‘สภาพัฒน์’ จับมือ ‘ADB’ ดัน ‘Thailand Green Incubator’

‘สภาพัฒน์’ จับมือ ‘ADB’  ดัน ‘Thailand Green Incubator’

สศช.จับมือ ADB เดินหน้าโครงการ “Thailand Green Incubator”  เคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว – ลดคาร์บอนในประเทศไทย ตอบโจทย์แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 และเป้าการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2065

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้หารือกับผู้บริหารและคณะกรรมการ (บอร์ด) ระดับสูงของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่าง ADB กับประเทศไทย รวมทั้งได้มีการเปิดตัวโครงการ "Thailand Green Incubator" ซึ่งเป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง สศช. และ ADB เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green :BCG)ของประเทศไทย

 

นอกจากนี้ได้มีการหารือกันถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13  นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ได้ไทยได้กำหนดเป้าหมายไว้และได้ประกาศในเวที COP26 ตั้งแต่ปี 2564

 

ทั้งนี้ สศช.และ ADB ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกัน โดย ADB ได้นำเสนอขั้นตอนกระบวนการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าง สศช. และ ADB ภายใต้โครงการ Thailand Green Incubator รวมถึงบทบาทที่สำคัญของ สศช. ในฐานะหน่วยงานบริหารโครงการ (Executing Agency) ร่วมกับสำนักงานผู้แทน ADB ประจำประเทศไทย เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างเป็นรูปธรรม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2566 - 2569 (สามารถขยายระยะเวลาต่อได้ตามความเหมาะสม)

‘สภาพัฒน์’ จับมือ ‘ADB’  ดัน ‘Thailand Green Incubator’

โดยภารกิจที่สำคัญภายใต้โครงการ Thailand Green Incubator คือการพัฒนาแนวทางการคัดเลือกโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาสีเขียว รวมถึงการพัฒนาสีน้ำเงิน ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการหาเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงการจากแหล่งต่าง ๆ นอกเหนือจากเงินทุนภาครัฐ

สศช. ให้ความสำคัญต่อกิจกรรมที่ ADB นำเสนอเพื่อเสริมสร้างศักยภาพภายใต้โครงการ Thailand Green Incubator ซึ่งประกอบด้วย การเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ (Capacity Building) ในด้านต่าง ๆ โดยวิทยากรจาก ADB และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น เทคโนโลยีสีเขียวและการเงินสีเขียว (Green Finance) และการเงินสีน้ำเงิน (Blue Finance)  การพัฒนาแนวทางการคัดเลือกโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาสีเขียว รวมถึงการพัฒนาสีน้ำเงิน ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการหาเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ นอกเหนือจากเงินทุนภาครัฐ

 การแบ่งปันความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) ในระดับภูมิภาคเพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาแนวนโยบาย มาตรการ และกฎระเบียบ ในประเด็นด้านการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม และ การศึกษาดูงาน (Study Tour) ณ สำนักงานใหญ่ ADB กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญของ ADB ในแต่ละสาขาด้วย

 

นายดนุชากล่าวต่อด้วยว่าได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิชาการร่วมกันจำนวน 8 ด้านระหว่าง สศช.และ ADB  ได้แก่  1.ผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย  2.การปรับโครงสร้างการผลิตของ SMEs ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3.การพัฒนาตัวชี้วัดที่เหมาะสมและแม่นยำเพื่อใช้ในการประเมินผลตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง

4.การพัฒนาและเสริมสร้างงานสีเขียว (Green Jobs) 5.การจัดการด้านการเข้าถึงและอัตราค่าบริการที่เหมาะสมต่อผู้รับบริการทุกกลุ่ม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งสู่สังคมสีเขียว

6.การบริหารจัดการเมืองฟองน้ำ และการพัฒนาเมืองต้นแบบที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 7.การออกแบบกลไกการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นกลายเป็นผู้ให้บริการชดเชยคาร์บอน และ 8.การประเมินผลกระทบโครงการภาครัฐ คือโครงการ Zoning by Agri-Map ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์