“นำเข้าเศษพลาสติก”ต้องเข้าใจ ก่อนห้ามเด็ดขาดปี68
เศษพลาสติก อาจถูกมองว่าเป็นขยะแต่ในบางอุตสาหกรรมนี่คือวัตถุดิบก่อนผลิตเป็นสินค้าอื่นๆต่อไป ดังนั้นแผนที่ไทยจะยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อตอบสนองนโยบายดูแลสิ่งแวดล้อมจึงต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างเหมาะสม
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ เปิดรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) กฎหมายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อดำเนินการตามนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่21ก.พ.2566เห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
(1) ในช่วงระยะเวลา2ปี (2566 – 2567) อนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป เฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีในปริมาณไม่เพียงพอ ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิตจริง โดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้พิจารณาอนุญาตนำเข้า และ (2) ปี2568กำหนดห้ามนำเข้าเศษพลาสติก
ในการนี้ กรมการค้าต่างประเทศจึงได้ยก (ร่าง) กฎหมายเพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... และ(ร่าง) ระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการอนุญาตให้นำเศษพลาสติกเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... เพื่อกำกับดูแลการนำเข้าเศษพลาสติกในปี2566 – 2567
พร้อมกันนี้ได้ยก (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... เพื่อใช้บังคับตั้งแต่วันที่1มกราคม2568เป็นต้นไป
“เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความเห็นต่อ (ร่าง) กฎหมายทั้ง3ฉบับดังกล่าว จึงขอเชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้สนใจร่วมแสดงความเห็น ผ่านเว็บไซต์www.dft.go.thตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่25เม.ย.2566”
ทั้งนี้ ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาเศษพลาสติกในประเทศ และเพื่อมิให้ประเทศไทยเป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น โดยให้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว
นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร
2. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร (ในช่วงปี 2566-2567) โดยจะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตันต่อปี สำหรับปีที่ 1 (2566) ให้นำเข้าปริมาณ 100% ของความสามารถในการผลิตจริง
ปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าปริมาณไม่เกิน50% ของความสามารถในการผลิตจริงโดยการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ เช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เป็นต้น
3. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป (ในช่วงปี 2566-2567) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศ, นำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต, นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น (ไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก), สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด
หลังกฎหมายสมบูรณ์และมีผลบังคับใช้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดเพื่อให้เอกชนมีเวลาปรับตัวก็เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาขยะจากพลาสติกลดลงถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมโดยองค์รวมทุกภาคส่วน