เมื่อ ‘ม้าน้ำ’ เสี่ยง ‘สูญพันธุ์’ เพราะถูกคนจับไปทอดกิน ?
ก่อนหน้านี้ “ม้าน้ำ” ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์น้ำที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า เริ่มมีคนจับม้าน้ำมาทำเป็นอาหารมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาใหญ่เรื้อรังที่อาจทำให้พวกมันสูญพันธุ์จริงๆ ในเร็ววัน
Key Points:
- “ม้าน้ำ” จัดเป็นสัตว์น้ำที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ที่ระบุไว้ใน “บัญชีอนุสัญญาไซเตส” แต่ยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มสัตว์สงวน จึงทำให้พวกมันถูกล่ามากขึ้นเพื่อนำไปเป็นอาหารของมนุษย์
- เอกลักษณ์ของม้าน้ำนั้น นอกจากพวกมันจะเป็นสัตว์น้ำที่มีหน้าตาแปลกประหลาดแล้ว ม้าน้ำเพศผู้ยังมีหน้าที่ตั้งท้องอีกด้วย
- ปัจจุบันแม้ว่าจะมีกฎหมายควบคุมการส่งออกม้าน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีการลักลอบขายในตลาดมืดและลักลอบส่งออกอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากมีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 1 แสนบาท
“ม้าน้ำ” เรียกได้ว่าเป็น “สัตว์น้ำ” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรูปร่างหน้าตาค่อนข้างแปลกและแตกต่างจากสัตว์น้ำประเภทอื่น กล่าวคือ จัดเป็นปลากระดูกแข็ง แต่มีกระดูกหรือก้างเป็นเกราะห่อหุ้มอยู่นอกตัวแทนเกล็ด ส่วนหางของมันสามารถม้วนงอได้ง่าย ใช้จับสิ่งต่างๆ คล้ายกับหางของลิง นอกจากนี้ พวกมันยังมีการสืบพันธุ์ที่ไม่เหมือนใคร เพราะม้าน้ำตัวผู้จะเป็นฝ่ายอุ้มท้อง ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นทั่วโลกที่หน้าที่ดังกล่าวเป็นของตัวเมีย
ปัจจุบันม้าน้ำเป็นสัตว์น้ำที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และได้รับการขึ้นบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส (CITES) บัญชี 2 หมายถึงสัตว์ที่จะได้รับการคุ้มครองในการทำการค้า และต้องอยู่ในความควบคุมหรือจำกัดปริมาณ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงป้องกันไม่ให้ม้าน้ำลดจำนวนประชากรลงอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การสูญพันธุ์ในที่สุด
แม้ว่า “ม้าน้ำ” จะอยู่ในบัญชี “สัตว์คุ้มครอง” แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้พวกมันปลอดภัยมากขึ้นสักเท่าไรนัก เนื่องจากถิ่นที่อยู่ของพวกมันเริ่มถูกทำลายลงไปมาก ตั้งแต่ ทะเล ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน ดงหญ้าทะเล และแนวปะการัง โดยสาเหตุมีทั้งเกิดจากภาวะโลกร้อน ขยะพลาสติก รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลที่เปลี่ยนไป แต่นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว อีกหนึ่งภัยคุกคามที่ทำให้ม้าน้ำเริ่มหายไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติก็คือ “มนุษย์” ที่จับม้าน้ำมาเพื่อการค้า เช่น นำมาทำที่ทับกระดาษ พวงกุญแจ ของที่ระลึก รวมถึงการนำไปทำอาหารเมนูพิสดาร
- “ม้าน้ำ” ชีวิตมหัศจรรย์ของสัตว์ที่ไม่ใช่ทั้งม้าและปลาทั่วไป
ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก “สัตว์น้ำ” รูปร่างแปลกตาที่มีชื่อว่า “ม้าน้ำ” กันก่อน พวกมันไม่ใช่ม้า แต่ก็ไม่ใช่ปลาทั่วๆ ไป แม้ว่ามันจะหายใจทางเหงือกเหมือนกับปลาชนิดอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้มันไม่เหมือนกับปลาทั่วไปก็คือ รูปร่างลักษณะและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของมัน เหมือนจะถูกยืมมาจากสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนหัวที่คล้ายกับม้า, ตาสองข้างที่ทำงานเป็นอิสระแยกจากกันเหมือนกิ้งก่าคาเมเลียน, ถุงหน้าท้องเหมือนกับจิงโจ้ และหางที่ใช้ยึดจับสิ่งต่างๆ เหมือนกับลิง Hippocampus
นอกจากนี้ม้าน้ำยังมีรูปแบบของหนอก ปุ่ม ลวดลาย หนาม และผิวหนังที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสายพันธุ์ และสิ่งที่ทำให้พวกมันแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็คือ พวกมันไม่มีกระเพาะเพื่อกักเก็บอาหาร ทำให้ต้องดูดกินสัตว์ประเภท โคพีพอด (แพลงก์ตอนสัตว์), ตัวอ่อนกุ้ง, ตัวอ่อนปลา และ อาหารจิ๋วๆ อยู่เกือบตลอดเวลาเพื่อไม่ให้หิว
แต่ลักษณะทางกายภาพของม้าน้ำที่ทำให้พวกมันแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นแบบสุดขีดก็คือ “ม้าน้ำตัวผู้” จะมีหน้าที่อุ้มท้องตัวอ่อนแทนตัวเมียที่มีหน้าที่ปล่อยไข่จำนวนมากเข้าไปในถุงหน้าท้องของม้าน้ำตัวผู้ ซึ่งไม่สามารถพบการขยายพันธุ์ในลักษณะนี้จากสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้เลย นอกจากสัตว์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกับม้าน้ำเท่านั้น และแม้ว่าม้าน้ำจะให้กำเนิดลูกคราวละหลายตัว แต่ก็มีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่มีชีวิตรอดจากผู้ล่าและภัยธรรมชาติ
- ไม่ใช่แค่ถิ่นที่อยู่ถูกทำลาย แต่อีกหนึ่งภัยร้ายของ “ม้าน้ำ” ก็คือมนุษย์
นอกจากการพยายามเอาชีวิตรอดในช่วงแรกเกิดของเหล่าม้าน้ำทั้งหลาย รวมไปถึงต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกมัน “เสี่ยงสูญพันธุ์” แล้ว พวกมันยังต้องเอาตัวรอดจากเงื้อมมือมนุษย์อีกด้วย เนื่องจากในอดีตมีการจับม้าน้ำมาเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะการนำมาเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันพวกมันต้องเผชิญกับอันตรายรูปแบบใหม่ เมื่อมนุษย์เริ่มหันมากินม้าน้ำกันมากขึ้น
สมัยก่อนมีความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาว่า “ม้าน้ำ” เป็นอาหารที่มีสรรพคุณเป็นยา รักษาได้หลายโรค ทำให้ได้รับความนิยมจากนักชิมของแปลกบางกลุ่มในประเทศแถบเอเชีย เช่น จีน เกาหลี และ ไทย ส่งผลให้ประชากรม้าน้ำเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจ “สูญพันธุ์” ได้ในที่สุด
แต่ปัจจุบันม้าน้ำกลับ “ถูกล่า” หนักยิ่งกว่าเดิมมาก เพราะคนเริ่มหันมากินม้าน้ำกันในปริมาณมากขึ้นจนเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ ทำให้สามารถพบเมนู “ม้าน้ำย่าง” หรือ “ม้าน้ำทอด” ได้ในตลาดบางแห่ง สนนราคาอยู่ที่ประมาณตัวละ 100-200 บาท และหากซื้อจำนวนมากก็มีขายกิโลกรัมละ 6,000-100,000 บาท รวมถึงมีการล่าและเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อการส่งออกต่างประเทศอีกด้วย ทำให้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรม้าน้ำลดลงไปมากกว่าครึ่ง
มีข้อมูลจากกรมประมงรายงานว่า พบการส่งออกม้าน้ำออกจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในปี 2556 จำนวน 1.2 ตัน ขณะที่ปี 2557 ส่งออกจำนวน 0.92 ตัน และในปี 2558 ส่งออกจำนวน 0.95 ตัน ทำให้กรมประมงต้องประกาศงดออกใบอนุญาตส่งออกม้าน้ำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลการนำเข้าม้าน้ำในจีนและฮ่องกงตั้งแต่ปี 2559-2560 พบว่าร้อยละ 95 ของม้าน้ำเหล่านั้น มาจากหลากหลายประเทศต้นทาง แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะมีกฎหมายห้ามส่งออกก็ตาม โดยไทยถือเป็นประเทศผู้เพาะเลี้ยงและส่งออกม้าน้ำอันดับ 1 เท่าที่สามารถตรวจสอบได้จากการนำเข้าในจีนและฮ่องกง
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ม้าน้ำถูกล่าอย่างง่ายดายแม้ว่าจะอยู่ในบัญชีสัตว์น้ำเสี่ยงสูญพันธุ์ก็คือ ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองม้าน้ำที่รัดกุมเพียงพอ
- แม้ม้าน้ำจะอยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง แต่พวกมันยังเสี่ยงสูญพันธุ์
ตั้งแต่ปี 2545 ม้าน้ำทุกสายพันธุ์ทั่วโลก จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์คุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ CITES หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ไซเตส” หมายความว่าสามารถส่งออกม้าน้ำที่มาจากแหล่งถูกกฎหมายได้หากมีเอกสารพิสูจน์ แต่ในบางประเทศก็ยังถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่หากไม่มีใบอนุญาตจากภาครัฐ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทำให้พ่อค้าแม่ค้าบางคนหันไปค้าขายม้าน้ำผ่านตลาดมืดแทน
สำหรับอนุสัญญาไซเตสคือ ความตกลงระดับนานาชาติระหว่างรัฐบาลของประเทศหรือรัฐต่างๆ มีการตกลงรับรองจากทั้งหมด 21 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศจนเกิดผลเสียต่อธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชและสัตว์ที่มีความเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์ ครอบคลุมทั้งสัตว์ป่าพืชป่าที่มีชีวิต ไปจนถึงซากสัตว์และผลิตพันธุ์จากสัตว์เหล่านั้น
ม้าน้ำเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อยู่ในอนุสัญญาไซเตสก็จริง แต่ในข้อบังคับของไซเตสไม่ได้มีการควบคุมการค้าขายภายในประเทศ ควบคุมเพียงแค่การส่งออกไปนอกประเทศเท่านั้น และพวกมันก็ไม่ได้มีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย จึงทำให้เกิดช่องว่างในการลักลอบซื้อขายม้าน้ำมานานหลายปี และเอาผิดผู้ค้าได้ค่อนข้างยาก
ปัจจุบันเริ่มมีนักวิชาการ นักอนุรักษ์ มูลนิธิและหน่วยงานเกี่ยวกับสัตว์และสิ่งแวดล้อม ออกมาเรียกร้องให้นำม้าน้ำเข้ามาเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวน เหมือนกับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันกลายเป็นสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา
อ้างอิงข้อมูล : PPTV, National Geographic, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, สารคดี, กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลนราธิวาส และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง