‘แม่ฟ้าหลวง’ ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต 1.5 แสนไร่ สร้างรายได้ชุมชน 500 ล้าน
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือภาครัฐ ชุมชน และ 14 เอกชนชั้นนำ ร่วมมือขยายผลโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน “ดิศปนัดดา” เผยปี 67 เพิ่มพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตจาก 1 แสนไร่ เป็น 1.5 แสนไร่ ใน 9 จังหวัด ปี เพิ่มรายได้ให้ชุมชน 500 ล้าน ตั้งเป้า 1 ล้านตัน
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกป่า ปลูกคน” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้เริ่มขึ้นครั้งแรงในพื้นที่ดอยตุง จ.เชียงรายจนประสบผลสำเร็จ และขยายผลการปลูกป่า และให้ผ่าอยู่กับคนเพื่อดูแลป่า โดยพัฒนาให้คนมีความรูและรายได้ที่เพียงพออย่างยั่งยืน ซึ่งพิสูจน์ความสำเร็จมาแล้วเกือบสี่สิบปี จึงนำประสบการณ์มาขยายผลเพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า พร้อมกับร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยและของโลกด้วย
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน และชุมชนในการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่ามาตั้งแต่ปี 2563 โดยงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนนำไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต และจัดตั้งกองทุนสองประเภท คือ กองทุนดูแลป่า และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรายได้แก่ชุมชน
โดยตลอดเวลาการดำเนินงานช่วงพัฒนาระบบ (2563-2565) มีพื้นที่ปฏิบัติการใน 52 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 51,354 ไร่ใน 7 จังหวัด และมีชุมชนเข้าร่วม 12,361 ครัวเรือน จนปัจจุบันเกิดความชำนาญจนนำมาสู่การขยายพื้นที่อย่างจริงจัง
สำหรับงานของปี 2566 นี้ โครงการฯ ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนใน 77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 143,496 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร โดยจะเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 100,000 ไร่ มีผู้เข้าร่วม 12,721 ครัวเรือน โดยมีภาคเอกชนชั้นนำมาร่วมสนับสนุนการพัฒนา 14 ราย
การขยายงานในครั้งนี้เมื่อรวมกับระยะพัฒนาระบบ ทำให้โครงการฯ มีความร่วมมือในป่าชุมชนรวม 129 แห่งใน 9 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ สามารถป้อนคาร์บอนได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า 25,082 ครัวเรือน
ซึ่งการดำเนินงานในแต่ละป่าชุมชนครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี คาดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ทางตรงด้านรายได้ชุมชนรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 500-630 ล้านบาท
“โครงการนี้นับเป็นนวัตกรรมที่มูลนิธิฯ และภาคีมีความภาคภูมิใจ เพราะเราสามารถสร้างประโยชน์ได้ทุกมิติ ชุมชนที่ดูแลป่ามีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยผลิตคาร์บอนเครดิตมาช่วยให้ประเทศไทยบรรลุข้อตกลงลดโลกร้อน และมีป่าสมบูรณ์ขึ้น เฉพาะในช่วงฤดูไฟป่าที่ผ่านมา เราพบว่าพื้นที่โครงการมีไฟป่าลดลงประมาณ 6,500 ไร่ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 191 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากชุมชนในโครงการให้การดูแลป่าอย่างจริงจัง”
ทั้งนี้ในปี 2567 โครงการฯ มีเป้าหมายจะขยายงานครอบคลุมพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตอีก 150,000 ไร่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันภายในปี 2570
นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมป่าไม้ได้ร่วมดำเนินโครงการกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งแต่ ปี 2531 ในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 350,000 ไร่ และตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน กรมป่าไม้ร่วมกับชุมชนดำเนินการขึ้นทะเบียน T-VER ภาคป่าไม้ จำนวน 40 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 18,000 ตันต่อปี
จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติป่าชุมชน 2562 ที่เปิดให้ชุมชนทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน "โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 และร่วมมือขยายงานมาอย่างต่อเนื่อง
โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) จากแนวคิดว่าคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่จะกระตุ้นให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้ลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าและลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ซึ่งเมื่อชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีก็จะบรรเทาปัญหาการว่างงาน หนี้ครัวเรือนและในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย
สำหรับองค์กรภาคเอกชนที่เห็นถึงความสำคัญและเข้าร่วมในโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะได้แก่
1.ระยะพัฒนาระบบ 2563 – 2565 ได้แก่
- บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน)
- บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ส่วนระยะขยายผลหลังปี 2566 ได้แก่
- บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน)
- บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารออมสิน
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
- บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด