมถึงทิชชู่เปียกมาตั้งแต่ปี 2018 ต่อมาในปี 2021 รัฐบาลได้ประชุมหารือ และทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการห้ามใช้ทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของพลาสติก พบว่า 96% ของประชาชนเห็นด้วย จนกลายเป็นกฎหมายที่จะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้า
หลายบริษัท และร้านค้าเริ่มขานรับกับกฎหมายนี้แล้ว ร้าน Boots และ ห้างสรรพสินค้า Tesco ได้ยุติการขายทิชชู่เปียกที่มีส่วนประกอบของพลาสติกเป็นที่เรียบร้อย แต่ในเวลส์นั้นยังไม่มีการห้ามใช้กระดาษชำระแบบเปียกที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ขณะที่สกอตแลนด์ยังอยู่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว
การห้ามใช้ทิชชู่เปียกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Plan for Water” ของ DEFRA มีจุดประสงค์ต้องการปรับปรุงคุณภาพน้ำของอังกฤษ รวมถึงการห้ามใช้สารเคมีชั่วนิรันดร์ (Forever Chemical) หรือ PFAS ตลอดจนแก้ปัญหามลพิษจากการทำฟาร์ม และของเสียจากท้องถนน
- หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้
องค์กรการกุศลด้านสิ่งแวดล้อม River Action UK กล่าวว่า รัฐบาลล้มเหลวในการจัดการน้ำมาหลายปีแล้ว และปล่อยให้แม่น้ำเน่าเสียจากน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดจากการเกษตร
“DEFRA จะทำให้ประชาชนเชื่อถือได้อย่างไรว่า จะบังคับกฎหมายนี้อย่างเข้มงวด ในเมื่อทุกวันนี้รัฐบาลยังล้มเหลวในการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเลย” ชาร์ลส วัตสัน ซีอีโอของ River Action UK กล่าว
ขณะที่ ฝ่ายค้านบอกว่ากฎหมายนี้มาช้าเกินไป โดย จิม แมคมาฮอน ส.ส. พรรคแรงงาน ผู้ทำหน้าที่เป็น รมต. เงาของ DEFRA กล่าวว่า “การประกาศนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และเป็นการนำมาตรการเก่ามาใช้ใหม่ ซึ่งทำให้การทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำเกิดขึ้นได้อีกหลายทศวรรษ”
ด้าน ทิม ฟาร์รอน โฆษกสิ่งแวดล้อมพรรคเดโมแครตเสรีนิยมเรียกกฎหมายนี้ว่าเป็น “เรื่องตลกสิ้นดี” พร้อมระบุว่า “เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลอนุรักษนิยมกำลังหลอกประชาชนด้วยการประกาศนโยบายเก่าเก็บเมื่อ 5 ปีก่อน”
อย่างไรก็ตาม Yorkshire Water บริษัทผลิตน้ำประปาในสหราชอาณาจักร เห็นด้วยกับคำสั่งห้ามใช้ เนื่องจากในเมืองยอร์กเชียร์ ทิชชู่เปียกเป็นสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของการอุดตัน และเป็นสาเหตุเกือบครึ่งหนึ่งในปี 2565 ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินหลายล้านปอนด์สำหรับล้างท่อจากทิชชู่เปียก
ในส่วนของสหภาพยุโรปออกคำสั่งห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งรวมไปถึง หลอดดูด ขวดพลาสติก และภาชนะใส่กลับบ้านที่ทำจากโพลีสไตรีน ซึ่งเป็นขยะที่พบได้มากตามท้องถนนและชายหาด ทั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงทิชชู่เปียกที่มีส่วนผสมของพลาสติก แต่ผู้ผลิตจะต้องใส่คำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ว่ามีส่วนผสมของพลาสติก และไม่ควรทิ้งลงในชักโครก พร้อมผู้ผลิตทิชชู่เปียกจะต้องช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดมลพิษที่ก่อให้เกิดอีกด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์