หนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง เป็น HUB เครื่องสำอางและสมุนไพร
เลขานุการ รมว.อว.หนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง เป็น HUB เครื่องสำอางและสมุนไพร แข่งกับเกาหลีและญี่ปุ่น ชี้มีความโดดเด่น ขณะที่อธิการบดี มฟล. ย้ำผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย จับต้องได้ มีความเป็นสากล ไม่ใช่แค่สินค้าโอท็อป
วันที่ 24 พ.ย. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการ อว. และ น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัด อว. ลงพื้นที่ติดความคืบหน้าการการดำเนินของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. กล่าวถึงการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ มฟล. ว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มฟล. เน้นในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาด้านเครื่องสำอางและสมุนไพร ซึ่งเป็นวาระหลักของประเทศไทย ทั้งการผลิตและการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การยอมรับที่แพร่หลาย จับต้องได้ และมีความเป็นสากล เครื่องสำอางที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มฟล.พัฒนาขึ้น เน้นในเรื่องของ BCG โดยมีคณะวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ซึ่งเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชียที่จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาและผู้ประกอบการ โดยนำพืชพันธุ์ที่เป็นพื้นฐานหลักมาทำเป็นเครื่องสำอาง ซึ่งจะไม่ใช่สินค้าโอท็อปทั่วไปแต่เป็นสินค้าโอท็อปที่มีคุณภาพสูง ขณะที่เรื่องสมุนไพรก็ได้มีการคัดสรรสมุนไพรที่มีคุณภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจนถึงการผลิต เพื่อนำมาทำเป็นยาและเครื่องสำอาง เพราะ มฟล. มุ่งมั่นที่จะเป็น HUB หรือศูนย์กลางด้านเครื่องสำอางที่มีคุณภาพแทนประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ตนคิดว่าอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ทุกแห่งควรมีความโดดเด่นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ทำแค่ให้ มฟล. พัฒนา แต่จะทำให้ทุกมหาวิทยาลัยโตตามกัน
ด้าน ดร.ดนุช กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มฟล. วิจัยและพัฒนาด้านเครื่องสำอางและสมุนไพร เพราะมีความโดดเด่น และนี่คือสิ่งที่ทำให้ตนคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่มีวันตาย บทบาทของมหาวิทยาลัยก็คือการสร้างผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นทั้งนักศึกษา ทั้งบัณฑิต รวมทั้งผู้ที่ไม่จบปริญญาก็สามารถมาใช้องค์ความรู้ด้านวิชาการที่อุทยานวิทยาศาสตร์ได้ ที่ผ่านมาตนลงพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จนถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ มฟล. เพื่อต้องการสื่อสารและส่งข่าวไปให้ผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการได้เข้ามาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุทยานวิทยาศาสตร์ทุกแห่ง ทุกมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด