ไทยยูเนี่ยน ลุยกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืนทุ่ม 7.2 พันล้าน ไปต่อ SeaChange® ทั่วโลก

ไทยยูเนี่ยน ลุยกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืนทุ่ม 7.2 พันล้าน ไปต่อ SeaChange® ทั่วโลก

“ไทยยูเนี่ยน” ทุ่ม 7.2 พันล้านบาท ต่อยอด แผน SeaChange®2030 ทั่วโลก ตั้งเป้า ต้องบรรลุ Net Zero ให้ได้ในปี 2050 ขึ้นแท่นผู้นำอาหารทะเลของโลก”

เมื่อวันมหาสมุทรโลกที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิ.ย.ของทุกปี องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประกาศว่า มหาสมุทร คือความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ของประชากรโลกกว่า 600 ล้านคน ช่วยดูดซับ 1 ใน 4 ของคาร์บอนที่ปล่อยมาและกว่า 90% ของความร้อนที่เกิดขึ้น

สำหรับในประเทศไทย รู้หรือไม่ว่ามีบริษัทอาหารทะเลยักษ์ใหญ่ของโลกตั้งอยู่นั่นคือบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ซึ่งนอกจากยอดขายกว่า 4,00ล้านดอลลาร์ต่อปีแล้วก็มีบทบาทด้านความยั่งยืนในเวทีโลกเหมือนกัน

ที่ผ่านมา TUวางกลยุทธ์ความยั่งยืนตั้งแต่ปี 2016 ใน 4 เรื่องหลัก คือ สิทธิมนุษยชนกับแรงงาน การจัดซื้อจัดจ้างที่่มีความรับผิดชอบ การผลิตที่รับผิดชอบและการอยู่ร่วมกันของชุมชน ซึ่งแม้ TU จะไม่มีเรือประมงเองแต่การมีนโยบายรับซื้อปลาจากเรือที่ปฏิบัติถูกต้องเท่านั้น ก็ถือว่าต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ถือได้ว่าเป็นไปตามแนวทางของสากลรวมถึงประเทศไทยด้วย

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากจุดเริ่มต้นที่สร้างความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมเมื่อ 8 ปีที่แล้วกลายเป็นจุดแข็งของ TU ที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นในบริษัทและผลิตภัณฑ์บริษัท ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังเป็นความท้าทายของโลกที่ทุกอุตสาหกรรมสนใจทำให้ TU มองว่าการเดินหน้ากลยุทธ์ความยั่งยืนต้องทำต่อเนื่อง

 

ไทยยูเนี่ยน ลุยกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืนทุ่ม 7.2 พันล้าน ไปต่อ SeaChange® ทั่วโลก ไทยยูเนี่ยน ลุยกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืนทุ่ม 7.2 พันล้าน ไปต่อ SeaChange® ทั่วโลก

ดังนั้นในวันที่ 18 ก.ค.2566 TU ได้ประกาศกลยุทธ์SeaChange® 2030 พร้อมกันทั่วโลก โดยมีเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนผ่านพันธกิจ11 ข้อ แต่ข้อสำคัญคือต้องบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 เป็นกลยุทธ์ที่แสดงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อดูแลครอบคลุมทั้งมิติผู้คนและสิ่งแวดล้อมบนโลก (people and planet) ที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ปีนี้

"TU ต้องบรรลุ Net Zero ให้ได้ในปี 2050 เร็วกว่าประเทศไทยประกาศในปี 2065 ทั้งนี้เพราะธุรกิจของ TU กระจายทั่วโลกจึงต้องอิงมาตรฐานโลกเป็นหลักอย่างดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ซึ่งใน SeaChange® 2016 สอดคล้องเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) 4 ข้อ (ข้อ 2,8,13 และ 14) แต่ใน SeaChange® 2030ครอบคุลมถึง 10 ข้อ จาก17 ข้อ ถือว่ากว้างมากขึ้น”

ทั้งนี้ TU จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 42% ใน 3 ขอบเขตที่เป็นเป้าหมายเชิงรุก ประกอบด้วย การลดปล่อยก๊าซทางตรงจากกระบวนการผลิตของบริษัทรวมถึงการลดทางอ้อมจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุกโรงงาน การลดใช้ถ่านหินและการลดปล่อยก๊าซในห่วงโซ่อุปทาน เช่นการประมงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ดำเนินการ Zero landfill waste จะไม่มีขยะฝังกลบ รวมทั้งภายในปี 2030 ต้องหันเหขยะพลาสติกทั่วโลกไม่ให้ลงในมหาสมุทร ตั้งเป้า 1,500 ตัน ด้วยการใช้ซ้ำหรือทิ้งอย่างมีความรับผิดชอบ

รวมถึง Zero Water Discharge จะไม่ปล่อยน้ำออกนอกโรงงานที่จะนำไปสู่กระบวนการ Best-in-Class Manufacturing ซึ่งมี 5 โรงงานในเครือนำร่อง คือ บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องกับแช่แข็ง1 โรงงาน ในจังหวัดสมุทรสาคร, บริษัทไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง1 โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร , บริษัทไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง2 โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสงขลา และบริษัทอินเดียน โอเชียน ทูน่า จำกัด ผลิต ปลาทูน่ากระป๋อง1 โรงงานที่ประเทศเซเชลส์ ทวีปแอฟริกา

ขณะที่อาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติต้องจับอย่างรับผิดชอบ 100% โดยกระบวนการผลิตต้องสอดคล้องพันธกิจการสร้างงานที่ปลอดภัย และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องอยู่ภายใต้กระบวนการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

“เพื่่อให้บรรลุพันธกิจใน7-8 ปี จึงตั้งงบประมาณ200 ล้านดอลลาร์ หรือ 7,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับ SeaChange® 2016 ซึ่งเป็นวงเงินสูงแต่ต้องทำเพราะเป็นเหมือนใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ช่วยให้บรรลุวิสัยทัศน์ผู้นำอาหารทะเลของโลก”

ทั้งนี้ TU เป็นทั้งบริษัทจดทะเบียนและมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เช่น ผู้บริโภค ลูกค้า ผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงาน ที่ต้องการเห็นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง จึงต้องจัดเรื่อง SeaChange® เป็นภารกิจหลักที่ต้องทำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะถูกประเมินทั้งกระบวนการผลิตจึงเป็นเรื่องท้าทายและต้องมีพันธมิตร โดยเฉพาะเรื่อง climate change ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น คู่ค้า ซัพพลายเออร์ เอ็นจีโอ รวมถึงองค์กรด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมระดับโลก เช่น Sustainable Fisheries Partnership (SFP), Aquaculture Stewardship Council (ASC), IDH-the Sustainable Trade Initiative, และ The Nature Conservancy

รวมทั้งหากทำสำเร็จจะมีผลพลอยได้เป็น “คาร์บอนเครดิต” ที่ในอนาคตสหภาพยุโรปจะยกเป็นเงื่อนไขเก็บภาษี ซึ่ง SeaChange® จะลดภาระนี้ได้และจะทำให้ไม่ต้องซื้อคาร์บอนเครดิต

“นี่จึงนับเป็นแรงขยับจากยักษ์ใหญ่ที่ประกาศชัดเจนว่า SeaChange®2030 คือ ต้นทุนที่ TU คิดว่าคุ้มค่าที่จะจ่าย เพราะเป็นการจ่ายที่ให้และก่อให้เกิดความยั่งยืนกับทุกฝ่าย ทั้งทางธุรกิจ อุตสาหกรรมอาหารทะเล และโดยเฉพาะโลกของเรา”