‘แมลงปอ’ หายไปไหน ? เมื่อแมลงนักพยากรณ์ อาจ ‘เสี่ยงสูญพันธุ์’

‘แมลงปอ’ หายไปไหน ? เมื่อแมลงนักพยากรณ์ อาจ ‘เสี่ยงสูญพันธุ์’

หนึ่งในแมลงที่พบเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติ คือ “แมลงปอ” โดยเฉพาะช่วงก่อนฝนตก พวกมันจะบินว่อนเป็นฝูง ทำให้สัตว์อื่นๆ รวมถึงมนุษย์ได้รับรู้สัญญาณก่อนที่พายุฝนจะมา แต่ปัจจุบันกลับพบเจอแมลงปอได้ยาก หรือพวกมันใกล้สูญพันธุ์ ?

Key Points:

  • นอกจากแมลงปอจะส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่าฝนกำลังจะตกแล้ว พวกมันยังเป็นตัวชี้วัดภาวะโลกร้อนและระบบนิเวศน์ได้ด้วย
  • เนื่องจากในระยะแรกเกิดจนถึงตัวอ่อน แมลงปอต้องใช้ชีวิตอยู่ในน้ำ เมื่อแหล่งน้ำถูกทำลายมากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์
  • ปัจจุบันมีแมลงปอเสี่ยงสูญพันธุ์ทั่วโลกร้อยละ 16 จากทั้งหมดกว่า 6,000 ชนิด และอาจส่งผลเสียต่อทุกชีวิตบนโลก

หากพูดถึงหนึ่งในสัญญาณเตือนก่อนฝนตกตามธรรมชาติ เชื่อว่าหลายคนอาจใช้พฤติกรรมของ “แมลงปอ” เป็นข้อสังเกต เพราะพวกมันจะออกมาบินวนกันเป็นฝูง หลังจากนั้นไม่นานจะมีฝนตกลงมา ซึ่งพวกมันไม่ใช่แค่แจ้งเตือนเรื่องสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการผสมพันธุ์อีกด้วย

ในอดีตคนเราสามารถพบเห็นแมลงปอได้ง่าย ไม่จะเป็นในตัวเมืองหรือตามชนบท แต่ปัจจุบันเริ่มมีคนตั้งข้อสังเกตว่า “แมลงปอหายไปไหน” ทำไมถึงไม่ค่อยได้พบเห็นเหมือนเมื่อก่อน แม้ในช่วงฝนใกล้ตก หรือพวกมันกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้สูญพันธุ์

  • รู้จัก แมลงปอ สัตว์ที่อยู่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

รู้หรือไม่ว่า “แมลงปอ” ที่พบกันในปัจจุบันนั้น พวกมันเป็นสัตว์ที่มีชีวิตมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ก่อนที่จะมีไดโนเสาร์เสียอีก หลังจากนั้นพวกมันก็มีวิวัฒนาการเพื่อให้มีชีวิตรอดมานานถึง 300 ล้านปี

โดยปกติแล้วแมลงปอสามารถพบเจอได้ทั่วโลก ยกเว้นขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ และจากการประเมินของนักกีฏวิทยาพบว่า มีแมลงปอมากกว่า 6,016 ชนิด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แมลงปอบ้าน และแมลงปอเข็ม สำหรับวงจรชีวิตแมลงปอนั้นมี 3 ระยะด้วยกัน ดังนี้

1. ระยะฟักไข่จนกลายเป็นตัวโม่ง ช่วงนี้จะอาศัยอยู่ในน้ำ ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน กินไรแดง ลูกน้ำ และลูกอ่อนของสัตว์น้ำ เป็นอาหาร

2. ระยะตัวโม่ง ใช้ชีวิตในน้ำต่อจากระยะฟักไข่อีกประมาณ 1-4 ปี แล้วแต่สายพันธุ์ ระหว่างนั้นจะมีการลอกคราบ 10-15 ครั้ง ซึ่งตัวของพวกมันก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งในช่วงหลังคราบจะค่อยๆ ลอกออก และกลายเป็นแมลงปอในเวลาต่อมา

3. ระยะตัวเต็มวัย จะมีชีวิตอยู่ประมาณ 6-7 สัปดาห์ พวกมันจะล่าแมลงชนิดอื่นๆ มาเป็นอาหาร ดังนั้นแมลงปอจึงสามารถบินได้เร็วด้วยปีกที่แข็งแกร่ง พร้อมกับมองเห็นเหยื่อได้ไกลถึง 10-20 เมตร เรื่องจากมีสายตาที่เฉียบคม ทำให้พวกมันสามารถจู่โจมเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว และเงียบเชียบ

  • แมลงปอ ตัวชี้วัดโลกร้อน และเป็นนักพยากรณ์อากาศ

หนึ่งในพฤติกรรมที่โดดเด่นของแมลงปอก็คือ ในช่วงใกล้ฝนตก พวกมันจะออกมาบินรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ทำให้ใครหลายคนรู้ได้ทันทีว่าฝนกำลังจะตกแล้ว เหตุผลที่พวกมันทำแบบนี้ก็เพราะ อุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศ ในช่วงก่อนฝนตกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงอากาศในเวลาปกติ และด้วยความที่แมลงปอเป็นสัตว์เลือดเย็น และมีความอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พวกมันจึงออกมาบินรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก

สำหรับสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เรามองเห็นแมลงปอในช่วงก่อนฝนตกได้ชัดเจนนั้นเป็นเพราะไอน้ำที่เพิ่มมากขึ้นในอากาศช่วงก่อนฝนตก ส่งผลให้ปีกของแมลงปอที่มีความบางมากๆ ไม่สามารถรับน้ำหนักไอน้ำเหล่านั้นได้ พวกมันจึงบินได้ต่ำกว่าปกติ และทำให้คนเรามองเห็นพวกมันได้มากกว่าในเวลาอากาศปกติ

นอกจากนี้ช่วงเวลาที่พวกมันออกมาบินรวมตัวกัน ก็มีเหตุผลเรื่องการผสมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากหลังจากฝนตกไปแล้วแหล่งน้ำต่างๆ จะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการวางไข่ของพวกมันนั่นเอง

ไม่ใช่แค่การพยากรณ์อากาศเท่านั้น แต่ “แมลงปอ” ยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดปัญหา “โลกร้อน” และบ่งบอกความสมดุลของ “ระบบนิเวศน์” อีกด้วย

เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แมลงปอบางชนิดเริ่มเคลื่อนย้ายที่อยู่ไปหากิน และขยายพันธุ์ทางตอนเหนือของอังกฤษ และไอร์แลนด์ ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า และมีสภาพแวดล้อมดีกว่าถิ่นที่อยู่เดิม โดยเฉพาะบริเวณที่มีแหล่งน้ำที่ดี และเหมาะสมต่อการวางไข่ พูดง่ายๆ ก็คือ ที่อยู่ใหม่มีระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติที่ดีกว่าบ้านเก่าของพวกมันนั่นเอง

ไม่ใช่แค่ในอังกฤษกับไอร์แลนด์เท่านั้นที่แมลงปอเริ่มพากันย้ายบ้าน แต่ในแคนาดา และสหรัฐอเมริกาก็เกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่ไหนที่เริ่มพบเห็นแมลงปอได้น้อยลง แสดงว่าบริเวณนั้นเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเข้าให้แล้ว

  • เมื่อจำนวนประชากรแมลงปอเริ่มลดลง จะเกิดอะไรขึ้น?

แม้ว่าแมลงปอจะรับมือกับภาวะโลกร้อนด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกมันจะรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ เพราะมีข้อมูลจาก IUCN Redlist ระบุว่า ผลจากการที่พื้นที่ชุ่มน้ำลดลงทำให้จำนวนประชากรแมลงปอหลากหลายสายพันธุ์ลดลงตามไปด้วย

เนื่องจากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิด “อนุสัญญาแรมซาร์” ซึ่งส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ มีการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน (ประเทศไทยก็ร่วมลงนามด้วย) แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติถูกทำลายไปถึงร้อยละ 35 ทำให้ในภาพรวมแล้วพื้นที่ดังกล่าวถูกทำลายไปแล้วมากถึงร้อยละ 87 ทั่วโลก

จากปัญหาแหล่งน้ำถูกทำลายทำให้แมลงปอหาพื้นที่สำหรับวางไข่ได้ยากขึ้น และในบางแห่งเมื่อวางไข่ไปแล้วก็อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวโม่งของพวกมันอีกด้วย เนื่องจากก่อนที่มันจะโตเต็มที่พวกมันต้องอาศัยอยู่ในน้ำ ทำให้จำนวนการวางไข่ และการที่ตัวโม่งมีชีวิตรอดจนโตเต็มวัยเริ่มลดน้อยลง

อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลก็คือ จากสายพันธุ์ของแมลงปอทั้งหมดเท่าที่มีการสำรวจพบ 6,016 ชนิด มีกลุ่มที่อยู่ในสภาวะ “เสี่ยงสูญพันธุ์” ถึงร้อยละ 16

ดังนั้น สิ่งที่ทำลายความเป็นอยู่ของแมลงปอมากที่สุดก็คือ พื้นที่ป่าและน้ำตามธรรมชาติถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการใช้สารเคมีเพื่อการทำการเกษตรก็ส่งผลกระทบต่อพวกมันเช่นกัน แม้ว่าการสูญพันธุ์ของแมลงปอ และแมลงชนิดอื่นๆ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย หากเทียบกับสัตว์สายพันธุ์อื่น แต่ในความเป็นจริง หากไม่มีแมลงอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป ก็จะส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกเช่นเดียวกัน เพราะพวกมันเปรียบเสมือนต้นทางของห่วงโซ่อาหารทั้งหมด

 

อ้างอิงข้อมูล : Is Life, BBCEnvironman, The Momentum, มติชน สุดสัปดาห์ และ ต้นคิด 360

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์