กฟผ.แจงแบกหนี้แสนล้าน สาเหตุลดค่าไฟฟ้าตามข้อเรียกร้องเอกชนไม่ได้

กฟผ.แจงแบกหนี้แสนล้าน สาเหตุลดค่าไฟฟ้าตามข้อเรียกร้องเอกชนไม่ได้

ไม่สามารถลดลงตามข้อเสนอเอกชนที่เฉลี่ยเป็น 4.25 บาทต่อหน่วยโดยการยืดหนี้จาก 5 เดือนเป็น 6 เดือนได้เหตุต้องทยอยใช้หนี้คืน 1.1 แสนล้านบาท ให้จบ เม.ย. 2568 เพื่อจ่ายดอกเบี้ย และคืนเงินต้นยอดแรกปี 2567 ชี้ยืดต่อกระทบเงินสด เครดิตเรตติ้งฉุดลงทุน กฟผ.ต้นทุนแพง

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดก.ย.- ธ.ค. 66 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้เห็นชอบเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.- ส.ค.2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้เรียกร้องให้ลดค่าไฟเหลือเป็น 4.25 บาทต่อหน่วยด้วยแนวทางสำคัญคือ การยืดหนี้ กฟผ.110,000 ล้านบาท ออกไปจาก 5 งวดไปเป็น 6 งวดหรือสิ้นสุดภายในเม.ย.2568 นั้นยอมรับว่าไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากจะกระทบต่อกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของ กฟผ.และกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ(เครดิต เรตติ้ง)ของ กฟผ.ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตสูงขึ้น

 ปัจจุบัน กฟผ.ได้บริหารกระแสเงินสด และสภาพคล่องทางการเงินดังกล่าวโดย 1. ใช้เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง รวม 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เดือนพฤษภาคม 2565 จำนวน 25,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อบริหารภาระค่า Ft (กระทรวงการคลังค้ำประกัน) จำนวน 85,000 ล้านบาท 2.ใช้วงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) สูงสุด จำนวน 30,000 ล้านบาท และ 3.เลื่อนจ่ายเงินนำส่งรัฐ  โดย กฟผ. มีภาระในการคืนเงินต้นเงินกู้เสริมสภาพคล่องซึ่งจะเริ่มมีการชำระยอดแรกในปี 2567  แต่ปัจจุบัน กฟผ. ได้เริ่มชำระดอกเบี้ยแล้ว  ดังนั้น หาก กฟผ. ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดจนต้องมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงิน และอันดับความน่าเชื่อถือ(เครดิต เรตติ้ง) ของ กฟผ.

 “ กฟผ.เองได้แบกภาระค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนเพื่อลดภาระค่าครองชีพในช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่องเพราะค่าเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ กฟผ.ต้องแบกภาระรวมราว 1.5 แสนล้านบาท ในช่วงปลายปี 2565 แต่ได้แบ่งการชำระหนี้คืนออกเป็น 6 งวด(2 ปี) แต่ต่อมารัฐได้ขอให้ขยายเวลาเป็น 7 งวดเพื่อช่วยประชาชน  และขณะนี้ได้ทยอยใช้หนี้ไปแล้ว 2 งวดจึงเหลือ 5 งวดเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือนเมษายน 2568 จึงต้องขอให้เป็นไปตามนี้ ถ้าขยายไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด เรตติ้งที่ไม่ดีทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้สูงส่งผลให้การลงทุนขยายระบบส่ง โรงไฟฟ้าของ กฟผ.ที่มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และอาจกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวได้”        

อย่างไรก็ตาม กรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้หาเสียงถึงแนวทางการลดค่าไฟฟ้าซึ่งอาจกระทบต่อแนวทางการชำระคืนหนี้ กฟผ.หรือไม่นั้น  ค่าไฟฟ้าจำเป็นต้องสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิง และยังต้องคำนึงถึงการชำระคืนหนี้ค้างจ่าย กฟผ.ควบคู่ไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้าโดยไม่มีการนำรายได้มาชำระหนี้คืน กฟผ.ก็จะได้รับผลกระทบดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นเรื่องนี้จำเป็นต้องหารือในรายละเอียด

โดยโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบ 2.20 บาทต่อหน่วยและมีการเรียกร้องให้ใช้มาตรการ การรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering) ระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งจะมีราคาเท่าราคาขายปลีกปัจจุบันทำให้ต้นทุนค่าไฟรวมสูงขึ้นไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

“คนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไฟเหลือใช้รัฐให้ขายเข้าระบบตามศักยภาพสายส่งได้ 2.20 บาทต่อหน่วย แต่จะขายเพิ่ม และเพิ่มราคาขายไฟให้เท่ากับราคาขายปลีกที่ถึงมือประชาชนที่เฉลี่ยขณะนี้ราว 4.45 บาทต่อหน่วยซึ่งกลางวันคนกลุ่มนี้ใช้ไฟถูกแต่กลางคืนไม่มีแสงแดดไปใช้ไฟในระบบที่ กฟผ.ต้องลงทุนสายส่งซื้อไฟจากเชื้อเพลิงอื่นที่ต้นทุนแพงมาสำรองให้จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ติดโซลาร์โดยเฉพาะคนจนที่ต้องมาร่วมแบกรับค่าไฟแพง และโครงสร้างเหล่านี้ที่ลงทุนก็ใช้ไม่คุ้มค่าซึ่งหากมีการรับซื้อไฟตามช่วงเวลาของวันหรือNet Billing จึงมีความเป็นไปได้มากกว่า”

 

ปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality)โดยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เพื่อลดโลกร้อนทำให้พลังงานกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้นที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการสนับสนุนในช่วงแรกทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และลม จนเริ่มมีต้นทุนที่ต่ำสู้กับฟอสซิลได้โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์