GPSC โชว์พลังคนรุ่นใหม่ สานต่ออนาคตพลังงานไทย
พลังงานกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ทั้งจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และตัวเร่งของการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่ทำให้โหมดของพลังงานทั่วโลก มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่มีผลต่อภาวะโลกร้อน
การขับเคลื่อนพลังงานไปสู่อนาคต จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หัวใจสำคัญอยู่ที่ 'บุคลากร' ที่ต้องมีศักยภาพ มีความสามารถเพียงพอในการรับมือกับความซับซ้อนของธุรกิจพลังงานที่อยู่ระหว่างรอยต่อจากพลังงานยุคดั้งเดิมไปสู่ยุคใหม่ เฉกเช่นองค์กรในขณะนี้ที่ต้องบริหารระหว่างคนรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าให้ได้อย่างลงตัว เพื่อให้องค์กรนั้นก้าวไปข้างหน้าท่ามกลางกระแสดังกล่าว
โครงการ SPARK Accelerator Management Trainee Program ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. จึงเข้ามาตอบโจทย์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานแห่งอนาคต ด้วยการเฟ้นหาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ผ่านการเปิดรับสมัครพนักงานภายใน และภายนอกองค์กร เข้าคัดเลือกเพื่อร่วมโครงการฯ เรียนรู้การดำเนินธุรกิจของบริษัท ผ่านการหมุนเวียนงาน (Job Rotation) การสอนงาน (Mentoring) จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายงาน การฝึกอบรมในหลักสูตรการพัฒนาผู้นำ (Leadership) และหลักสูตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (Business)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เทคนิค 'HR Supporter GPSC' ยืดหยุ่น เปิดรับ วางแผน ดูแลพัฒนาเป็นหนึ่งเดียว
'GPSC' ลุย 'อินเดีย' ปูทางเป้าหมาย2030 เพิ่มสัดส่วนผลิตพลังงานหมุนเวียน
พัฒนาคนรุ่นใหม่ ก้าวสู่เส้นทางผู้บริหาร
“ผมเป็น 1 ใน 13 คนที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในรุ่นแรกที่เป็นโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นผู้บริหาร เพื่อการจัดการด้านพลังงานแห่งอนาคต จากอดีตกับสายงานด้าน Engineering ผมได้ไปศึกษาต่อด้านไฟแนนซ์ และกลับมาเริ่มงานกับ GPSC จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้จัดการการเงิน หรือ Finance Manager ของ AEPL”
ณรงค์ชัย กือเย็น ในวัย 29 ปี ผู้จัดการการเงิน บริษัท Avaada Energy Private Limited (AEPL) หนึ่งในบริษัทในกลุ่มอวาด้า ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย กล่าวถึงเส้นทางการทำงานของเขา
ณรงค์ชัย เล่าต่อว่า การมาทำงานที่ AEPL ที่อินเดียถือเป็นการได้รับความไว้วางใจจากบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในการคัดเลือกเข้ามาร่วมการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ หลังจากที่บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น 100% ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท อวาด้า เวนเจอร์ ไพรเวท จำกัด (Avaada Venture Private Limited) หรือ AVPL เพื่อลงทุนใน AEPL ในสัดส่วน 42.93%
เป้าหมายการลงทุนตาม 4 กลยุทธ์การเติบโตของ GPSC
โดยดำรงตำแหน่งผู้จัดการการเงิน ซึ่งนับเป็นความท้าทายในการก้าวไปสู่เป้าหมายการลงทุนของ GPSC ตาม 4 กลยุทธ์การเติบโตขององค์กร ซึ่งได้แก่
#S1: Strengthen and Expand the Core การสร้างความแข็งแกร่ง ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้มากขึ้น
#S2: Scale-Up Green Energy มุ่งเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 50%
#S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต
#S4: Shift to Customer-Centric Solutions บริการโซลูชัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค
“การได้รับคัดเลือกมาปฏิบัติงานในอินเดีย มีความจำเป็นอย่างมากในเรื่องการบริหารความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และการปรับตัวให้เข้ากับทีมงานในอินเดียกว่า 500 คน ผมอยู่ที่นี่มา 2 ปีกว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในการทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศทั้งที่ไทยและอินเดีย โดยเฉพาะการเป็นคนกลางในการประสานงานระหว่างสององค์กรที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างมาก และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” ณรงค์ชัยกล่าว
ณรงค์ชัย กล่าวต่อไปว่า soft skill หรือทักษะทางสังคม มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการบุคคลทั้งปัจจุบันและอนาคตของเจนเนอเรอชั่นใหม่ที่ต้องประกอบด้วย ความสามารถในการปรับตัว การสื่อสาร การบริหารเวลา การคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล ความเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และที่สำคัญคือการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ได้ไว
ดังนั้น เป้าหมายการทำงานของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงการทำงานในบริษัท หรือองค์กรที่ให้ค่าตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้บริษัทช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมด้านทักษะ สร้างคุณค่าในการทำงาน มีความยืดหยุ่น มีอิสระ และตอบโจทย์การทำงานอย่างสมดุลกับการใช้ชีวิต
เรียนรู้หน้างาน เพิ่มเติมประสบการณ์จากผู้บริหาร
ดังนั้น วันนี้เราไม่ใช่เพียงแค่พนักงานของบริษัทที่ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ให้มองว่า วันนี้เรากำลังอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นพลังงานสะอาด ที่จะมีส่วนทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ และทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น นับเป็นประโยชน์ให้กับทั้งตัวเอง สังคม และประเทศไปพร้อมๆ กัน และเขายังชี้ให้เห็นว่า การทำงานของคนรุ่นใหม่ต้องเข้าใจว่าเมื่ออายุน้อยกว่า ประสบการณ์ย่อมน้อยกว่าไปด้วย จึงจำเป็นต้องใส่พลังทุ่มเทและตั้งใจมากขึ้น รวมถึงการไปสอบถามข้อมูลกับคนที่ประสบการณ์มากกว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดกับคนรอบข้างและได้ผลรับที่ดีที่สุดออกมา
“เคล็ดลับการทำงานของผม คือการเรียนรู้จากหน้างาน และจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับผู้บริหารที่หลากหลาย ซึ่ง GPSC เป็นองค์กรที่มีทิศทางชัดเจน ทำให้เราเห็นเป้าหมายชัดว่าจะพัฒนาตนเองอย่างไร จะเดินไปทางไหน มีเป้าหมายร่วมกันทั้งองค์กร ผมถือว่าปัญหาเป็นความท้าทายสำหรับผม"ณรงค์ชัย กล่าว
ครั้งหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา supply แผงโซลาร์ทั่วโลกขาดแคลน ในขณะที่เราต้องนำเข้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถติดตั้งได้ตามกำหนดเวลาเดิม ประกอบกับค่าใช้จ่ายการขนส่งและภาษีที่กำลังปรับสูงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องหาเงินกู้ภายในเวลาอันสั้น เพื่อนำเข้าแผงโซลาร์ให้ได้เร็วและมาช่วยลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้ปรึกษากับผู้บริหารอย่างเร่งด่วน
พร้อมกับเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อขอสนับสนุนการจัดหาเงินกู้จากธนาคาร และประสานงานกับทีมที่เกี่ยวข้องที่มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน ท้ายสุดเราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทจากปัญหาดังกล่าวลงได้กว่า 8 พันล้านบาท นับเป็นความสำเร็จที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากปัญหาหน้างาน
สำหรับเป้าหมายของ GPSC ในการเข้าลงทุนใน AEPL ในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และแสวงหาโอกาสเพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานรูปแบบผสมผสานระบบกักเก็บพลังงาน ตามเป้าหมายการเติบโตของ AEPL ที่ 11 กิกะวัตต์ภายในปี 2569 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดของภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2573
รวมทั้งการลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามแผนกลยุทธ์การเติบโตของ GPSC ในการขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตภายในปี 2573 เพื่อผลักดันองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2603 และก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด หนึ่งในสามอันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงนับเป็นความท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายครั้งนี้
ดังนั้น อนาคตองค์กรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องเติมพลังของคนรุ่นใหม่เข้าไปเพิ่มขึ้น ผ่านการเพิ่มทักษะ ความสามารถ และเปิดโอกาสสร้างความท้าทาย เพราะโลกพลังงานแห่งอนาคต ต้องมุ่งสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์