‘ประกัน - สินเชื่อ’โตรับกระแส ‘รถอีวี’ คปภ.เร่งจัดทำ“กรมธรรม์ - เบี้ย”
จากกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้น อ้างอิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ปี 2565 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 6 เท่า และถือเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด
ทางด้านการรับประกันภัยรถยนต์ EV ล่าสุด ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย อยู่ระหว่างการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยและกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย สำหรับรถยนต์ EV คาดว่าน่าจะเสร็จภายในเดือนส.ค.นี้ เพื่อเร่งหาข้อยุติแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV แพงเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย
ปัจจุบันเป็นเจ้าตลาดประกันภัยรถยนต์ EV สุรชัย ไตรวิทยางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ (เดือนม.ค.- มิ.ย.2566) บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV ประเภท 1 มูลค่า 192 ล้านบาท จำนวน 8,714 คัน ใกล้เคียงทั้งปี 2565 มูลค่า 121 ล้านบาท จำนวน 5,249 คัน
ด้าน อัตราการเกิดเหตุ (Loss Ratio) จะกลับขึ้นมามากเป็นปกติเหมือนก่อนโควิด คือ 65-70% รูปแบบความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มี 5 รูปแบบ ดังนี้
1.“ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย” เนื่องจากมีการปรับความคุ้มครอง รวมกับการใช้รถที่เพิ่มขึ้น และค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น
2.“ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก” ค่าสินไหมทดแทนจะเพิ่มขึ้น ตามการใช้รถที่เพิ่มขึ้น
3. “ความเสียหายต่อตัวรถ ส่วนของตัวถัง และอะไหล่ 13 ชิ้นหลัก เพิ่มขึ้นจากเดิม
4. “เพิ่มเติมความเสียหายต่อแบตเตอรี่” มีราคาประมาณ 50% ของราคารถ
5. “ค่าแรงเพิ่มขึ้น” เนื่องจากต้องใช้ช่างผู้มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีที่สูงกว่า ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว ค่าสินไหมทดแทนของรถยนต์ EV จะเพิ่มขึ้นจากปกติราว 15-20 %
ส่วนการคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV ของบริษัท จะใช้การคำนวณเป็นไปตามความเสี่ยงภัยที่แท้จริงซึ่ง มีเพิ่มเติมความเสียหายต่อแบตเตอรี่ซึ่งมีราคาประมาณ 50% ของราคารถ และทางด้านสถาบันการเงินยังคงให้สินเชื่อรถยนต์ EV ตามปกติ
ด้าน ปรมาศิริ มโนลม้าย รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจประกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด กล่าวว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ EV ใหม่ในปีนี้เติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับภาพรวมจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจในไตรมาสแรกปีนี้ เติบโตเพียงแค่ 3.3%
สำหรับอนาคตของเบี้ยประกันรถยนต์ EV จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ทำการสำรวจพบว่า 65% ของกลุ่มตัวอย่างสนใจ และสนใจมากในการซื้อรถยนต์ EV เป็นคันถัดไป และผลสำรวจกับผู้ใช้รถยนต์ EV พบว่า 48.6% พอใจกับค่าใช้จ่ายด้านการเติมพลังงานที่ลดลง 44.8% พอใจกับค่าใช้จ่ายด้านบำรุงรักษาที่ลดลง 48% พอใจกับสมรรถนะการขับขี่ที่เพิ่มขึ้น
จากผลสำรวจนี้ทำให้ บริษัทไทยพาณิชย์ โพรเทค มั่นใจในการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเบี้ยประกันรถยนต์ EV จะเพิ่มมากกว่า 300% ต่อปีในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า
“อย่างไรก็ตามเนื่องจากรถยนต์ EV ใหม่ป้ายแดงส่วนใหญ่ได้รับความคุ้มครองประกันรถยนต์ในปีแรกจาก ดีลเลอร์รถยนต์ ซึ่งจะเป็นลักษณะแคมเปญร่วมกันระหว่างค่ายรถยนต์ และบริษัทประกันภัย เราคาดว่า ในส่วนของประกันภัยรถยนต์ EV ผ่านช่องทางนายหน้า (โบรกเกอร์ประกันภัย) จะเริ่มมีสัดส่วนรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้นในปีถัดๆ ไป”
ด้านหลักเกณฑ์การคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV ในปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป ที่ใช้ ยี่ห้อ รุ่น ปีจดทะเบียน จะมีเปลี่ยนบ้างจากขนาด cc เครื่องยนต์ มาเป็นขนาดความจุแบตเตอรี่ (KW)
และที่สำคัญคือ ข้อมูลสถิติการเกิดเหตุ ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันข้อมูลสถิติการเกิดเหตุ และค่าอะไหล่ ยังมีน้อยมาก จึงส่งผลให้ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV สูงกว่ารถที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า ด้วยแนวโน้มความนิยมรถยนต์ EV ที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้บริษัทประกันมีข้อมูลเพียงพอต่อการนำไปคำนวณเบี้ยประกันภัย ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลทำให้ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV ในอนาคตอาจจะถูกลงกว่าปัจจุบัน
ส่วนการเคลมสินไหมทดแทนของรถยนต์ EV พบว่า พฤติกรรมการเคลมส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากรถที่ใช้น้ำมัน แต่มีสิ่งที่เพิ่มมา คือ การเคลมแบตเตอรี่ EV เนื่องจากแบตเตอรี่ EV ส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ท้องรถ ซึ่งหากเกิดการครูดใต้ท้องรถยนต์ไม่ว่าจะหนักหรือเบา จะส่งผลทำให้แบตเตอรี่ EV เกิดความเสียหาย และหากความเสียหายถึงขั้นไม่สามารถซ่อมได้ การเปลี่ยนแบตเตอรี่ EV ใหม่จะมีมูลค่าสูงมาก ถือเป็นเหตุให้บริษัทประกันบางบริษัทออกเงื่อนไขไม่คุ้มครองแบตเตอรี่ EV หรือคุ้มครองแบตเตอรี่ EV ด้วยการจำกัดวงเงินความคุ้มครอง
กรณีนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อประกันรถยนต์ EV ซึ่งทาง ไทยพาณิชย์ โพรเทค ในสถานะนายหน้าได้ช่วยให้คำแนะนำพร้อมให้รายละเอียดที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกประกันที่เหมาะกับตัวเอง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์