เกาหลีใต้สู้กับขยะอาหาร | วรากรณ์ สามโกเศศ
ในแต่ละวันที่มนุษย์บริโภคอาหารนั้น ไม่น่าเชื่อว่ามีส่วนหนึ่งประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั้งหมดในโลกถูกทิ้งลงถังขยะโดยผู้บริโภคและผู้ขาย บ้างก็กินทิ้งกินขว้าง บ้างก็เน่าเสียจากการขนส่งหรือจากการเก็บเกี่ยวที่ขาดประสิทธิภาพ บ้างก็ทิ้งเพราะหมดอายุหรือดูไม่สวยงาม
ในปัญหาทั้งหมดนี้ที่ปวดหัวที่สุดเพราะความใกล้ตัวก็คือ การกำจัดขยะอาหารที่เหลือในแต่ละวัน “เกาหลีใต้” เป็นประเทศตัวอย่างที่ควรนำมาเล่าสู่กันฟัง
ในแต่ละปี ส่วนใหญ่ของขยะอาหารประมาณ 1,400 ล้านตันของทั้งโลกถูกนำไปถมทิ้งในหลุมกลบขยะ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การเน่าเสียที่ปล่อยทั้งกลิ่น น้ำเสีย ซึมลงไปในดิน อีกทั้งปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นตัวการสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน
เกาหลีใต้จัดการเรื่องขยะได้เป็นตัวอย่างของโลก ขยะอาหารส่วนใหญ่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยและไบโอก๊าซสำหรับใช้ในครัวเรือน ประมาณ 90% ของขยะอาหารมิได้ถูกนำไปทิ้งในหลุมขยะหรือเผา หากไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์
ในปี 2538 รัฐบาลบังคับให้มีการรีไซเคิลกระดาษและพลาสติก โดยขยะอาหารถูกฝังกลบกับขยะอื่นๆ ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญขึ้นเพราะพลังทางการเมือง อันเป็นผลจากการร้องเรียนเกี่ยวกับกลิ่นและผลเสียจากการทิ้งขยะของผู้อยู่ใกล้เคียง ดังนั้น ในปี 2548 จึงมีการออกกฎหมายห้ามทิ้งขยะอาหารในหลุมกลบอีกต่อไป
องค์การปกครองท้องถิ่นและผู้ประกอบการ จึงต้องปรับตัวด้วยการสร้างระบบเก็บขยะอาหารจากภัตตาคาร อาหารเกาหลีนั้นมีเครื่องเคียงสารพัด เช่น กิมจิแบบต่างๆ และผักสด จึงทำให้มีขยะอาหารจากการบริโภคไม่หมดอยู่มากเป็นพิเศษ
ระบบการเก็บขยะอาหาร เริ่มจากการทิ้งขยะอาหารทั้งหมดลงในถังที่จัดเตรียมไว้ในครัวของแต่ละภัตตาคาร และรวบรวมไปไว้ถังข้างนอกที่มีสติกเกอร์ติดว่าได้จ่ายเงินแล้ว (ประมาณ 80 บาททุกๆ 20 ลิตรของขยะอาหาร ซึ่งรวมกันเป็นของเหลวเหนียวข้น)
ในตอนเช้าตรู่ของ 6 วันใน 1 อาทิตย์จะมีรถมาเก็บเอาไปรวมที่โรงงาน โดยคัดของแข็ง เช่น ก้างปลา เปลือกหอย ออกไป และนำขยะที่เหลือไปเข้าเครื่องบดขนาดใหญ่
จากนั้นก็เอาไปทิ้งให้แห้งและอบโดยไอน้ำ ซึ่งจะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นน้ำมาเวียนใช้อีกครั้ง จนในที่สุดก็ได้ผงแห้งสีน้ำตาลเพื่อเอาไปเป็นอาหารสัตว์ กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่มีกลิ่นลอดออกมา เพราะภายในโรงงานมีระบบกรองอากาศก่อนที่จะปล่อยสู่ข้างนอก
สำหรับโรงงานอีกประเภทหนึ่งก็จะทำเป็นไบโอก๊าซ โดยนำเอาขยะเหลวที่บดแล้วไปหมักในถังใหญ่เป็นเวลา 35 วัน เพื่อให้แบคทีเรียทำงานเปลี่ยนสภาพเป็นไบโอก๊าซ ซึ่งส่วนหนึ่งประกอบด้วย ก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนของแห้งที่เหลือก็นำไปเป็นปุ๋ย
ระบบกำจัดขยะของเกาหลีใต้ช่วยสภาวะโลกร้อนในหลายลักษณะ กล่าวคือ ทำให้อาหารที่ถูกผลิตในตอนแรกและได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญของโลกร้อนไปแล้ว ไม่ปล่อยก๊าซเหล่านี้อีกครั้งเมื่อถูกนำไปฝังกลบ อีกทั้งก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นต้องปล่อยก็ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เกิดเป็นไบโอก๊าซหรืออาหารสัตว์
ระบบกำจัดขยะอาหารดังกล่าวได้รับคำชื่นชมในระดับโลก และมีการนำไปเลียนแบบในจีน เดนมาร์ก นิวยอร์ก และอีกหลายเมืองทั่วโลก ถึงแม้การกำจัดขยะอาหารเกิดขึ้นกันมานานแล้วในหลายแห่ง แต่ก็ไม่มีการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพดังเช่นกรณีของเกาหลีใต้
ประเทศไทยเราก็มีระบบกำจัดขยะอาหารมานานแล้ว เราเห็นการขนขยะอาหารใส่ถังในรถบรรทุกเล็ก โดยเข้าใจว่าส่วนใหญ่เอาไปเป็นอาหารหมู (มันกินได้ทุกอย่างอย่างเจริญอาหาร)
สำหรับผู้เลี้ยงหมูที่เป็นชาวบ้านมิใช่ในระบบปิดแบบบริษัทใหญ่ การกระทำเช่นนี้วนเวียนกันอยู่ทุกวัน โดยเท่าที่ทราบยังไม่มีการศึกษาหรือมีการจัดอย่างเป็นระบบในระดับประเทศ ดังเช่น เกาหลีใต้
อย่างไรก็ดี การมีระบบรีไซเคิลขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพ มิได้หมายความว่าจะแก้ไขปัญหาการสูญเสียทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในโลกอย่างไร้สาระได้อย่างตรงจุด มันเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ
หากจะแก้ไขให้ถูกจุดก็คือการไม่บริโภคให้เหลือตั้งแต่แรก ถ้าทุกคนบริโภคให้พอดีโดยไม่เหลือเศษอาหารก็จะประหยัดทรัพยากรของโลก และไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยไม่จำเป็นทั้งในตอนผลิต เพื่อรับมือกับตลาดและการกำจัดขยะอาหาร
มีอีกลักษณะหนึ่งของการแก้ไขการสูญเสียอาหารโดยไม่จำเป็น และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร้ความหมายในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สวีเดน นอร์เวย์ ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส แคนาดา กรีก บราซิล ออสเตรีย สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฯลฯ
มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า Freegan (มาจากfree+vegan คือ พวกไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมด) เห็นว่าทุกวันมีการทิ้งอาหารสดและอาหารกระป๋องที่ยังอยู่ในสภาพดีลงถังขยะ เพราะหน้าตาไม่สวยหรือหมดอายุ
(ทั้งๆ ที่บริโภคได้เพราะผู้ผลิตมักเขียนวันหมดอายุไว้เร็วเกินจริง เพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้องเรื่องคุณภาพและเพื่อขยายยอดขาย) เป็นจำนวนมหาศาลเฉพาะในสิงคโปร์ซึ่งมีประชากรเพียง 5.6 ล้านคน วันหนึ่งมีขยะประเภทนี้ถึง 1,000-2,000 ตัน
Freegan ในสิงคโปร์เข้มแข็งมาก ทุกวันจะรวมตัวกันรวบรวม “ขยะอาหาร” ลักษณะนี้จากถังขยะและจากร้านค้าที่นำมามอบให้ เอามาจัดเป็นประเภทและแจกหรือขายในราคาถูกให้แก่คนทั่วไป Freegan เหล่านี้มิได้มีฐานะยากจนและไม่รู้สึกอับอายที่ขุดคุ้ยถังขยะ เพราะเขากำลังช่วยโลกทั้งในด้านการประหยัดทรัพยากรและลดก๊าซเรือนกระจก
ในปี 2565 หลังโควิด-19 คลี่คลาย เรามีคนไทยที่มีภาวะทุพโภชนาการ (สภาวะที่ร่างกายรับอาหารไม่ครบถ้วน) อยู่ถึง 3.7 ล้านคน น่าคิดมากว่าหากเราช่วยกันแก้ไขการสูญเปล่าของขยะอาหารในรูปแบบต่างๆ จะช่วยคนเหล่านี้และลดก๊าซเรือนกระจกลงได้มากเพียงใด
หากเราบริโภคทรัพยากรกันดังเช่นทุกวันนี้ ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของการบริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง ในปี 2593 หรือ 27 ปีจากปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรถึง 9,600 ล้านคน เราต้องมีโลกถึง 3 ใบจึงจะมีทรัพยากรอย่างเพียงพอที่จะสามารถรับมือได้