หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ESG ของ ISSB
บทความครั้งที่แล้ว ผู้เขียนพูดถึงกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับบริษัทในสหภาพยุโรปเป็นหลัก ในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (Corporate Sustainability Reporting Directive, CSRD) ครั้งนี้เราจะมาดูกันในเรื่อง หลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ESG ของ ISSB
ESG ซึ่งย่อมาจาก สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ยังคงเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง
ESG ยังถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่และยังอยู่ในช่วงที่หลาย ๆ ประเทศ และหลาย ๆ หน่วยงานระหว่างประเทศพยายามออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ISSB หรือ International Sustainability Standards Board เพิ่งออกกฎเกณฑ์เรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน หรือ ESG จำนวน 2 ชุดด้วยกัน คือ เกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาวะภูมิอากาศ (IFRS S2) และเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนทั่วไป (IFRS S1) ทั้งสองเกณฑ์กำลังจะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567
International Sustainability Standards Board คือหน่วยงานอะไร
International Sustainability Standards Board หรือ ISSB คือ หน่วยงานที่จัดตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่การประชุม COP26 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ โดยอยู่ภายใต้มูลนิธิ the International Financial Reporting Standards หรือ IFRS
วัตถุประสงค์ของ ISSB จะมุ่งเน้นการพัฒนามาตรฐานที่จะนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถให้ข้อมูลความยั่งยืนที่มีความครอบคลุมเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน โดย ISSB ได้รับการสนับสนุนทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานภาครัฐในหลาย ๆ ประเทศ
เกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาวะภูมิอากาศ (IFRS S2)
วัตถุประสงค์ของ IFRS S2 คือ การให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาวะภูมิอากาศที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทและการเข้าถึงเงินทุน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
IFRS S2 จะครอบคุลมถึง ความเสี่ยงทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาวะภูมิอากาศ (climate-related physical risks) เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนหรืออุณหภูมิ การยกระดับที่สูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสภาวะภูมิอากาศ (climate-related transition risks)
เช่น ความเสี่ยงที่ต้นทุนการผลิตอาจจะสูงขึ้นจากการเปลี่ยนถ่ายไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ หรือผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาวะภูมิอากาศที่บริษัทสามารถใช้ประโยชน์ได้
IFRS S2 มีจุดมุ่งหมายให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ กระบวนการด้านการกำกับดูแลและการควบคุม กระบวนการที่หน่วยงานใช้ในการตรวจสอบ กลยุทธ์ของบริษัท กระบวนการที่หน่วยงานใช้ในการระบุ ประเมิน จัดลำดับความสำคัญ และผลการปฏิบัติการ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาวะภูมิอากาศ
กลไกหนึ่งที่น่าสนใจ คือการที่จะให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยออกมา โดยจะแบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนแรก จะเป็นส่วนของการปล่อยจากต้นทางที่บริษัทเป็นเจ้าของหรือควบคุมโดยตรง
ส่วนที่สองจะเป็นการปล่อยจากต้นทางที่บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องในทางอ้อม เช่น ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้าที่บริษัทซื้อมา
ส่วนที่สามจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทาน เช่น ส่วนที่เกิดจากการที่พนักงานต้องเดินทางมาทำงาน ส่วนที่เกิดจากการกระจายสินค้า ที่ไม่อยู่ในส่วนที่สอง
เกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนทั่วไป (IFRS S1)
วัตถุประสงค์ของ IFRS S1 คือต้องการให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาส ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนโดยทั่วไป โดยจะไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงแค่เรื่องสภาวะภูมิอากาศเหมือน IFRS S2
โดยภาพรวม IFRS S1 จะมีโครงสร้างคล้ายกับหลักเกณฑ์ของ IFRS S2 ซึ่งพูดถึงกระบวนการด้านการกำกับดูแลและการควบคุม กระบวนการที่หน่วยงานใช้ในการตรวจสอบ กลยุทธ์ของบริษัท กระบวนการที่หน่วยงานใช้ในการระบุ ประเมิน จัดลำดับความสำคัญ และผลการปฏิบัติการ แต่จะเป็นในส่วนที่เกี่ยวกับความยั่งยืนโดยทั่วไป
IFRS S1 ได้อธิบายถึงความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนกว้าง ๆ ว่าเป็นความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ผู้มีส่วนได้เสีย สังคม เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า
ตัวอย่างใน IFRS S1 มีการพูดถึงกรณีที่บริษัทจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรบางอย่างโดยเฉพาะเจาะจง การผลิตทรัพยากรดังกล่าวหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรหรือการหมดไปของทรัพยากรดังกล่าว ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับความเสี่ยงหรือโอกาสที่เกี่ยวกับความยั่งยืน
หรือ ในกรณีบริษัทที่ต้องพึ่งพาพนักงานที่ต้องมีความเชี่ยวชาญที่พิเศษมาก ๆ การฝึกพนักงานและความพอใจของที่ทำงานก็จะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับความเสี่ยงหรือโอกาสที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เป็นต้น
ถึงแม้รูปแบบการเปิดเผยข้อมูล หรือวิธีการเปิดเผยข้อมูลในแต่ละประเทศหรือทวีป จะแตกต่างกันออกไป แต่กระแสการเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เป็นกระแสที่เห็นได้ชัดเจนในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
ท่ามกลางกระแส ESG บริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ คงต้องเร่งมือเตรียมตัวให้พร้อมที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน.