SUSTAIN OR DIE สร้างความยั่งยืน หรือ สู่ความล่มสลาย

SUSTAIN OR DIE  สร้างความยั่งยืน หรือ สู่ความล่มสลาย

“คนรุ่นใหม่” นับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในด้านต่างๆ นับวันเราจะยิ่งเห็นบทบาทของพวกเขามากขึ้นทั้งด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม เขามีความสนใจและอยากมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืน (sustainability) มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ

การรับฟังมุมมองจากคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสูงในการซื้อหาสินค้าและบริการต่างๆ มาใช้มากกว่าคนรุ่นเก่า ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย อุปกรณ์ของใช้ภายในบ้าน ของตกแต่งบ้าน เครื่องไฟฟ้า รถยนต์ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องสำอาง และอื่นๆอีกมากมาย

    มีผลงานวิจัยระดับโลกในปี พ.ศ.2565 ที่สุ่มตัวอย่างจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ใน 13 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยยืนยันว่า พวกเขาไม่เพียงเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อให้โลกดีขึ้น แต่ยังมีความเชื่อมั่นด้วยว่า ตนเองมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้สนับสนุน และเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

 สำหรับคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวนสูงถึง 65% ที่เห็นว่า ความยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญ “ที่สุด” ของโลกทุกวันนี้ และมี 62% ที่ยืนยันว่า “เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเอง” อย่างจริงจังเพื่อโลกที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 57%  

ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยรุ่นใหม่ 82% ได้แสดงเจตจำนงค์เลือกซื้อแบรนด์ที่นำเสนอเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 54%

มีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนว่า มีสัดส่วนและจำนวนคนแบบนี้เพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี พวกเขามองหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนมากขึ้นตลอดเวลา

 ยุ้ยกล้าพูดเลยว่า หากผู้ประกอบการเองไม่หันมามองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในประเด็นนี้ แล้วไม่หันมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนในธุรกิจที่ทำอยู่นั้น ก็จะเหลือเวลาอีกไม่มากนัก อาณาจักรธุรกิจของคุณจะก้าวสู่ความล่มสลายแน่นอน

ลองนึกถึงตัวอย่างง่ายๆที่ใกล้ตัว เช่น ผักผลไม้ที่ไม่ออร์แกนิก บ้านที่ไม่ประหยัดพลังงาน เครื่องยนต์ที่สร้างมลพิษสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟ บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ย่อยสลาย

สิ่งเหล่านี้กำลังถูกรังเกียจเดียดฉันท์มากขึ้นและขยายวงกว้างมากขึ้นทุกวัน และแม้แต่ภาครัฐเอง หากไม่จริงจังในเรื่องเหล่านี้ คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือ ผู้มีตำแหน่งสูงขององค์กรภาครัฐคนนั้นก็จะไม่ได้รับความนิยมชมชอบ ไม่ได้รับการยอมรับหรือยกย่องเลยทีเดียว 

      หากถามยุ้ยว่า ภารกิจเรื่องความยั่งยืนนั้นมีอะไรบ้าง ยุ้ยขออ้างอิงจากผลสรุปเป้าหมายของการพัฒนาความยั่งยืนของโลก (The Global Goals For Sustainable Development) ที่สรุปไว้ทั้งหมด 17 ประเด็น ตามแผนภูมินี้

SUSTAIN OR DIE  สร้างความยั่งยืน หรือ สู่ความล่มสลาย

ยุ้ยขอบอกตรงนี้เลยว่า ตัวเรา หรือองค์กรของเรา หรือไม่ว่าใครๆ ก็ไม่สามารถทำภารกิจเพื่อความยั่งยืนได้ครบทั้ง 17 ประเด็นนี้หรอกค่ะ เราต้องเลือกทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรา และเลือกทำในส่วนที่เราทำได้ ในลักษณะช่วยกันคนละไม้คนละมือก็พอแล้ว

        และแน่นอน... ในโลกความเป็นจริงของธุรกิจ เมื่อมีความพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีประเด็นความยั่งยืนเข้ามาเป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น ความรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อม การลดมลพิษ ลดและเลิกใช้พลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานสกปรก การเข้าสนับสนุนชุมชนเพื่อลดช่องว่าง ฯลฯ ก็มักจะเกิดต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ไม่สามารถผลักภาระราคาที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น... หากขึ้นราคาสินค้าหรือบริการท่ามกลางการแข่งขันที่สูงในตลาด ก็อาจจะเสียเปรียบคู่แข่งขันที่ยังไม่ลงทุนในเรื่องเหล่านี้อีกด้วย เราต้องหาวิธีการอันชาญฉลาดเพื่อลดต้นทุนด้านอื่นๆ เพื่อโยกย้ายเงินมาทำเรื่องความยั่งยืนให้จงได้ 

        หากไม่หันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืน อันเป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ ลูกค้ารุ่นใหม่ ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็เตรียมเดินทางเข้าสู่ความล่มสลายกันได้เลยค่ะ.