จากขนมปังเหลือทิ้ง สู่ ‘เบียร์’ ส่งออก ไอเดียลดขยะอาหารของสิงคโปร์
ชวนรู้จักแนวคิดการจัดการ ‘ขยะอาหาร’ (Food Waste) ของสตาร์ตอัปสิงคโปร์ ด้วยการนำขนมปังเหลือทิ้งจากร้านเบเกอรี่มาแปรรูปเป็นเบียร์ ส่งออกทั่วโลก ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
หลาย ๆ คนคงเคยรับประทานนมและขนมปัง ซึ่งอาหารประเภทนี้จะมีวันที่ผลิตและวันหมดอายุแสดงบอกไว้ การเลือกซื้อจึงต้องจำเป็นคำนวนระยะวันเวลาในการรับประทานให้ทันก่อนมันจะเสีย
หากเสียจนรับประทานไม่ได้ อาหารเหล่านั้นก็จะกลายเป็นขยะที่ถูกทิ้ง และในบางครั้งการนำเข้าอาหารประเภทขนมปังอาจจะเกิดความล่าช้าในการขนส่ง บางครั้งอุณหภูมิการเก็บรักษาไม่คงที่จึงทำให้เสียก่อนถึงมือผู้บริโภค นี่จึงเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดขยะอาหาร (Food Watse) ล้นโลก
บริษัทผลิตเบียร์จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มบริษัท Crust Group ผู้พัฒนาอาหารและเครื่องดื่มเพื่อความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้นำเทคโนโลยีผสานกับความรู้และความเชี่ยวชาญในการเปิดบริษัทผลิตเบียร์ของตน แปรรูปขนมปังเหลือทิ้งเป็นเบียร์ส่งออก ที่สร้างมูลค่าทางรายได้และมูลค่าทางจิตใจให้กับบริษัทส่งตรงถึงมือผู้บริโภค
ขนมปังส่วนเกิน สู่เบียร์ส่งออก
จุดเริ่มต้นมาจาก ทราวิน ซิงห์ (Travin Singh) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Crust Group นำ “ขนมปังบาแกต” ที่หมดอายุและเหลือทิ้งจากร้านเบเกอรี่ Tiong Bahru ที่มีหลายสาขาในสิงคโปร์ มาแปรรูปเป็นเบียร์
โดยซิงห์ มีเป้าหมายว่า โซลูชันการผลิตเบียร์ของเขาจะช่วยลดขยะอาหารทั่วโลกได้ 1% ภายในปี 2030 ซึ่งเบียร์จากขนมปังของเขามีราคาระหว่าง 6 - 8.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อขวด (ประมาณ 150 - 190 บาท) เป็นราคาใกล้เคียงกับคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ยี่ห้ออื่นในสิงคโปร์
หลังจากนั้นก็ถ่ายทอดนวัตกรรมดังกล่าวให้กับบริษัทลูกอย่าง Crust Japan ทางฝั่งญี่ปุ่นนำขนมปังส่วนเกินและกำลังจะถูกนำไปทิ้งจากร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ประเภทอื่น ๆ ที่มีความหอมละมุน มาผสมกับน้ำแร่จากเทือกเขาญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Crust Pilsner และมีการผสมวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น ข้าว ชา กาแฟ ผลไม้และผัก
นอกจากนี้ Crust ไม่ได้เป็นบริษัทที่ผลิตแค่เบียร์เท่านั้น แต่ยังมีเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์อีกหลายประเภท ที่เน้นเรื่องการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม เพราะถือเป็นอุดมการณ์อันแน่วแน่ของบริษัท ซึ่งผลตอบรับของเบียร์จากขนมปังเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย
เนื่องจากมีรสชาติกลมกล่ม ราคาอยู่ในเกณฑ์พอเหมาะพอควร และยังเป็นเบียร์ที่ใส่ใจแวดล้อม ตอบโจทย์กับผู้บริโภคในปัจจุบันที่มองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก
การจัดการขยะแบบยั่งยืนในสิงคโปร์
อานันท์ สุนดาเรียน (Anand Sundaresan) รองประธานฝ่ายโภชนาการและสุขภาพ ดีเอสเอ็ม (DSM) กล่าวว่า ขยะอาหารเป็นปัญหาในมุมมืด เนื่องจากผู้คนไม่ทราบว่า อุตสาหกรรมหลาย ๆ แห่ง ทิ้งขยะปริมาณเท่าไร ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว เพราะขยะที่อยู่ในหลุมจะสร้างก๊าซมีเทน (Methane) ที่ร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนถึง 21 เท่า
Crust เป็นหนึ่งในองค์กรช่วยแก้ไขปัญหาขยะอาหารในสิงคโปร์ ทว่าก็ยังมีภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจเรื่องการลดอาหารขยะ จึงเกิดการรวมตัวในชุมชนริเริ่มโครงการรณรงค์ รวมถึงก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม เพื่อลดขยะอาหารในสิงคโปร์ เช่น
- Food from the Heart องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ก่อตั้งเมื่อปี 2546 ริ่เริ่มโครงการ ‘Clean Plate’ ในโรงเรียนเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของขยะอาหาร โดย Clean Plate Ambassadors จะไปเยี่ยมโรงเรียนเพื่อแบ่งปันข่าวสารและปลูกฝังนิสัยการลด/ป้องกันการเกิดขยะอาหาร
- SG Food Rescue การรวมตัวกันของผู้ที่ส่งเสริมการลดขยะอาหารในสิงคโปร์ โดยจัดสรรอาหารแก่ผู้ที่เต็มใจจะบริโภค ก่อนที่จะกลายเป็นขยะ
- Foodprints @ South West ริเริ่มโดยสภาพัฒนาชุมชนตะวันตกเฉียงใต้ (South West Community Development Council) โดยจะมอบรางวัลให้องค์กร/หน่วยงานเขตตะวันตกเฉียงใต้ที่ดำเนินการลดปริมาณขยะอาหาร เช่น การออกแบบและติดโปสเตอร์การลดขยะอาหารรอบโรงเรียน และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงอาหารเกี่ยวกับวิธีจัดการและจัดเก็บอาหารที่ดี
- Community fridges โครงการตู้เย็นชุมชนเขต Queenstown Yishun และ Tampines โดยรณรงค์ให้ผู้พักอาศัยในเขตดังกล่าวบริจาคอาหารที่ไม่ต้องการแล้วแต่ยังบริโภคได้แทนการทิ้ง
- Foodscape Collective กลุ่มผู้สนใจการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น เช่น การจัดสรรอาหารส่วนเกินที่ยังไม่หมดอายุ และการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารในครัว
- Treatsure แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือแรกของสิงคโปร์ที่จัดสรรอาหารส่วนเกินจากธุรกิจและโรงแรมแก่ผู้บริโภคที่สนใจ เพื่อลดการเกิดขยะอาหาร
- TreeDots แพลตฟอร์มออนไลน์หรือ marketplace ที่จัดจำหน่ายสินค้าคงเหลือไปยังผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2560 TreeDots ช่วยลดการเกิดขยะอาหารถึงประมาณ 2,300 ตัน หรือเทียบเท่ากับอาหาร 23 ล้านมื้อ และเมื่อปี 2561 ได้รับเงินสนับสนุนสาขา Business Transformation and Improvement Grant (BTI Grant) จากมูลนิธิ DBS เพื่อพัฒนาธุรกิจด้วย
- UglyFood กิจการด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสังคมที่พยายามลดขยะอาหารอันเป็นผลมาจากการคัดเลือกรูปลักษณ์อาหาร และพยายามเปลี่ยนความเชื่อเรื่องการเลือกซื้ออาหารจากรูปลักษณ์
- Good for Food ธุรกิจสตาร์ตอัปที่ผลักดันให้โรงแรมและครัวเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อลดขยะอาหาร ต้นทุน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สิงคโปร์ยังคงเป็นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรื่องการนำเทคโนโลยีเพื่อการจัดการที่ยั่งยืน สิงคโปร์จะกลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก
ขณะที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังจะกลายเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ผู้คนหลายพันล้านคนมีส่วนได้ส่วนเสียในการบรรลุความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อ้างอิงข้อมูลจาก: channelnewsasia thaibizsingapore Crust